OPINION

ปล่อยใจแล้วทำ : เรื่องของ improvisation

สุรพร เกิดสว่าง
13 พ.ค. 2562
“เมื่อผมก้าวไปที่ไมโครโฟน ผมไม่ค่อยคิดอะไร”
Paul McCartney แห่ง วง Beatles
 
ในชีวิตประจำวัน เรามักมี guideline สำหรับการกระทำเรื่องต่างๆอยุ่ในใจ และงัดมาใช้โดยไม่จำเป็นต้องคิดมาก ซึ่งทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น แต่ในบางครั้ง เราอาจอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถพึ่ง guideline เหล่านั้นได้ และต้องหาทางออกให้ได้ในเดี๋ยวนั้น โดยไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน เรียกวิธีการแบบนี้ว่า “improvisation”
 
Improvisation เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นแบบ spontaneous หรือทันทีทันใด บางครั้งไม่คาดหมายมาก่อน และไม่ซ้ำรอยเดิมที่เคยทำถึงแม้จะเป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม หากทำใหม่ ก็ไม่เหมือนเดิม แต่ละครั้งแตกต่างกันหมด 
 
improvisation จึงเป็นเรื่องของความไม่แน่นอน ซึ่งโดยปกติ ธรรมชาติของมนุษย์เกลียดความไม่แน่นอนเป็นที่สุด และพยายามที่จะหลีกเลี่ยง ในขณะที่พยายามสร้างความแน่นอนเท่าที่จะทำได้ และนั่นทำให้การ improvise เป็นเรื่องที่มักไม่พึงปรารถนา เลี่ยงได้เป็นดี
 
ยกเว้นดนตรีและการแสดง โดยเฉพาะดนตรี jazz ที่ improvisation กลายเป็นของ premium 
 
Improvisation กลายเป็นหัวใจของการแสดงสดของวงดนตรีแบบ jazz ไปแล้ว วงไหนเล่นได้มันสะใจ หมายถึง improvise ได้สะใจ นั่นคือ ผู้เล่นใส่ลีลาสดๆ เล่นบนตัวโน้ตใหม่ที่ดัดแปลงจากของเดิมทั้งจังหวะและทำนอง แต่ยังคงเค้าของทำนองเดิมให้พอจำได้ เสน่ห์ของ jazz จึงอยู่ที่ลีลาของการ improvise ว่าจะมีลวดลายแค่ไหน ไม่ใช่การเล่นตามตัวโน้ตเป๊ะๆ คอเพลง jazz มักตั้งตาคอยช่วง improvisation ว่าวันนี้วงนั้นวงนี้ในวันนี้จะเล่นเป็นยังไง เพราะต่อให้เล่นกี่ครั้งก็ไม่เหมือนเดิม วันนี้อาจมีลีลาแปลกๆ สะใจกว่าวันก่อนก็ได้
 
มีการศึกษาโดย University of California at Berkeley โดย Charles J Limb และทีมงาน โดยทำการ scan สมองของนักดนตรี jazz และนักเต้น hip-hop ระหว่างการทำงาน พบว่า สมองส่วนความจำนั้นไม่ค่อยได้ใช้งานเท่าใดนัก แต่สมองส่วนที่ทำการ improvise นั้น active กว่ามาก  Limb พบว่า ความสร้างสรรค์ เกิดขึ้นในทันทีที่สมอง improvise 
 
แม้กระทั่งในดนตรีคลาสสิค ที่คนทั่วไปเข้าใจว่าต้องเล่นตามโน้ตอย่างเคร่งครัด จริงๆแล้ว ดนตรีคลาสสิคมีเสน่ห์อยู่ที่ความแตกต่างของการตีความบทเพลง ที่ต่างกันไปในแต่ละ conductor ทำให้ในเพลงเดียวกัน ถูกบรรเลงต่างกันไป  ซึ่งก็คือการ improvise อย่างหนึ่งเพียงแต่ซักซ้อมกันมาก่อนในลีลาที่ conductor กำหนด และนั่นทำให้เพลงคลาสสิคที่มีมาหลายศตวรรษมีสีสันอยู่เสมอ ไม่ได้ตายหายไปจากความสนใจ
 
