เชื่อกันว่า มนุษย์นี่เองเป็นสัตว์สังคมที่รู้จักการให้ความร่วมมือช่วยเหลือกันมากที่สุด และเป็นการให้ความร่วมมือกันและกันด้วยความคิดอ่าน มากกว่าสัตว์อื่นใดในโลกนี้ และนี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้มนุษย์พันธุ์ homo sapien ยังคงเผ่าพันธุ์สืบต่อมาได้จนทุกวันนี้
เราอาจเข้าใจว่า การขอความร่วมมือ หรือ การร่วมมือร่วมใจของคนเรานั้นมาจากสำนึกในหน้าที่ ความตั้งใจจริงที่ต้องการทำเพื่อส่วนรวม จนไปถึงอุดมการณ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม ศาสนา หรือการเมือง
แต่นักจิตวิทยาบอกว่า นั่นเป็นเพียงสาเหตุพื้นฐาน ยังมีสาเหตุที่ซับซ้อนกว่านั้น
เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์อีกเช่นกัน ที่การให้ความร่วมมือเกิดขึ้นได้ และยังจะคงอยู่ได้ ก็ต่อเมื่อต่างคนต่างเห็นว่า คนอื่นยังให้ความร่วมมืออยู่
โดยแต่ละต่างคอยจับตามองคนอื่นอยู่ตลอดเวลาว่า ยังจะเสียสละช่วยกันอยู่หรือไม่ ซึ่งสภาพนี้จะยังอยู่ในความสมดุลหรือ equilibrium ไม่มีใครคิดจะเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครคิดจะเลิกเสียสละ ถึงแม้ในใจบางคนเกิดความวอกแวก อยากจะเลิกทำก็ตาม
เงื่อนไขนี้ทำให้การให้ความร่วมมือเป็นเรื่องที่เปราะบาง นั่นคือ “ฉันจะทำ ก็ต่อเมื่อคนอื่นทำ” และเมื่อทุกคนต่างคิดเหมือนกันเช่นนี้ จึงเกิดการกระทำอย่างพร้อมเพรียงกันขึ้นมาได้ และการให้ความร่วมมือดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆ
เรื่องนี้ งานศึกษาระดับคลาสสิคของ Robert Axelrod “The Evolution of Cooperation” ที่ทำกับ William Hamilton ในปี 1981 บอกไว้ว่า การให้ความร่วมมือไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ความเห็นแก่ส่วนรวม หรือ altruism เท่ากับ การพยายามทำดีตอบ หรือ reciprocity นั่นคือ เห็นคนอื่นทำดีให้ โดยให้ความร่วมมือ ก็ต้องการทำดีตอบแทนโดยทำดีแบบเดียวกันบ้าง
แน่นอนว่า การให้ความร่วมมือใดๆย่อมมีเวลาจบลง ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้ว และทุกคนพร้อมใจกันยุติความร่วมมือกันโดยปริยาย หรือ เกิดมีคนใดคนหนึ่ง เริ่มแสดงอาการ “ไม่เอาด้วย” ทำให้เกิดรอยร้าวขึ้นจนความร่วมมือทั้งสังคมพังทลายในที่สุด
การบริหารจัดการความ “ไม่เอาด้วย” ที่เกิดขึ้น และจุดชนวนการเลิกให้ความร่วมมือ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง หากต้องการให้ความร่วมมือดำเนินต่อไปจนนั้นบรรลุผล อย่างเช่น เรื่อง lockdown และ social distancing ในสถานการณ์โควิด-19 อย่างทุกวันนี้
ประเด็นแรกจึงอยู่ที่ว่า จะต้องมีคนไม่เอาด้วยสักกี่คน เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ จึงจะทำให้คนที่เหลือบอกว่า “งั้นฉันก็ไม่เอาเหมือนกัน” และวงแตก
