โดยธรรมเนียมดั้งเดิม คนที่เป็นแฟนกันแล้ว ถึงจุดหนึ่งก็จะแต่งงาน หรือถ้ายังไม่แต่งงาน ในสังคมที่เปิดกว้าง รวมถึงสังคมไทยสมัยใหม่ ก็จะย้ายมาอยู่ด้วยกันเป็นเรื่องปกติ หรือที่เรียกว่า “co-habitation” ซึ่งในหลายเคส ก็ใช้ชีวิตแทบไม่ต่างจากคู่ที่ประกาศแต่งงานแล้วอย่างเป็นทางการ
แต่มีบางคู่ ที่เป็นแฟนกันแล้วอย่างจริงจัง แต่เลือกที่จะต่างคนต่างอยู่ แยกกันอยู่ไปเรื่อยๆอย่างไม่มีกำหนด และพอใจในสภาพนั้น โดยไม่คิดจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งดูเหมือนจะแย้งกับธรรมชาติของมนุษย์ที่เคยเป็นมาตั้งแต่เกิด civilization แต่กลายเป็นว่า เทรนด์ LAT นี้กำลังมาแรงจนเป็นรูปแบบหนึ่งของชีวิตคู่ที่กำลังแพร่หลาย
Bella Depaulo นักจิตวิทยาดังจาก Harvard เจ้าของหนังสือ SIngle Out เกี่ยวกับคนโสด และบทความอีกมากมาย อธิบายที่มาของ LAT ว่า มาจากวิวัฒนาการของการใช้ชีวิตคู่ ที่เริ่มจาก “co-habitation” คืออยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงาน ซึ่งในอดีตเป็นเรื่องต้องห้าม ถูกประนาม แต่แล้วปัจจุบันเป็นเรื่องธรรมดา ในเมืองไทย ก็ไม่มีใครหลงยุคเอามานินทากันแล้ว ส่วนในอเมริกา ปี 1950 ทั้งประเทศมี co-habit อยู่ 5 แสนคู่ มาใน 2012 มี co-habit เพิ่มเป็น 7 ล้านคู่ ในหลายประเทศก็เช่นกัน
แต่แล้ว กระแส co-habit ก็เริ่มตีกลับ ความนิยมยังเพิ่มขึ้นจริง แต่เป็นในอัตราที่ลดลง สันนิษฐานว่า เป็นเพราะ เมื่ออายุของการแต่งงานมากขึ้นจาก 20-22 เป็น 27-29 ผลคือ ผู้หญิงเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ทำให้ต้องการความเป็นอิสระและความก้าวหน้ามากขึ้น เพราะโดยปกติแล้วการอยู่ด้วยกัน ย่อมหมายถึงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมเสียสละ ซึ่งที่ผ่านมามักเป็นผู้หญิง โดยยอมย้ายที่อยู่ตามการทำงานของผู้ชาย แต่ในยุคหลังไม่ใช่แล้ว ต่างคนต่างทำงาน และหวงแหนความก้าวหน้าพอๆกัน เลยไม่อยาก co-habit
อีกสาเหตุคือ lifestyle ที่เปลี่ยนไป มีงานวิจัยพบว่า สังคมที่ dynamic มากขึ้น ทำให้ชีวิตคู่ยุคหลัง millennium ไม่ได้ใกล้ชิดกันเหมือนสมัยปี 1980 คู่ที่แต่งงานในปี 2000 ไม่ได้กินอาหารด้วยกันบ่อยเหมือนสมัยเดิม ไม่ได้มีเพื่อนฝูงและสังคมร่วมกันเหมือนสมัยโน้น แต่ละคนมีชีวิตของตนเองมากขึ้น ไม่ได้เป็น “ชีวิตหนึ่งเดียว” เหมือนเมื่อยี่สิบปีก่อน แน่นอนว่า ใน 2020 ยิ่งน่าจะแยกกันใช้ชีวิตมากขึ้นอีก
