OPINION

แต่งงานอย่างไรให้ไม่เป็นหนี้

หัสสยา อิสริยะเสรีกุล
27 พ.ค. 2560
“เมื่อไรงานแต่งจะพ้นๆไปสักที เหนื่อยเหลือเกิน” นี่คือคำพูดที่เราได้ยินบ่อยๆจากเพื่อนๆบ่าวสาวในช่วงเตรียมงานแต่งงาน
 
เชื่อว่าคนคบกันทุกคู่ก็คงอยากแต่งงาน อยากเริ่มต้นชีวิตคู่อย่างสวยงาม แต่พอถึงวันนั้นขึ้นมาจริงๆ การแต่งงานกลับไม่ได้เป็นเรื่องของคนสองคน แต่กลายเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พ่อแม่และวงศ์ตระกูล แล้วทำยังไงดีล่ะ ที่จะควบคุมไม่ให้ค่าใช้จ่ายบานปลาย จนท้ายที่สุดแล้วงานแต่งงานได้สร้างหนี้มหาศาลในช่วงเริ่มต้นของชีวิตคู่
ฉันคงบอกวิธีอย่างชัดเจนไม่ได้ เพราะว่านี่ตัวเองก็ยังไม่ได้แต่ง แต่ด้วยความที่ปีที่ผ่านมา มีคนสนิทรอบตัวแต่งงานมากมายเหลือเกิน จึงอยากที่จะรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจที่ได้รู้มาแล้วนำบอกต่อแล้วกัน
 
มาตรฐานการใส่ซองของคนธรรมดา มนุษย์เงินเดือนแถบกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ สถานที่จะเป็นโรงแรมหรู หรือสตูดิโอธรรมดา ก็เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 1,000 บาท หากจะมีมากกว่านี้ ก็คงเป็นผู้ใหญ่ หรือญาติสนิท หรือหากจะน้อยกว่านี้ เอาตามตรงก็คงมีความเก้อเขินเวลาเจ้าภาพเปิดซองอยู่สักหน่อย
ยกตัวอย่างราคาค่าจัดงานแต่งงานของโรงแรม 5 ดาว แห่งหนึ่งย่านสาทรเหนือ
อาหารแบบค็อกเทลราคาอยู่ที่ 1,100-1,500 บาท ต่อหัว ขั้นต่ำ 200 คน
โต๊ะจีน 1,400 บาท ต่อหัว
นั่นหมายความว่า ถ้ามีแขกใส่ซองคนละ 1,000 บาท เท่ากับว่าเจ้าภาพขาดทุนแล้วแน่ๆ 100-500 บาทต่อหัว
ถ้างานเชิญแขก 200 คน ก็จะขาดทุน 20,000- 100,000 บาท
ถ้า 500 คน ก็จะขาดทุน 50,000- 250,000 บาท
โรงแรม 5 ดาว บางแห่งมีค่าสถานที่แยกออกไปอีกเป็นแสน ไม่รวมค่าชุดบ่าวสาว ค่าตกแต่งสถานที่ ค่าช่างภาพ ค่าสินสอด ค่าแหวนหมั้น ค่าออแกไนเซอร์ ค่าการ์ด ค่าเค้ก ค่าเปิดขวด และอื่นๆอีกมาก
 
แล้วถ้าไม่แต่งที่โรงแรม 5 ดาว แต่เป็นสตูดิโอชิคๆ หรือร้านอาหารสวยๆล่ะ เค้าคิดค่าใช้จ่ายกันอย่างไร
สตูดิโอชิคกะด้าวแถบรามอินทรา คิดค่าสถานที่ที่รองรับแขกได้ 150-350 คนในราคา 150,000 บาท ไม่รวมค่าอาหาร ที่หากเลือกนำเข้ามาเองก็บูทละ 10,000 บาท บวก ค่าออแกไนเซอร์อีกราว 6-80,000 บาท ว่ากันไป
ร้านอาหารแสนเก๋แถบสุขุมวิท รองรับแขกได้ 100-180 คน คิดค่าสถานที่ 60,000 บาท บวกบุฟเฟต์อาหารหัวละ 1,200 บาท
 