แต่ในทางตรงข้าม หากเปลี่ยนจากเรื่องดนตรีและการแสดงเป็นเรื่องอื่น  improvisation กลับดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยน่ายินดีเท่าไหร่นัก    
 
อย่างเช่น เราเตรียม presentation มาเป็นอย่างดี ซ้อมแล้วซ้อมอีก และเพื่อที่จะสามารถพบกับลูกค้าได้อย่างมั่นใจ โดยไม่ต้องรู้สึกกังวลใดๆ แต่แล้วในวันนัดหมาย ลูกค้ากลับเปลี่ยน agenda หลังจากที่ผ่านไปสอง slides ทำให้เรื่องทั้งหลายที่เตรียมตัวมาแทบไม่ได้ใช้ แน่นอนว่า ในฐานะมืออาชีพนั้น “The show must go on.” ดังนั้น ก็ต้องเอาตัวรอดทำการ present ต่อด้วยการ improvise สดๆแบบ on the fly  บนข้อมูลที่ไม่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายหรือตอบคำถาม
 
ที่จริงแล้ว ในชีวิตเรามีเรื่องให้ต้อง improvise อยู่มากมาย อย่างเรื่องของชีวิตคู่ นักจิตวิทยาบางคนถือเป็นการ improvisation ในระยะยาว เพราะไม่มีทางที่คู่ใดจะรู้ถึงตัวแปรต่างๆล่วงหน้าได้ รวมถึงไม่สามารถคาดหมายล่วงรู้ในใจของอีกฝ่ายได้ตลอดเวลา และใช้เวลาในการจูนปรับตัวเข้าหากันไปเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป  หรือปัญหาเฉพาะหน้า ก็ต้องอาศัย improvisation skill ในการแก้ไข เพราะส่วนใหญ่ไม่มีสูตรสำเร็จที่ใช้แก้
 
ความเห็นยุคใหม่จึงมีว่า improvisation นี่เอง ที่เป็น skill สำคัญของชีวิต ใครอยากมีชีวิตที่ดีควร improvise เก่ง เพราะไม่ใช่แต่เพียงทำให้ชีวิตมีปัญหาน้อยลง แต่ยังทำให้ชีวิตมีสีสันน่าสนใจ improvisation skill จึงกลายเป็นเรื่องอยู่ในความสนใจขึ้นมา ขยายออกจากเรื่องของดนตรีและการแสดงไปยังเรื่องของการทำงาน การบริหาร ไปจนถึงการใช้ชีวิต
 
งานศึกษาจาก University of California at Berkeley โดยอีกทีมงานโดย Seelig ได้ทำการทดลองโดยให้กลุ่มนักเรียน และกลุ่มนักศึกษาซึ่งมีอายุมากกว่า ลองประกอบกล่องดนตรีที่ทำเสียงเพลง พบว่า กลุ่มนักเรียนมัธยมพยายามการลองวิธีต่างๆที่หลากหลายกว่า และยังทำสำเร็จได้มากกว่ากลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ใช้วิธีประกอบอย่างตรงไปตรงมา หรือไม่ก็พยายามโกงโดยดัดแปลงกล่องให้ประกอบได้ง่าย
 
Seelig สรุปว่า สาเหตุน่าจะเป็นเพราะกลุ่มนักเรียนยังมีความ “สดใหม่” ของชีวิตอยู่ ไม่ได้ถูกอิทธิพลการเรียนรู้ชีวิตมา block ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า เมื่อคนเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น จะถูกหล่อหลอมด้วยการฝึกให้คิดในกรอบเกินไปหรือไม่? ด้วยมีความเชื่อและค่านิยมว่า การคิดในกรอบ คือความเป็นผู้ใหญ่และความ mature
 