มีงานศึกษาของ Stefan Volk และ Christian Thoni ที่ University of Lausanne จากตัวอย่างคนจำนวน 7,000 คนในเหตุการณ์ 17 กรณี พบว่า มีแค่คนกลุ่มน้อยเพียง 3% เท่านั้นเอง ที่ให้ความร่วมมือโดยไม่สนใจคนอื่น ซึ่งอาจเป็นว่าคนกลุ่มนี้มีอุดมการณ์แรง มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง จึงไม่สนใจว่า คนอื่นจะคิดจะทำอย่างไร ถ้าลองเป็นสิ่งที่ตนเองเห็นว่าถูกต้องแล้ว ก็ยืนยันที่จะเสียสละเพื่อสังคมส่วนรวม
และอีกขั้วหนึ่งที่ตรงข้ามคือ คนสัดส่วน 20% จะไม่ยอมเสียสละใดๆ ไม่ให้ความร่วมมืออะไรทั้งนั้น
ในขณะที่คนส่วนใหญ่ 60% เป็น “conditional cooperators” หรือ คนที่ให้ความร่วมมืออย่างมีเงื่อนไข และเงื่อนไขที่ว่านี้คือ “ฉันจะทำ ต่อเมื่อคนอื่นทำ”
ส่วนอีก 10% เป็น “trangle cooperators” ซึ่งคล้าย conditonal cooperators แต่ต่างกันตรงที่ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่พวกเขาคิดว่ามีคนให้ความร่วมมือมากพอแล้ว ก็จะเลิกทำ
ส่วนที่เหลือ 7% นั้นคือคนที่เอาแน่อะไรไม่ได้ ช่วยบ้างไม่ช่วยบ้าง ทำนายพฤติกรรมไม่ได้
ตามงานศึกษานี้ บอกโดยนัยว่า การที่มีคนไม่ให้ความร่วมมือในสัดส่วน 20% นั้นเป็นเรื่องปกติ และต้องทำใจว่ายังไงก็ต้องมีคนเหล่านี้อยู่ในสังคม โดยถ้าหากคนกลุ่มนี้มีสัดส่วนคงอยู่แค่ 20% ก็คงไม่ทำให้ความร่วมมือทั้งหมดพังทลายลงได้ เช่น ถ้าเราเป็นคนที่ให้ความร่วมมือ social distancing และ lockdown และเห็น คน 1 ใน 5 ไม่ยอมทำตาม ก็ไม่สามารถทำให้เราใจอ่อนเลิกทำดีได้
นักพฤติกรรมสังคมบอกว่า นี่คือเรื่อง “social dilemma” ที่ ผลประโยชน์ของตัวบุคคลเกิดความขัดแย้งกับผลประโยชน์ของกลุ่ม จึงทำให้เกิดบางคนคิดจะ “free ride” หรือการ “ขอไปด้วยฟรีๆ”
เช่น คนส่วนน้อยจำนวนหนึ่งสามารถสังสรรค์เป็นกลุ่มได้โดยไม่กลังโควิด และไม่ติดโควิด ก็เพราะพวกเขาได้ประโยชน์จากคนส่วนใหญ่ที่ยังทำตามมาตรการ social distancing เก็บตัวอยู่บ้าน ตัดตอนการระบาด จนเกิดความปลอดภัยพอสำหรับพวกเขา
แน่นอนว่านี่คือการเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ ที่คน “ไม่เอาด้วย” 20% นี้ ไม่รีรอที่จะฉวยโอกาส free ride เสมอ
แต่ถ้าหากเกิดคนกลุ่มนี้นี้มีมากกว่า 20% จะเกิดอะไรขึ้น? จะทำให้คนส่วนใหญ่เริ่มวอกแวก จนความร่วมมือทั้งหมดพังทลายหรือไม่?
มีงานศึกษาอีกชิ้นโดย Damon Centola แห่ง University of Pennsylvania ผู้เขียนหนังสือ How Behavior Spreads: The Science of Complex Contagions กับคน 194 คน พบว่า หากคนที่ไม่เอาด้วยมีสัดส่วนถึง 25% แล้วละก็ จะทำให้คนส่วนใหญ่เปลี่ยนใจได้อย่างรวดเร็วฉับพลัน จุดเริ่มเปลี่ยนแปลงหรือ threshold ที่ 25% จึงทำท่าจะเป็น magic number ที่สามารถหันเหทิศทางสังคมได้ในทันที
แต่ในโลกที่เป็นจริง เราแทบไม่มีทางรู้เลยว่า คนกลุ่มไม่เอาด้วยนี้มีสัดส่วนเป็นกี่ % ไม่รู้ว่า ในวันต่อวันที่ผ่านไปนั้น สัดส่วนคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมาถึงกี่ % แล้ว และที่สำคัญถึงจุดเปลี่ยน threshold 25% หรือยัง
