ถ้าใครได้ดู The Shape of Water โดย Guillermo Del Toro จะรู้กันดีว่าในหนังมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของ
นางเอกที่เป็นใบ้กับสัตว์ประหลาดที่เป็นสัตว์ประหลาด รวมไปถึงฉากร่วมรักกันของตัวละครสองตัวนี้ สำหรับ
หลายๆ คนแล้ว คงเป็นเรื่องประหลาด ชวนกระอักกระอ่วน ไปจนถึงขั้นสยอง แต่ในยุคที่ความขัดแย้งทางความ
หลากหลายมีให้เห็นเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเชื้อชาติ, วัฒนธรรม, ความคิดทางการเมือง, สีผิว, เพศสภาพ, หรือ
ปัจจัยใดๆ ก็แล้วแต่ ความรักระหว่างตัวละครสองตัวที่มีความแตกต่างทางกายภาพอย่างมาก ต่างถึงขั้นสาย
พันธุ์ กลับกลายเป็นสิ่งที่อธิบายความจำเป็นในการเข้าใจและเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ในยุคนี้ได้ดี
พอๆ กับการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรืออาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ
อ่านแล้วคงงงใช่มั้ย ทำไมต้องมาเข้าใจว่าคนรักกับสัตว์ประหลาดเป็นเรื่องที่รับได้ด้วย? โอเค พักเรื่องสัตว์
ประหลาดไว้นิด เพราะเราต้องเข้าใจบริบทสังคมสมัยนั้นก่อน
หนังเซ็ตในยุค Space Age ที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดจากสงครามเย็น ความกลัวต่อระเบิดนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่
หลอกหลอนชาวอเมริกันและชาวโลกอยู่ในใจลึกๆ เลยไม่แปลกที่จะมีการทดลองที่แสนไร้มนุษยธรรม ไร้ศีล
ธรรม และเต็มไปด้วยความทารุณ เพื่อนวัตกรรมที่ก้าวหน้า นึกดูว่าถ้าเกิดว่าอยู่ๆ เกิดสงครามระเบิดนิวเคลียร์
ขึ้นจริงๆ นวัตกรรมเหล่านี้จะให้มนุษย์สามารถอยู่รอดบนสภาวะที่ท้าทายได้ ไม่ต้องย้อนไปไกล ขนาดตอนนี้เรา
ยังรู้สึกเลยว่าโลกเราไม่น่าอยู่ ยุคสงครามเย็นเป็นยุคที่เต็มไปด้วยสายลับ ที่จะล้วงเอาข้อมูลของวัฒนาการขั้น
สุดยอดแห่งศัตววรษมาใช้ได้ก่อนอีกฝ่าย ทำให้เกิดความสงสัยต่อคนรอบข้างตลอดเวลา การแข่งขันกัน
ระหว่างหลักการประชาธิปไตยของอเมริกากับหลักการคอมมิวนิสต์แบบโซเวียตเป็นสิ่งที่ซับซ้อนเกินกว่าคำว่า
ขาวกับดำ ดีกับชั่ว ถูกกับผิด แต่แทบทุกคนในยุคนั้นถูกหล่อหลอมออกมาให้คิดว่าอีกฝ่ายเป็นคนร้าย เพราะ
ต่างฝ่ายต่างก็คิดว่าหลักการของประเทศตัวเองดีที่สุด ถูกต้องที่สุด สิ่งที่ง่ายต่อการบอกคนในชาติตัวเองว่าหลัก
การของตัวเองดีที่สุด คือการสร้างปีศาจขึ้นมา แล้วก็ขู่ให้คนอยู่ภายใต้ความกลัว อเมริกันสร้างปีศาจโซเวียต
ในขณะที่ชาวโซเวียตเอง ก็สร้างปีศาจแยงกี้อเมริกัน
นายพล Stickland ที่เป็นตัวร้ายของเรื่อง ถ้าลองเอาคุณสมบัติของเขามาไล่ดูแล้ว ตัวละครตัวนี้ น่าจะเป็นฮีโร่
ตามหนังคลาสสิคฮอลลีวู้ดมากกว่าเป็นตัวร้ายเสียอีก เพราะเขาเป็นทั้งพลทหารที่ผ่านสงครามมาอย่างภาค