เมื่อสภาพชีวิตคู่ในยุคหลังก็ไม่ได้เป็น “หนึ่งเดียว” อยู่แล้ว ปรากฏการณ์ LAT จึงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ทำให้ LAT กลายเป็นคำตอบของหลายๆคู่ ทั่วโลก ประมาณว่า 7-10% ของคนที่เป็นแฟนกัน เป็น LAT

งานศึกษาของ Duncan และ Phillips ที่อังกฤษเมื่อปี 2006 “LAT - How diffrent are they?” พบว่า คนที่เลือก LAT เหมือนกันตรงที่ “มีแฟน ไม่ทิ้งเพื่อน” โดยได้ทดลองตั้งคำถาม ใช่-ไม่ใช่ เกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับเพื่อนฝูง เช่น “เมื่อคุณเจอเรื่องไม่สบายใจ เพื่อนคือที่ปรึกษาของคุณ” หรือ “เพื่อนคือที่พึ่งในยามลำบาก” ฯลฯ พบว่า ชาว LAT ให้ความสำคัญของการมีเพื่อนมากกว่าชาว co-habit หรือ คนที่แต่งงานอยู่ด้วยกัน
ยิ่งคำถามสำคัญว่า “ความสัมพันธ์จะยิ่งดี เมื่อต่างฝ่ายต่างเคารพความเป็นอิสระต่อกัน” ชาว LAT เทคะแนนให้มากกว่าชาว co-habit และ คนแต่งงานอยู่ด้วยกัน อย่างชัดเจน
จากงานศึกษานี้ อาจสรุปได้ว่า LAT คือคนที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับการใช้ชีวิต balance ระหว่างชีวิตคู่และชีวิตส่วนตัว โดยหวังว่าจะได้สิ่งที่ดีที่สุดจากทั้งสองด้านหรือ the best of both worlds ไม่ต้องการ compromise หรือได้อย่างเสียอย่าง แต่จะเก็บไว้ทั้งสองอย่าง
สอดคล้องกับทัศนะที่ว่า ในชีวิตคู่ ความสัมพันธ์ในแต่ละคู่ย่อมมี “ระยะห่างที่เหมาะสมที่สุด” หรือ “optimum distance” ที่ไม่เหมือนกัน ไม่จำเป็นว่า อยู่ใกล้ชิดกันจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด อยู่ห่างกันอาจดีกว่าก็ได้ แล้วแต่คู่ แล้วแต่สถานการณ์ ที่จะบอกว่า ควร set optimum distance ห่างแค่ไหน
จากการสัมภาษณ์คน LAT 50 คู่ โดย Duncan แห่ง University of Bradford ได้ความว่า หลายคู่ที่เลือกไม่อยู่ด้วยกันเพราะ ถึงแม้จะรักกันก็ตาม ไม่สามารถทนกับ lifestyle หรือรสนิยมที่ต่างกันได้ และ LAT เป็นหนทางที่ใช้หลีกเลี่ยงปัญหานี้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ใช้ LAT set optimal distance ที่เหมาะสมนั่นเอง
ปัญหา lifestyle ไม่ตรงกันที่พบจากการสัมภาษณ์นั้น ดูเผินๆอาจไม่สำคัญ เช่น แฟนนอนไม่เปิด heater/แอร์, ทำห้องรก, ไม่หมั่นซักผ้า, เปิดทีวีรบกวนสมาธิ, ฯลฯ แต่เรื่องเล็กน้อยเหล่านี้เอง ที่อาจสะสมจนวันหนึ่งกลายเป็นเชื้อเพลิงกองโต ถูกจุดชนวนลุกลามเป็นเรื่องใหญ่ได้ โดยเฉพาะหลังจากอยู่ด้วยกันไประยะหนึ่ง อะไรที่เคยดูน่ารัก ก็อาจดูน่ารำคาญ หรือถึงไม่มีเรื่องทะเลาะกัน แต่พอเจอหน้ากันตลอดเวลา ก็ชักหมดเรื่องคุย เกิดความจืดชืด