Seelig พูดถึง improvisation ในหนังสือ inGenius ของเธอว่า คนเรามักจะเข้าใจผิดโดยคิดว่าเรามาถูกทางด้วยการทำตามสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าจากสังคม เช่น ชนิดของเสื้อผ้าที่ใส่ในโอกาสต่างๆ  จนกฏธรรมเนียมเหล่านี้ที่ยึดถือกันมา กลายเป็นบรรทัดฐานที่เราใช้ตัดสินคนอื่นรวมถึงตัวเองว่าทำถูกต้องแล้วหรือไม่ หรือเป็นคนที่ยอมรับได้ในสังคมหรือไม่ 
 
แต่การเดินตามบรรทัดฐาน คือการปิดโอกาส improvisation และสาเหตุหลักที่คนเราไม่ค่อยกล้า improvise เพราะกลัวจะไปแหกกฎเหล่านั้น ซึ่งถ้าคิดถี่ถ้วนก็อาจจะเห็นว่า บางกฎไม่มีเหตุผลอะไรพิเศษ นอกจากมาจากความเคยชิน หรือ บางกฎไม่มีความจำเป็นอะไรเลย ไม่ทำตามก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ 
 
เปรียบเทียบชีวิตที่อยู่ในกรอบได้เหมือนกับเที่ยวกับกรุ๊ปทัวร์โบกธง ที่เดินตามกรอบที่วางไว้ ให้ความสบายและความแน่นอน ถูกต้อนขึ้นต้อนลงรถทัวร์ โดยไม่ต้องตัดสินใจอะไร ไม่ต้องเตรียมตัว หรือเตรียมความรู้ใดๆ แต่ไร้อารมณ์ของการค้นหา และไร้อิสระ เปรียบเทียบกับ การเที่ยวด้วยตัวเอง ซึ่งคือการ improvise สามารถเปลี่ยนแผนได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับความพอใจในสิ่งที่ได้พบเห็น เต็มไปด้วยอารมณ์ของการค้นหาและการเรียนรู้มากว่า ตามมาด้วยให้แง่คิดต่างๆ และได้ค้นพบตัวเอง
 
ในเรื่องของการแสดง Viola Spolin นักแสดงระดับคลาสสิค ผู้เขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับการแสดง จนได้ถือว่าเป็นปรมาจารย์ด้าน improvisation ในเชิงปฏิบัติ ไม่ใช่แค่ในทฤษฎี บอกว่า improvisation คือการปลดปล่อยตนเองออกจากกรอบ กับการถูกยอมรับ เพราะความรู้สึกว่ากำลังถูก evaluate นี้ ทำให้คนเราไม่แสดงความสามารถที่มีอยู่เต็มที่
 
ผลคือ ผลงานแสดงออกมาไม่สุดๆและไม่เนียน เพราะในใจจะคอยวอกแวก เช็คอยู่ตลอดเวลาว่า ที่ทำอยู่นี้ถูกต้องไหม ทำให้ไม่สามารถเกิดสภาพ “in the moment” หรือ อยู่กับปัจจุบัน ณ วินาทีนั้นได้
 
Spolin บอกว่า ที่ถูกคือ นักแสดงต้องไม่สนใจสายตาที่มองอยู่ การพยายาม ”แบ่งภาค”ความสนใจไปยังผู้ดู หรือ กรรมการ หรือใครก็แล้วแต่ที่คิดว่ากำลังจับผิดอยู่ ทำให้นักแสดงไม่สามารถให้ความสนใจกับบทตัวเองได้พอ กฎสำคัญที่จะทำให้ improvisation บรรลุความสำเร็จ คืออย่าไปสนใจคนดูหรือคนอื่นมากนัก ให้ focus ที่เนื้อหาแทน ในการใช้ชีวิตก็เช่นกัน หากถึงเวลาที่จะต้อง improvise อย่าไปสนใจว่าคนอื่นจะมองอย่างไรให้มากนัก อย่าไปแคร์โลกโซเชียลมาก 
 
แต่ยังมีกฎอีกข้อที่มาก่อน และอาจมีความสำคัญมากที่สุดด้วย นั่นคือ “การฝึกฝน”
 
