และมีไม่น้อย ที่ปัญหานั้นได้ถูกแก้ไขเรียบร้อยไปแล้วอย่างเงียบๆ ทำให้ไม่มีใครคิดว่าเคยมีปัญหานั้นเกิดขึ้น เพราะเหตุการณ์ดูเหมือนปกติทุกอย่าง
สภาพนี้เป็นความย้อนแย้งหรือ paradox อย่างหนึ่ง ที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ในครอบครัว ที่ทำงาน ไปจนถึงระดับประเทศ แถมอาจเกิดขึ้นบ่อยครั้งโดยไม่รู้ตัว เพราะเรามองไม่ออก มองข้ามไปอยู่บ่อยๆ
เราอาจเรียก paradox นี้ว่า unseen success คือ paradox ของความสำเร็จที่มองไม่เห็น ในขณะที่ความสำเร็จส่วนใหญ่จะปรากฏให้เห็นก็ตอนที่สำเร็จแล้ว แต่กรณีนี้คือ การที่มองไม่เห็นว่าทำสำเร็จแล้วนั่นเอง ที่แสดงว่าทำสำเร็จ!
unseen success ยังทำให้เกิดอีก paradox นั่นคือ คนทำได้ ทำดีกลับถูกมองว่าไม่ดี หรือไม่ได้เครดิตใดๆ
คนที่มองเห็นปัญหาแต่แรกและพยายามแก้ไขพร้อมกับเป็นคนบอกเตือนใครๆให้รับรู้ปัญหา หรือที่เรียกว่า คนเป่านกหวีดเตือน “whistleblower” กลับถูกคนอื่นมองว่า เขาเองนี่แหละคือตัวปัญหา คิดมากกังวลมากเกินเหตุ และถึงแม้ผู้นี้ลงมือแก้ไขปัญหาจนลุล่วงสำเร็จ ก็ยังไม่มีใครมองเห็นอยู่ดีถึงความดีที่ทำไป เพราะเหตุการณ์ที่ยังคงปกติคงเดิม เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นนี่เอง คือความสำเร็จในการแก้ปัญหา
แน่นอนว่า คงเป็นเรื่องยาก ที่คนเราจะแสดงความชื่นชมในเรื่องเชื่อว่าที่ไม่เกิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้ หลายต่อหลายครั้งที่ unseen success จึงเกิดขึ้นและถูกมองผ่านไป เหมือนไม่ได้มีความสำคัญ ทั้งที่ความราบรื่นของชีวิตส่วนตัว ครอบครัว ที่ทำงาน องค์กร ไปจนถึงประเทศ อาจมาจาก unseen success จำนวนไม่น้อยทั้งเล็กๆและใหญ่ ที่ไม่มีใครให้ความสำคัญ เพราะไม่มีใครมองเห็น
มาตรการ IT security ขององค์กร ที่ดูน่ารำคาญจนใครๆก็บ่นว่าทำให้ไม่สะดวกกับการทำงาน อาจเป็น unseen success ก็ได้ เพราะท่ามกลางเสียงบ่นของ users ก็ยังไม่มีเหตุการณ์รุกล้ำระบบใดๆ เหตุการณ์ปกติ หรือในเรื่องชีวิตประจำวัน แฟนน้อยใจเพราะไม่พาไปกินดีเที่ยวหรูเสียที แต่เพราะความไม่หรูนี่เอง ที่ทำให้ทั้งคู่ดำเนินชีวิตปกติได้สบายๆ ไม่เดือนร้อนเรื่องเงิน
แต่ถ้าไม่มี unseen success หมายความว่าอะไร? และอะไรจะเกิดขึ้น?