เราไม่ได้บอกว่างานแต่งงานมีแต่จะขาดทุน เพราะก็มีหลายคู่ที่หลังงานแต่งแล้วได้เงินไปใช้ตั้งต้นชีวิตด้วยซ้ำ เอาเป็นว่ามันมีวิธีของมัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกแบบไหน และพึงพอใจในจุดใดมากกว่า
และเราก็ไม่ได้บอกว่าการแต่งงานคือธุรกิจที่แสวงหาผลกำไร แต่ในสังคมทุกวันนี้ มีคนหลายคู่เหลือเกินที่มีความสุขในวันแต่งงาน แต่ท้ายที่สุดก็ต้องเป็นทุกข์เพราะหนี้ก้อนโตหลังงานเสร็จสิ้น คงต้องยอมรับ ว่าฐานเงินเดือนโดยมากของพนักงานออฟฟิศในวัยหนุ่มสาวที่กำลังเริ่มต้นใช้ชีวิตนั้น มันอาจไม่มากพอที่จะเนรมิตงานแต่งให้สวยงาม ใหญ่โต เว้นแต่จะพึ่งบุพการี นั่นก็เท่ากับว่า คนเป็นพ่อแม่ต้องให้เงินก้อนใหญ่กับลูกในช่วงตั้งต้นชีวิต สำหรับครอบครัวที่มีพอมันคงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่สำหรับครอบครัวที่ไม่มี มันก็เท่ากับการกู้หนี้ยืมสินใช่หรือไม่
แล้วสิ่งที่คู่รักอาจจะทำได้คืออะไร
ตั้งงบประมาณของงานแต่งงานให้ชัด แล้วทำตามให้ได้ เช่น งานครั้งนี้ต้องดีที่สุด คนเราแต่งครั้งเดียวในชีวิต ขาดทุนไม่เป็นไร หรือ.. งบประมาณมีเท่านี้ จัดได้ไม่เกินเท่านี้ ไม่ดีที่สุดไม่เป็นไร สำคัญคือต้องทำตามงบให้ได้ นอกจากนี้แล้ว การมีคอนเนคชั่นที่ดี จะสามารถเซฟงบได้หลายทาง เช่น ได้ลดค่าสถานที่ ค่าตากล้อง หรือกระทั่งชุดบ่าวสาว
สำหรับคู่ที่ซีเรียสเรื่องซอง คุณควรคัดกรองแขก โดยเฉพาะอย่างยิ่งญาติผู้ใหญ่ที่อาจไม่ได้มาร่วมงานแต่ฝากซองมาเป็นก้อนโต ในข้อนี้เราต้องทำใจด้วยว่าถึงคราวของเขา ผู้ใหญ่ฝ่ายเราต้องจ่ายคืนเหมือนกัน บางคู่ บางบ้านมีการจดเอาไว้อย่างชัดเจนด้วยนะ
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า นี่คืองานแห่งความสุข คุณอยากให้พ่อแม่มีความสุข อยากให้เพื่อนๆญาติๆ ได้มาเฉลิมฉลองในวันสำคัญไม่ใช่เหรอ ดังนั้น ไม่ควรลืมที่จะทำใจให้สบาย และปล่อยวางในบางจุด
งานแต่งงาน จะเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขในชีวิตคู่ หรือจุดเริ่มต้นของหนี้ก้อนโต คุณสามารถเลือกเองได้ 
 
About the Author
เป็ดที่ผ่านงานในวงการบันเทิงมาแล้วทุกแบบ ทั้งนักร้อง นักแสดง พิธีกร ดีเจ นักพากย์.. แต่ตอนนี้กำลังสนุกกับบทบาทใหม่ในฐานะพิธีกร New Gen ของเจาะใจ พ่วงด้วยบทบาทเบื้องหลังใน Johjaionline.com แบบเต็มตัว
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ผู้คนสมัยนี้ไม่ค่อยตกหลุมรักกันจากการพบเจอตามสถานที่ต่างๆ  เราอยู่ในสังคมก้มหน้าที่คนในสมาร์ตโฟนดูจะน่าสนใจกว่าคนข้างหน้าหรือคนข้างๆ สิ่งเหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้แอปพลิเคชั่นเหล่านี้ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ
เคยสงสัยกันไหมว่า แล้วที่ประเทศอื่นๆบนโลกใบนี้ เขามีวันแม่แห่งชาติแบบเราคนไทยกันหรือเปล่า