ผลคือ นอกจากพฤติกรรมคนส่วนน้อยนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงของคนทั้งหมดในประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้คนส่วนใหญ่ต้องแบกภาระต้นทุนการดำเนินชีวิตแทนอีกด้วย อย่างเช่น มาตราการ curfew ที่จำต้องออกมาเพื่อระงับการออกจากบ้านมาจับกลุ่มสังสรรค์ยามดึก ซึ่งแน่นอนว่าคนเหล่านี้ ไม่ใช่คนส่วนใหญ่
คำถามคือ ทำไมคนส่วนน้อยเหล่านี้ ถึงไม่ได้ให้ความร่วมมือ ไม่ให้ความสำคัญ? พวกเขาคิดอะไรอยู่? คำตอบที่เกิดขึ้นทันทีคือ พวกเขาเป็นคนเห็นแก่ตัว หรือไม่ก็เป็นคนไม่รู้เรื่อง
ทว่า นักจิตวิทยาบอกว่า คำตอบแท้จริงนั้น น่าสนใจและลึกลงไปกว่านั้น
ในหนังสือ Psychiatry of Pandemics โดย Christy Duan ชี้ว่า ความเชื่อหรือทัศนะของคนก็มีสภาพจับกลุ่มเป็น cluster เช่นเดียวกับกลุ่ม cluster ของคนโรคระบาด นั่นคือ มีการเลียนแบบพฤติกรรมของสมาชิกกลุ่ม แชร์ความเห็นเหมือนๆกัน
ในยามที่เกิดความตึงเครียด บรรยากาศเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน คนเรามักจะหันซ้าย หันขวา และก๊อปปี้เอาพฤติกรรมคนที่อยู่รอบๆมาทำตาม ต่างคนต่างก๊อปปี้กันและกัน โดยอาจไม่มีผู้นำที่แท้จริงก็ได้
ดังนั้น หากอยากรู้ว่า แต่ละคนคิดอะไรอยู่ อาจไม่ได้คำตอบอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะแต่ละคนต่างทำตามๆเพื่อนที่อยู่ในกลุ่ม โดยไม่คิดอะไร ใครว่าไง ก็ว่าตามกัน เพื่อนๆอยากไปจับกลุ่มกินเหล้าเหมือนเดิม ก็ว่าตามนั้น
เพราะมีแนวโน้มอยู่แล้ว ที่คนเรามักจะไม่ค่อยอยากเปลี่ยนแปลง ทำในสิ่งเดิมๆที่เคยทำมา เมื่อคนหนึ่งมีแนวโน้มจะไม่สนับสนุน social distancing เพียงเพราะไม่เคยทำ ไม่คุ้น ไม่สะดวก คนอื่นก็อาจคล้อยตามทันที
Milton Erickson (1901-1980) นักจิตวิทยาระดับตำนาน เล่าว่า ตอนเด็กๆ เขาเดินไปโรงเรียนหลังจากหิมะตกหนักจนท่วมทางเดิน ด้วยความที่ตื่นเช้า เขาจึงมีเวลาเล่นสนุกโดยเดินลุยหิมะเป็นทางซิกแซ็กไปมา แทนที่จะเดินเป็นเส้นตัดตรง ตอนเย็นเวลากลับบ้าน เขาพบว่า เส้นทางเดินอ้อมไปมาที่เขาทำไว้เมื่อเช้านั้น ได้กลายเป็นเส้นทางเดินที่ขยายกว้างขึ้น เพราะคนอื่นที่ตามมาต่างก็ใช้แนวเดินนั้นเหมือนกันหมด ทั้งๆที่จะเดินตัดตรงก็ย่อมได้
Erickson จึงได้ข้อคิดตั้งแต่เด็กว่า “คนส่วนใหญ่มักทำตามๆกันโดยไม่คิด” คือฝากการตัดสินใจไว้กับคนที่ไม่รู้จักแทน
นั่นหมายความว่า ในพฤติกรรมคนส่วนใหญ่ หากไปถามหาเหตุผลว่า “ทำอย่างนั้นทำไม?” ก็อาจจะไม่มีคำตอบ ถึงแม้เจ้าตัวจะพยายามเฟ้นตอบด้วยเหตุผลน่าเชื่อถือต่างๆก็ตาม คำตอบเหล่านั้นไม่น่าใช่คำตอบที่แท้จริง
แต่ก็แน่นอนว่า ลึกๆแล้ว การที่กลุ่มคนจำนวนหนึ่งเพิกเฉยต่อการให้ความร่วมมือของส่วนรวม ก็ต้องมีสาเหตุ
เรื่องนี้ Julia Shaw แห่ง University College London ผู้เขียนหนังสือ Making Evil: The Science Behind Humanity's Dark Side จำแนกสาเหตุไว้ว่า