หากการแก้ไขปัญหาแต่แรกไม่ได้รับการสนับสนุน ถูกขัดขวาง จนไม่ได้รับการแก้ไข เหตุการณ์ที่ดูปกติก็จะดำรงต่อไปไม่ได้นาน และปัญหาก็จะปรากฏชัดเจนขึ้นมาเอง ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ก็อาจสายไปเสียแล้วที่จะทำอะไรได้
เมื่อนั้นคนหลายคนอาจมองย้อนอดีตว่า คนที่เป็น whistleblower เคยถูกมองว่าตื่นเต้นเกินเหตุนี่เองคือฮีโร่ตัวจริง ทว่าก็เป็นฮีโร่ที่ตอนนี้ทำอะไรไม่ได้เสียแล้ว เพราะสถานการณ์ในยามนี้อาจเลยความสามารถใครๆที่จะแก้ไขได้ ดีไม่ดีฮีโร่นี้มาเสียชื่อครั้งที่สองอีกด้วยซ้ำ หากถูกเชิญให้มาแก้ปัญหาแล้วแก้ไม่ได้
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่เกี่ยวกับ การไม่เกิด unseen success ก็คือสถานการณ์โควิด-19 นี่เอง
หากทางการจีนยอมฟัง หมอ Li Weanling และแพทย์อีกหลายคนที่ออกมาเตือนเรื่องโรคระบาดใหม่สายพันธ์ coronavirus ในปลายปีที่แล้ว และดำเนินมาตรการ lockdown ในทันทีที่เมืองหวูฮั่น การระบาดก็อาจจะจำกัดในวงแคบ และอาจเงียบสงบไปในเวลาไม่นาน คนส่วนใหญ่ก็คงไม่รู้จักโควิด-19 หรืออาจไม่มีชื่อนี้ด้วยซ้ำ เพราะอาจโรคสายพันธุ์ coronavirus ใหม่นี้อาจถูกเรียกแค่ “coronavirus ตัวใหม่” ที่ระบาดเล็กๆในเมืองหวูฮั่นและจบลงในเวลาอันสั้น
โลกอาจจะมองจีนว่า ทำเกินกว่าเหตุในการจำกัดเสรีภาพของพลเมืองชาวหวูฮั่นไม่ให้ออกจากบ้านหรือห้ามการเดินทางเข้า-ออกเมืองหวูฮั่น และอาจมองว่ามาตรการ lockdown และ social distancing ขนาดนั้น จะทำได้ก็เฉพาะในประเทศที่ปกครองแบบจีนเท่านั้น
กลายเป็น unseen success ที่เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป ชีวิตบนโลกก็จะดำเนินต่อไปเหมือนที่เคยเป็น
หรือในประเทศใดก็ตาม หากมีมาตรการ lockdown ตั้งแต่แรกที่เกิดการระบาดที่จีน ก็อาจจะถูกมองว่าเกินความจำเป็น และแทบจะเป็นไปไม่ได้ในทางการเมืองที่มีมาตรการเข้มตั้งแต่การระบาดแรงๆยังไม่มาถึง เพราะประชาชนคงไม่สนับสนุน ยิ่งเป็นประเทศตะวันตกที่ระยะทางห่างไกลจากเอเชีย และยึดมั่นในเสรีภาพส่วนบุคคลแล้ว ยิ่งเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้
จนกระทั่งสิ่งที่ถูกมองว่ามากเกินไป รับไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ กลายเป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ กลายเป็น new normal จนมีความเห็นพลิกกลับว่า ทำไมรัฐบาลไม่มีมาตรการเข้มต้้งแต่แรก ไม่งั้นก็ไม่ต้องเสียหายขนาดนี้

เรื่องนี้ แพทย์หญิง Abraar Kran แห่ง Harvard Medical School เขียนลงใน Vox ว่า สำหรับเรื่องมาตรการการป้องกันโรคระบาดนั้น ความย้อนแย้งแย้งหรือ paradox ของเรื่องนี้อยู่ที่ “ต่อให้เราทำได้สำเร็จจริง ก็ไม่รู้อย่างชัดเจนหรอกว่า ที่สำเร็จได้นั้นเป็นเพราะการกระทำของเราหรือไม่” เพราะว่าความสำเร็จอาจมาจากปัจจัยอย่างอื่นด้วย ทั้งที่รู้ ยังไม่รู้ และไม่มีทางรู้
และนั่นทำให้ การใช้มาตรการป้องกันแรงๆกับโรคระบาดเป็นเรื่องยากที่จะโน้มน้าวสังคมได้ เพราะหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเองก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ทำแบบนี้ แบบนั้น แล้วจะได้ผลแน่ๆ