ภูมิใจ จนได้เป็นเจ้านายระดับสูง มีภรรยาแสนสวย มีลูกที่น่ารัก บ้านที่อบอุ่น ชีวิตแสนเพอร์เฟคตามอุดมคติ
อเมริกัน แต่ในหนัง สิ่งที่ทุกคนเชิดชูเหล่านั้น กลับเทียบไม่ได้เลยกับจิตใจข้างในของ Strickland ที่ต้องการจะ
ควบคุม ดูถูกและใช้ความรุนแรงกับคนอื่นตลอดเวลา ไม่ว่าจะดูถูก Zelda เพื่อนพนักงานทำความสะอาดผิวสี
ของ Elisa นางเอกของเรื่อง หรือพยายามคุกคามทางเพศ Elisa จนเธอหนีออกมา ไปจนถึงทารุณสัตว์ประหลาด
ที่เขาจับมาอย่างไร้เมตตา น่าแปลกไหมที่คนที่มีคุณสมบัติที่เหมาะจะเป็นฮีโร่ กลับกลายเป็นตัวร้ายเสียเอง

ในทางกลับกัน ฮีโร่แต่ละตัวในเรื่อง เป็นเพียงคนตัวเล็กๆ ที่สังคมในตอนนั้นไม่ยอมรับ อย่าง Elisa นางเอกที่
เป็นใบ้มาตั้งแต่เกิด, Zelda เพื่อนพนักงานทำความสะอาดของนางเอกที่เป็นผู้หญิงผิวสี, และ Giles เพื่อนข้าง
บ้านของนางเอกที่เป็นเกย์ ทั้งสามคนต่างถูกสังคมกีดกัน เป็นเหมือนเสียงที่ไม่ได้ยินในสังคม แต่คนเหล่านี้
กลับมีความกล้าที่จะสู้เพื่อสิ่งที่เขาเชื่อว่าถูกต้อง มีฉากหนึ่งในหนังที่ Giles บอก Elisa ว่า “เธอจะไปช่วยเขา
ทำไม เขาไม่ได้เป็นมนุษย์สักหน่อย” แต่ Elisa ตอบกลับไปว่า “เพราะเขามีจิตใจ และรับรู้ได้ เขามีความรู้สึก ถ้า
หากเราไม่ทำอะไรเลย เราก็ไม่ใช่มนุษย์เหมือนกัน”
เหมือนเป็นการตบหน้าพระเอกหนังฮอลลีวู้ดสมัยก่อนหลายเรื่อง ที่มักจะมีชาวรัสเซียเป็นตัวร้ายในหนัง ในขณะ
ที่ Hoffstetler สายลับนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียใน Shape of Water กลับเป็นคนที่ตัดสินใจจะช่วย Elisa พา
สัตว์ประหลาดหลบหนี เพื่อไม่ให้เขาโดนฆ่า จน Zelda ออกปากว่า “คุณเป็นคนดีนะ คุณ Hoffstetler” เป็นเรื่อง
ที่ไม่ค่อยเห็นตามหนังฮอลลีวู้ดทั่วไปเท่าไหร่นัก ที่จะมีคนสองชาติที่เป็นเหมือนศัตรูกัน ช่วยเหลืออีกฝ่าย และชม
อีกฝ่าย Shape of Water ต้องการจะทำลายพรมแดนของเชื้อชาติ และบอกเราว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นคนชาติอะไร
และไม่ว่าชาติอื่นจะตีตราว่าคุณเป็นคนเลวแค่ไหน แต่คุณก็เป็นคนดีได้ คุณก็เสียสละได้ และคุณไม่จำเป็นต้อง
ทำตามสิ่งที่ชาติคุณบังคับคุณให้ทำ
น่าแปลกไหม ที่คนที่มีปากเสียงน้อยที่สุด คนที่ไม่ได้รับการรับฟังเลย กลับเป็นคนที่รับฟังคนอื่นมากที่สุด Elisa
ใช้ภาษามือเพียงไม่กี่คำที่จะเข้าใจสัตว์ประหลาด แต่ทั้งคู่เข้าใจกัน และสื่อสารกันได้ เพราะการรับฟังอีกฝ่ายคือ
ยาต้านความเกลียดชังที่คนมีต่อกัน และจะเข้าใจและเห็นอกเห็นใจอีกฝ่ายได้ Shape of Water เป็นเหมือน
กระจกสะท้อนสังคมปัจจุบันแม้จะเซ็ตในยุคสงครามเย็น แต่ทุกวันนี้ความเกลียดชัง การสร้างปีศาจในสังคม
กลับมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพียงแค่เปลี่ยนบริบท จากคนรัสเซีย เป็นชาวอิสลาม เป็นชาวโรฮิงยา เป็นคนผิวสี เป็นผู้
อพยพ เป็นอะไรก็ตามที่ทุกคนบอกว่า คนเหล่านี้เป็นตัวอันตราย ในขณะที่คนตัวใหญ่ๆ บอกเราว่าคนเหล่านี้
เป็นศัตรู ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีคนตัวเล็กๆ ในสังคม ที่เปิดใจ รับฟัง และเป็นกระบอกเสียงให้คนอื่นๆ เช่นกัน

แล้วถ้าเราเข้าใจคนอื่นได้ ทำไมเราจะรักเขาไม่ได้ ทำไมเราถึงรู้สึกขยะแขยงที่นางเอกรักกับสัตว์ประหลาด ทั้งที่
เขาเองก็มีจิตใจเหมือนกัน (ถึงพี่จะเหม็นคาวปลาแล้วก็มีเมือกๆ เกล็ดๆ เต็มตัวก็ตาม) การที่เราเกลียดสิ่งที่เรา
ไม่เข้าใจ มันก็ไม่ต่างกับการเหยียดคนอื่นโดยที่ไม่ได้เปิดใจรับฟังเขาด้วยซ้ำ พฤติกรรมแบบนี้ ต่างอะไรกับการ
ที่เราเห็นคนที่เป็นเกย์รักกัน แล้วจะต้องเหมารวมว่าคนเหล่านี้สกปรก แล้วจะต้องล้อเขาว่า “เห้ย อัดถั่วดำเหรอ
วะ” ทำไมล่ะ ความแตกต่างทางสรีระ มันน่าแปลกมากจนเรารับไม่ได้เลยเหรอ ทุกคนมีความคิด ความชอบที่
ต่างกันหมด เราต่างเป็นฮีโร่ในหนังชีวิตของเรา แต่การจะอยู่ร่วมกันได้ คือการมองข้ามความต่างเหล่านี้ไป
หนังดันความแตกต่างมาจนถึงขีดสุดที่ ต่างถึงขั้นเผ่าพันธุ์ แล้วถามกับเราในสังคมที่ปากพูดพล่อยๆ ว่า “ฉัน
เข้าใจคนอื่นนะ ฉันต้องการความเท่าเทียม” ว่า “เอ้า ถ้ามันแปลกขนาดนี้ แกจะยังรับได้อยู่ไหม” และก็ไม่แปลก
เลย ที่มีกระแสออกมาบอกว่า “อี๋ เหม็นคาวปลา” เพราะเอาเข้าจริง สุดท้ายคนก็รับไม่ได้ แหม เวลาแกจกส้มตำ
ปลาร้า ไม่เห็นบ่นงี้บ้างเลย
เทพนิยายของผู้ใหญ่ที่มีใจต่อต้านมาแต่เด็ก
หนังเป็นเหมือนนิทานสำหรับผู้ใหญ่ ไม่ใช่เพียงเพราะความแฟนตาซี แต่มันคือนิทานที่ให้ข้อคิดต่อผู้ใหญ่ ตัว
หนังเองก็เหมือนกับกระจกเงาสะท้อนนิทานที่เราโตมาพร้อมกับมัน Giles เรียก Elisa ว่าเจ้าหญิงไร้เสียง เหมือน
นิทานนางเงือกน้อยที่เอาเสียงมาแลกกับขามนุษย์ แต่ Elisa ในหนังไม่ได้แลกเสียง แต่เธอแลกความสุขของ
การได้ฟังเพลง ความสุขของการได้เต้นรำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอทำแทนการพูดคุยบนบก กับชีวิตใต้น้ำ ถ้าสังเกตดีๆ
Elisa ดูแลรองเท้าของเธอเป็นอย่างดี เพื่อให้การเต้นแทปของเธอมีเสียงออกมา เธอชอบดูรองเท้าใหม่ๆ และ
เธอรักเสียงเพลง แต่เธอยอมแลกทุกอย่างนั้นเพื่อให้เธอได้อยู่ร่วมกับสัตว์ประหลาด รอยแผลเป็นที่คอของเธอ
ถูกเปลี่ยนให้เป็นเหงือกในตอนจบของเรื่อง ราวกับว่าเธอเป็นปลาที่อยู่บนบกมาทั้งชีวิต ไม่ต่างกับตัวละครตัว
อื่นๆ หลายที่เหมือนอยู่ผิดที่ผิดทาง ผิดยุคผิดสมัย อย่างที่ Giles บอกว่า “ฉันคิดว่าฉันคงเกิดเร็วเกินไป หรือช้า
เกินไป”

อีกอย่างที่เด่นในหนังที่ Guillermo Del Toro กำกับตั้งแต่ Pan’s Labyrinth แล้ว ก็คือการปฏิเสธอุดมคติต่างๆ