- คิดว่า เป็นเรื่องไกลตัว ก็เลยไม่สนใจ เมื่อไม่สนใจก็เลยไม่เข้าใจและไม่รู้เรื่องว่ามันอันตรายแค่ไหน
- มองโลกในแง่ดี เนื่องจากไม่อยากเปลี่ยนแปลงชีวิตที่เป็นอยู่ ทำให้สนใจเฉพาะข้อมูลข่าวสารในทางบวกเท่านั้น เช่น คนอายุน้อยเป็นแล้วไม่ค่อยป่วยหนัก หรือ เราไม่น่าโชคร้ายขนาดนั้น เราเป็นคนดวงดี
- ไม่เชื่อข่าวร้าย เพราะไม่ชอบข่าวร้ายที่ทำให้เสียบรรยากาศหรือทำให้ความสุขลดลง ยิ่งข่าวดูซีเรียส ก็จะยิ่งปฎิเสธไม่ฟัง และปักใจว่า “มันไม่ได้แย่ขนาดนั้น ตื่นเต้นกันไปเอง” ทั้งที่คนที่ตื่นเต้นเกินไป ก็คือคนกลุ่มนี้นั่นเอง ที่ตื่นตระหนกจนไม่สามารถทำใจ ยอมรับกับความจริงได้ว่า สถานการณ์โควิด-19 นั้นอันตรายแค่ไหน
- งุนงง ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตในสถานการณ์นี้ เครียดมาก เลยหันมาใช้ความรู้สึกแทนเหตุผล เพราะคิดด้วยเหตุผลไม่ออก ผลก็คือ พฤติกรรมที่ออกมาไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
Shaw ตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนใหญ่แล้ว คนเหล่านี้ที่จริงไม่ได้คิดร้ายอะไรกับสังคม บางคนไม่ได้มีความเห็นแก่ตัวด้วยซ้ำไป และในยามปกติ ก็อาจเป็นคนดีที่ช่วยเหลือคนอื่นก็ได้ เพียงแต่พวกเขาเป็นคนที่ไม่กล้าเผชิญหน้ากับความจริง หรือไม่กล้าสู้กับปัญหา เลยใช้วิธีวิ่งหนีปัญหา และออกมาในอาการ “ไม่รู้ไม่ชี้” แทน
Shaw อธิบายเพิ่มเติมว่า ในคนที่หวาดกลัวแรงๆ และรู้สึกว่าตนเองตกอยู่ในความไม่แน่นอนนั้น จะแสดงพฤติกรรม 2 อย่างออกมา นั่นคือ 1.ไม่ไว้ใจคนอื่น และ 2.ทำอะไรลงไปโดยไม่มีเหตุผล อย่างเช่น ไม่ไว้ใจสังคม ไม่ไว้ใจผู้เชี่ยวชาญ ไม่หาความรู้ และปฏิเสธการรับรู้จากแหล่งข้อมูลเหล่านี้หมด แต่กลับให้น้ำหนักกับข่าวลือหรือข่าวตื่นเต้นที่ส่งต่อๆกันแทน ตอบสนองกับสถานการณ์โดยใช้ความรู้สึกตนเองเป็นใหญ่ ซึ่งอาจสวนทางกับสิ่งที่สังคมกำลังต้องการ
นักจิตวิทยา Catherine Potard แห่ง University of Angers ที่ฝรั่งเศส พูดถึงเรื่องนี้ใน Theory of Planned Behavior (TPB) ว่า ความตั้งใจของคนเรานั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยสามประการ คือ 1. ทัศนะ 2. ความเข้าใจ 3. การควบคุมตนเอง ซึ่งในหลายๆคนมีทั้งข้อ 1 และ 2 คือ ต้องการทำตัวเป็นสมาชิกสังคมที่ดี เป็น good citizen และมีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่า การทำ social distancing นั้นจำเป็นแค่ไหน แต่มาสอบตกข้อ 3 คือ บังคับตนเองไม่ได้ ทำให้ออกไปชนแก้วเหล้ากับเพื่อนกลุ่ม ทั้งที่รู้ว่าทำไม่ถูก ทำนองเดียวกับคนที่รู้ว่าอาหารบางอย่างไม่มีประโยชน์ แต่ก็อดไม่ได้เพราะอร่อย
เมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วจะแก้ไขอย่างไร?