อย่างเช่น การปูพรมระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนควรจะได้ผล แต่เมื่อใดที่เชื้อโรคกลายพันธ์ุใหม่ วัคซีนก็อาจไม่ได้ผล หรือ มาตรการ lockdown อาจเอาไม่อยู่ก็ได้ หากเจอคนที่ติดเชื้อปิดบังข้อมูลหลายคนพร้อมๆกัน หรือสังคมใดทำ social distancing อย่างจริงจัง แต่กลับไม่นิยมล้างมือ ก็ไปติดเชื้อจากการสัมผัสวัตถุแทน เป็นอันไม่สำเร็จ
นั่นคือ มาตรการป้องกันอย่างการฉีดวัคซีนหรือ social distancing เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ไม่จำเป็นว่า สิ่งที่ถูกต้องจะต้องให้ผลตามที่คาดเสมอไป
ปัญหาคือ คนส่วนใหญ่มักถือว่าว่า ถ้าเป็นมาตรการหรือการกระทำที่ถูกต้องแล้ว ย่อมต้องได้ผล ซึ่งไม่ใช่
เพราะถ้าคิดเช่นนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับบอกว่า หากคนกินเหล้าเมา สามารถขับรถถึงบ้านได้อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ ย่อมหมายถึง การกินเหล้าเมาแล้วขับรถนั้นเป็นการกระทำที่ถูกต้องปลอดภัย
แต่นั่นเป็นตรรกะที่คนส่วนใหญ่เอามาใช้โดยไม่รู้ตัว เพราะหากมาตรการใดออกมาแล้ว ไม่ได้ผล คนส่วนใหญ่ก็จะลงความเห็นทันทีว่ามาตรการนั้นไม่ดี
ความคิดเช่นนี้ทำให้การดำเนินมาตรการป้องกันการระบาดเป็นเรื่องที่อ่อนไหว นักการเมืองก็ไม่อยากดำเนินการจริงจัง เพราะประชาชนอาจต่อต้าน หากทำไปก็เอาตัวเข้าไปเสี่ยงเปล่าๆ แต่ถ้ายังไม่ทำ ก็แค่เสมอตัว ไม่ค่อยมีใครต่อว่า
หรือถ้ากล้าทำ ก็อาจทำไม่ได้ทำเต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะในช่วงต้นของสถานการณ์ที่สังคมยังไม่เห็นความจำเป็นว่าต้องออกมาตรการเข้มข้นขนาดนั้น
ที่สังคมมักไม่เห็นความจำเป็นก็เพราะ คนส่วนใหญ่ประเมินความเสี่ยงจากสภาพที่เป็นในปัจจุบัน ซึ่งตอนนั้นอาจจะดูไม่มีอะไรน่าห่วงมากมาย ทั้งๆที่ “ความเสี่ยง” เป็นเรื่องในอนาคตข้างหน้าอันไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นนาทีอันใกล้ หรือหลายปีอีกไกลก็ตาม
เมื่อเป็นดังนี้ unseen success จึงไม่เกิด เพราะไม่มีใครกล้าทำให้เกิด และคนส่วนใหญ่ไม่ยินยอมให้เกิด ผลคือปัญหาที่สะสมไว้ก็จะมาปรากฏในตอนหลัง
ซึ่งก็เป็น paradox อีกประการหนึ่งอีก นั่นคือ เป็น success ที่พึงประสงค์ แต่การไปสู่ success นี้ในยามนั้นเป็นสิ่งไม่พึ่งประสงค์
ประเด็นนี้หวนกลับมาอีกรอบ เพราะเมื่อมาตรการ lockdown ได้ดำเนินไประยะหนึ่ง ก็ต้องมีการคิดว่า “exit strategy” จะทำอย่างไร มีเงื่อนไขอย่างไร จะเปิดแค่ไหน เตรียมเรื่องสาธารณสุขอย่างไร ทำ test คัดกรองผู้ป่วยไปแค่ไหน หรือ “flatten the curve” ได้แค่ไหน เพราะการ lockdown ภายในประเทศอย่างแรงนั้น ไม่ว่าประเทศไหนก็ตาม ไม่มีทางทำได้ยาว และวัคซีนกว่าจะได้ คาดว่าต้องรอไตรมาสที่สองของปีหน้า หรืออีก หนึ่งปีนับจากนี้ เป็นอย่างเร็วสุด
ทำให้น่าเป็นห่วงว่า การออกแบบ exit strategy ของประเทศต่างๆนั้น จะให้น้ำหนักบนหลักการที่มาจากความรู้ของการระบาดโรคและเศรษฐกิจ หรือ ความกดดันจากอารมณ์สังคม
เพราะ exit strategy ที่เหมาะสม อาจเป็น unseen success ที่ในเวลานั้น ไม่มีใครกล้าทำให้เกิด และคนส่วนใหญ่ไม่ยินยอมให้เกิด ก็เป็นได้