กว่านักดนตรี jazz จะสามารถวาดลีลา improvise จากตัวโน้ตฉบับดั้งเดิมได้ เขาก็ต้องมีความชำนาญและมั่นใจในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ว่า เล่นเครื่องดนตรีนั้นยังไม่เก่ง ก็จะ improvise ได้ดี  เหมือนอย่างที่กล่าวว่า “Master all the rules.Then break it.” นั่นคือ ก่อนจะแหกกฎ ก็ต้องเชี่ยวชาญกับกฎนั้นเป็นอย่างดีเสียก่อน
 
เช่นเดียวกับในชีวิต เมื่อเราเจอปัญหาลูกค้าเปลี่ยน agenda กลางคัน การจะ handle การประชุมได้ดีเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความรู้ในหัวข้อนั้น หากเราไม่ชำนาญ  improvise อาจไม่รอด หรืออย่างไรก็คงไม่เอาตัวรอดได้ดีเท่าคนที่รู้เรื่องนั้นเป็นอย่างดีอยู่แล้ว
 
อาจเปรียบเทียบการ improvise ได้กับคนที่จะไปเที่ยวด้วยตนเอง ไม่พึ่งทัวร์ เพื่อที่จะสามารถเปลี่ยนโปรแกรมตามใจตนเองได้วันต่อวันแบบ spontaneous  การเที่ยวเองแบบนี้ก็ต้องมาจากการเตรียมข้อมูลที่ดี รู้เส้นทางและ transportation พร้อมกับมี concept ของสิ่งที่ต้องการค้นหาล่วงหน้า เพื่อที่จะได้ตัดสินใจและทำตามนั้นโดยฉับพลันได้ หากไปโดยไม่รู้อะไรเลย ก็อาจจะเที่ยวแบบ spontaneous คิดแผนวันต่อวันได้เหมือนกัน แต่ก็จะเสียเวลามากมายไปกับหาข้อมูลระหว่างนั้น ทำให้ได้เที่ยวไม่เพียงกี่ที่ สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น และอาจไม่ได้สนองความต้องการได้แท้จริง
 
นั่นคือ ลำพังเพียงมีทัศนคติที่กล้าท้าทายนั้นไม่พอ ต้องพกความรู้ความสามารถพื้นฐานที่ดีมาก่อน เหมือนอย่างที่ Paul Simon นักร้องดังแห่งวง Simon and Garfunkel เจ้าของเพลงอย่าง “The Sound of Silence” บอกว่า “Improvisation is too good to leave to chance.”
 
และนี่เป็น paradox ของการ improvise ที่ต้องเริ่มจากการเข้าไปอยู่ในกรอบดั้งเดิมเสียก่อน เพื่อเรียนรู้ให้ขึ้นใจว่าอะไรเป็นอะไร จนเกิดความมั่นใจ มองเห็นจุดที่สามารถแหกคอกหรือ improvise ได้
 
และนั่น คือที่มาความหมายของประโยคที่ว่า “Rules are meant to be broken.”  
About the Author
background จากการศึกษาและทำงานด้าน การเงินการธนาคาร เศรษฐศาสตร์ และ IT เชื่อว่าคนเราสามารถหาความสุขได้ง่ายๆจากความอยากรู้อยากเห็นและความสงสัย นอกจากการอ่านและเขียนแล้ว เขาใช้ชีวิตกับกิจกรรม outdoor หลากหลายชนิด
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สภาวะที่กดดันและการต่อสู้กับอุปสรรคหลายอย่างในชีวิต เป็นเพียงแค่ขั้นตอน “ปิ้งขนมปัง” แต่เพียงเท่านั้น ถ้าเราสามารถผ่านมันไปได้ และไม่กลัวมัน มันจะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นและใช้ชีวิตอย่างเข้มแข็งและภาคภูมิใจ
 
 
การวิจารณ์หน้าตาคนอื่น ทำได้จริงหรือ? การพูดถึงหน้าตาคนอื่นๆ หรือเรื่องส่วนตัวของเขา สามารถกระทำได้โดยชอบใจ จริงๆนะหรือ?