Douglas Van Praet เจ้าของหนังสือ Unconscious Branding: How Neuroscience Can Empower (and Inspire) Marketing แนะนำว่า วิธีที่ทำให้คนเหล่านี้หันมาร่วมมือกันต้านการระบาดของโควิด-19 นั้น เหมือนกับที่ Erickson เล่าเรื่องคนเดินตามรอยเท้าเขาในหิมะ นั่นก็คือ ทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่า “ใครๆเขาก็ร่วมมือ ช่วยกันทั้งนั้น” แล้วพวกเขาจะเดินตามรอยคนส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติตนเป็น good citizen เอง
นั่นคือกระแสร่วมด้วยช่วยกันต้องโหมกระหน่ำ เน้นกระแสบวกว่า ใครๆก็ทำ social distancing
และต้องระวังอย่าไปทำให้ข่าวกระแสลบว่า ที่นั่นก็ไม่ทำ ที่นี่ก็ไม่ให้ความร่วมมือ จนข่าวพวกนี้โดดเด่นเด่น และเกิดรู้สึกในสังคมว่า “ก็ไม่เห็นว่าใครเขาซีเรียส”
ถ้าเป็นเช่นนั้น ไม่เพียงกลุ่มคนที่เพิกเฉย social distancing จะรู้สึกว่าตน“มาถูกทาง”เท่านั้น ยังอาจจะมีคนที่เป็น good citizen อยู่แล้ว เลิกอดทน เปลี่ยนใจไปเข้าพวกเพิ่มขึ้นอีก
ทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นทางแก้สำหรับเคสเพิกเฉยที่ไม่รุนแรงนัก เพราะที่จริงแล้ว พวกเขาไม่ได้มีเจตนาร้าย
แต่ยังมีคนอีกประเภท ที่ตั้งใจต่อต้านจริงๆ และบางกรณีก็เป็นการต่อต้านแบบ “by default” เสียด้วย คือ ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่เห็นด้วยไปหมด ต่อต้านไปหมด
ทางจิตวิทยาเรียกการต่อต้านเมื่อถูกบอกให้ทำว่า “reactance” ที่จริงแล้ว ไม่ว่าใคร ก็คงไม่ชอบถูกสั่งให้ทำตาม แต่ในคนส่วนใหญ่ ก็จะยึดเหตุผลและความเหมาะสมเป็นหลัก ถ้าสมเหตุผล ก็จะยอมทำตาม เพราะในที่สุดตนเองน่าจะได้ประโยชน์ต่อตนเองพร้อมไปกับส่วนรวมด้วย
อย่างเช่น ทุกคนที่ผ่านวัยรุ่น หรือกำลังอยู่ในวัยรุ่น ย่อมรู้ดีว่า ในบางครั้งพ่อแม่หรือครูอาจารย์บอกอะไรมา เรามักอยากจะทำตรงข้ามอยู่เรื่อย ซึ่งในสถานการณ์ที่วิกฤติ พฤติกรรม reactance เช่นนี้จะหลีกทางให้กับเหตุผล จึงไม่ใช่ปัญหา
แต่ในบางคนและบางเหตุการณ์ จะทำตรงข้ามกับที่บอกทันที แม้ว่าจะเป็นผลร้ายกับตนเองก็ตาม
กลุ่มคนที่มีอาการ reactance by default ต่อต้านอยู่ตลอดเวลา อะไรๆก็ไม่เอา อะไรๆก็ไม่ดีพอ โดยไม่มีเหตุผลที่เป็นตรรกะ คือกลุ่มที่สร้างปัญหาที่สุดในยามวิกฤติ และยังคงเป็นภาระของส่วนรวมที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงยาก โดยทั่วไปแล้วสาเหตุลึกๆมาจากความรู้สึกไม่มั่นใจในตนเองอย่างแรง จึงทำให้แสดงออกในลักษณะ overcompensate หรือ ชดเชยกลบเกลื่อน ราวกับเป็นคนมั่นใจมาก
ในวิกฤติการณ์โควิดนี้ เราได้แต่หวังว่าคนกลุ่มนี้คงมีจำนวนไม่มากนัก