คนที่เลือกชีวิตแบบ LAT หวังว่า เมื่อสามารถหลีกเลี่ยงปัญหายิบย่อยเหล่านี้ได้ ก็น่าจะสามารถไป focus ที่ความรู้สึกดีๆที่มีต่อกัน หรือในเรื่องที่สำคัญกว่า มีสาระกว่า ทำให้ ชีวิตคู่น่าจะมีความเสี่ยงน้อยว่า มีเนื้อหาหรือ content ที่แน่น เพราะมีเรื่องกวนใจหรือ noise น้อยลง อีกทั้งต่างสามารถจัดการชีวิตส่วนตัวได้อย่างอิสระ
แต่ LAT จะดีจริงหรือไม่จริงนั้น คงสรุปยาก เพราะแต่ละคนแต่ละคู่ก็ไม่เหมือนกันอีก แน่นอนว่าหลายคนที่อยู่ด้วยกันก็มีชีวิตที่ดี และชาว LAT เองก็ยังเป็นส่วนน้อยอยู่ Joshua Klapow นักจิตวิทยาดัง เจ้าของรายการ Klapow Show หรือ Toni Coleman นักจิตวิทยาดังเชี่ยวชาญด้านการหย่าร้าง มีความเห็นพ้องกันว่า ไม่สามารถฟันธงไปได้ง่ายๆว่า LAT ดีหรือไม่ดี เพราะเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับรายบุคคล
ที่น่าสนใจอีกคือ งานศึกษาของ Jacquelyn Benson แห่ง University of Missuri รายงานว่า ในโลกปัจจุบัน ที่คนอายุมากยังมีสุขภาพดีพอที่จะมีแฟนใหม่ หรือสามารถมีชีวิตที่โรแมนติกได้ไม่ต่างจากคนอายุน้อย กำลังหันไปเลือกชีวิต LAT อย่างเป็นประวัติการณ์ แถมยังเป็น LAT อย่างยั่งยืนเสียด้วย เพราะในครึ่งหนึ่งของคนอายุ 55-79 ใช้ชีวิตแบบ LAT มาแล้ว 9 ปี ส่วน Huijing Wu ที่ Bowling Green State University พบว่า 39% ของคนอายุ 50 ขึ้นไปที่เป็นแฟนกัน ดำเนินชีวิตแบบ LAT
อะไรทำให้ LAT มาแรงในคนอายุมาก? เป็นไปได้ไหมว่า ผู้อาวุโสมองเห็นโลกมานาน เรียนรู้มามาก เลยมองเห็นอะไรดีๆใน LAT?
Benson มีคำตอบนี้ เธอพบว่า คนอายุมาก 60-88 ปีหลายคนมีอาการ “เข็ด”จากชีวิตการแต่งงานเก่า และตั้งใจเลือก LAT เพราะชอบจริง ไม่ใช่เพราะความสะดวก เช่นขี้เกียจย้ายที่อยู่ ส่วนเรื่องการป่วยนั้น ไว้เมื่อเวลาคนหนึ่งป่วย ค่อยไปหาหรือไปอยู่ด้วยเพื่อช่วยเหลือ แต่จะไม่ยอมอยู่ด้วยกันตั้งแต่แรก โดยเฉพาะฝ่ายหญิงที่เคยทำหน้าที่ปรนนิบัติสามีในอดีตบอกว่า “ไม่เอาอีกแล้ว”
ในภาพใหญ่ ความกังวลของปรากฏการณ์ LAT ของโลกไปตกกับคนอายุน้อยระหว่าง 20-30+ ที่เป็นสัดส่วนของชาว LAT มากที่สุด เพราะถ้าหากในโลกมีความนิยม LAT มากขึ้นเรื่อยๆ น่าจะหมายถึงการเลือกที่จะไม่มีลูก และนั่นอาจทำให้ประชากรไม่พอใช้ เพราะที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ในบางประเทศก็เริ่มขาดคนทำงานแล้ว
LAT จึงเป็น “new normal” สำคัญที่ต้องจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการวางแผนสังคมระดับชาติ หรือคนที่กำลังคิดจะมีแฟน