นั่นหมายความว่า ในโลกจริงที่มีคนจำนวนมากๆ อย่างการทำ social distancing ต้านโควิด-19 ที่ทำกันทั้งเมือง ทั้งประเทศ หรือทั้งโลกนั้น เราไม่มีทางเอา threshold 25% มาใช้จริงได้ นอกจากทำให้คนที่ไม่ให้ความร่วมมือนั้นปรากฏตัวให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ แสดงการต่อต้านให้คนอื่นให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งทำได้ด้วยการออกกฏข้อบังคับและกำหนดบทลงโทษ ไม่ใช่แค่ขอความร่วมมือ เพราะเป็นปกติที่คนกลุ่มนี้เขาจะไม่ให้ความร่วมมือยู่แล้ว
และในโลกจริง ไม่มีใครสามารถมานับ มาจำแนกแยกแยะคนกลุ่มนี้ในสังคมได้ว่าเป็นใครบ้าง เรารับรู้ว่ามีคน “ไม่เอาด้วย” นี้จากสื่อต่างๆ หรือเห็นจากคนรอบตัว จากการโพส ใน Facebook ว่า มีบางคนยังแอบไปตั้งวงเหล้า หรือยังไปจัดงานรื่นเริงกันอยู่
ประเด็นสำคัญคือ ที่จริงแล้ว คนกลุ่มนี้อาจมีจำนวนน้อยมากก็ได้ เช่นมีสัดส่วนแค่ 1% หรือ 10% เท่านั้น แต่เมื่อสังคมพบเห็นพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ซ้ำซากผ่านสื่อหรือด้วยความรู้จักส่วนตัว ก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกเสมือนว่า คนกลุ่มนี้มีจำนวนมาก หรือแม้กระทั่งรู้สึกไปว่า “ใครๆก็ไม่เอาด้วยกันหมดแล้ว”
และนั่นทำให้ กลุ่มผู้เสียสละที่เป็น conditional cooperative เกิดอาการหวั่นไหว ถอดใจ เลิกอดทน เลิกเสียสละ เพราะเงื่อนไขที่ว่า “ฉันจะทำ ก็ต่อเมื่อคนอื่นทำ” ดูเหมือนพังทะลายเสียแล้ว และถูกแทนที่ด้วย “ใครๆก็ไม่ทำ ฉันก็ไม่ทำเหมือนกัน” เพราะถ้ายังเสียสละต่อ ก็ดูจะไม่แฟร์
ปัญหาคือ จำนวนที่เกิดจากความรู้สึก มักจะดูมากกว่าจำนวนที่แท้จริงอยู่เสมอ จึงทำให้คนส่วนน้อยที่ไม่ให้ความร่วมมือเหล่านี้มีอิทธิพลต่อสังคมมากว่าที่ควรจะเป็น และนำไปสู่ความล้มเหลวของการขอร่วมมือในสังคมอย่างง่ายดาย
อย่างเช่น ในสหรัฐมีข่าวมากเกี่ยวกับคนอเมริกันออกมาประท้วงการ lockdown และเป็นข่าวค่อนข้างมีสีสัน ทำให้เกิดกระแสว่า มีคนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการ lockdown และเป็นที่วิจารณ์ว่า กระแสนี้เองที่ทำให้บางรัฐตัดสินใจเลิก lockdown ตามๆกัน ทั้งที่โดยความเป็นจริงแล้ว จากการ survey คนส่วนใหญ่ 80% ของประเทศยังต้องการให้ lockdown ต่อไปอยู่
การบริหารจัดการคนที่ไม่ให้ความร่วมมืออันเป็นส่วนน้อยนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง เพราะพวกเขามีอิทธิพลต่อส่วนรวมได้อย่างมหาศาลแม้มีจำนวนเพียงน้อยนิด
วิธีแก้ก็คือ ต้องไม่ให้คนส่วนใหญ่รู้สึกกำลังถูกเอาเปรียบ หรือรู้สึกว่าโลกไม่แฟร์สำหรับพวกเขา ซึ่งทำได้โดยทำให้ free ride ของกลุ่มคนจำนวนน้อยที่ไม่เอาด้วยนี้ ไม่ free อีกต่อไป
นั่นคือ กำหนดข้อห้ามพร้อมบทลงโทษ ซึ่งจะทำให้คนส่วนใหญ่ที่ให้ความร่วมมือไม่คิดว่าตนเสียเปรียบคนกลุ่มนี้อีกแล้ว ใครไม่ให้ความร่วมมือก็จะมีต้นทุนต้องแลก นั่นคือค่าปรับหรือถูกติดคุก ผลคือเกิดความแฟร์ และเกิดความสมดุลหรือ equilibrium ในสังคม การให้ความร่วมมือจึงไปต่อได้
ดังนั้น แม้ธรรมชาติของมนุษย์จะเน้นความร่วมมือกัน การบังคับพ่วงด้วยการลงโทษ ก็ยังคงมีความจำเป็นอยู่ บ้าง ถ้าจะให้บรรลุผลสำเร็จ