ขนาด Del Toro ยังให้สัมภาษณ์ว่า “หนังเรื่องนี้เป็นเหมือนโฉมงามกับอสูร ในแบบที่นางเอกเป็นคนที่เรา
สามารถเชื่อมโยงกับเขาได้ เธอเป็นคนทั่วไปแบบเราๆ ไม่ได้เป็นเจ้าหญิงแสนสมบูรณ์แบบ” Elisa ที่เป็นนางเอก
ไม่ได้เป็นผู้หญิงที่สวยตามแบบฉบับฮอลลีวู้ดทั่วไป ตามที่ Del Toro กล่าวว่า “ผมอยากให้ตัวละครมีความงามที่
แตกต่างจากคนอื่น แต่ก็ยังแข็งแกร่ง เธอไม่ได้สวยแบบนางแบบ ไม่ได้สวยแบบฮอลลีวู้ด เราหลงรักเธอ
มากกว่าชื่นชมเธอ” ในหนัง Elisa รักสัตว์ประหลาดเพราะเขาเป็นตัวของเขา ต่างกับอสูรในนิทานที่จะต้องแปลง
ร่างก่อนที่นางเอกจะรักเขา แม้แต่ชื่อของเธอก็เป็นชื่อเดียวกับนางเอกหนังเรื่อง My Fair Lady ที่นำเอาความ
งามจากภายในของผู้หญิงคนนึงออกมาให้คนอื่นได้เห็น
หนังบอกเราว่า บางครั้งการต่อต้านอะไรบางอย่างต่างหากคือเรื่องที่ถูกต้อง เพราะท้ายที่สุดแล้ว อะไรกันแน่คือ
ความถูกต้อง? การทำเพื่อประเทศชาติ แต่ชาตินิยมทำให้เราหลงลืมความเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลกคนอื่น คือสิ่ง
ที่ถูกต้องแล้วเหรอ? มีฉากหนึ่งในหนังที่สามีของ Zelda บอกเธอว่า เธอไม่ควรทำอย่างนี้ มันผิดกฎหมาย เป็น
เรื่องที่น่าเศร้า เพราะถ้ามองย้อนกลับไปอีกนิด ก่อนที่จะมีการเลิกทาสในอเมริกา การฆ่าคนดำเป็นเรื่องที่ถูก
กฎหมาย ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง นาซีเคยประกาศว่าการฆ่ายิวเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย กฎหมายเองก็มีจุด
บกพร่องของมันตามยุคสมัย ดังนั้นกฎหมายไม่ใช่สิ่งที่กำหนดผิดชอบชั่วดีไปเสียหมด สุดท้ายแล้ว กฎหมายก็
ไม่ได้เป็นธรรมกับทุกคน จนกว่าจะมีคนกล้าเปลี่ยนแปลง ก็จะยังมีคนใช้กฎหมายในการเอากดขี่คนอื่นอยู่เรื่อย
ไป

Shape of Water ชวนให้เราตั้งคำถามกับอำนาจต่างๆ มีฉากหนึ่งในหนังที่ Strickland พยายามเค้นคำตอบ
จากสายลับชาวรัสเซีย เขาถามถึง “ชื่อ ตำแหน่ง สังกัด” ในขณะที่สายลับตอบกลับอย่างสมเพชว่า “ไม่มีชื่อ ไม่มี
สังกัด พวกเขาเป็นแค่พนักงานทำความสะอาด” เป็นเรื่องที่น่าหัวเราะสำหรับสายลับชาวรัสเซีย ที่ทำงานใต้
อำนาจรัฐมาตลอด แต่อำนาจรัฐของศัตรูอย่างนายพลชาวอเมริกันกลับถูกเหยียบจมูกโดยคนที่เขาไม่คิดว่าจะมี
อำนาจที่จะทำอะไรได้ คนที่เขาดูถูก คนตัวเล็กที่ไร้ปากเสียงในสังคม ไร้กำลังที่จะต่อต้านเขา เหมือนกับการมา
เค้นคำตอบว่าท่อน้ำเลี้ยงของพวกเขาคืออะไร แต่สุดท้ายแล้ว ไม่มีหรอก ท่อน้ำเลี้ยง ไม่มีคนจ้างเขามา ไม่มี
สังกัด ไม่มีอำนาจมาสั่งเขา มีเพียงความรู้สึก ความรัก ความกลัว ความโกรธ และความหวังที่จะทำในสิ่งที่ถูก
ต้องต่างหาก ที่เป็นแรงขับเคลื่อน กำลังของปัจเจกที่รวมตัวกัน สุดท้ายแล้วอาจจะแข็งแกร่งกว่าผู้มีอำนาจ
หลายๆ คนอีก