“เวลาที่คนมองมาที่เรา จริงๆ แพทวง KLEAR มันเป็นคนดีกว่าที่เป็นตัวแพทจริงๆเพราะเราไม่ได้เป็นคนดีขนาดที่คนอื่นเขามอง” แพท นักร้องสาวที่เป็นแขกรับเชิญให้เราได้สัมภาษณ์วันนี้พูดถึงตัวเอง
“จริงๆแล้วตัวเรามันก็คนธรรมดามีดีมีเลว แต่ในเมื่อตัวแพท วง KLEAR ตัวนี้ มันเป็นอะไรบางอย่างให้ผู้คนได้ ก็เป็นซะ เหมือนเราใส่ชุดหรือ uniform นี้เราเป็นให้เขาได้ และเรื่องพวกนี้มันก็เป็นกำลังใจที่จะทำให้เราอยู่ใน uniform แพท วง KLEAR ได้อย่างที่เราพอใจ”
ย้อนกลับไปช่วงแรกของการที่ วง KLEAR ภายใต้การก่อตั้งของแพท กับรุ่นพี่ที่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯอีก 3 คน ได้เป็นวงดนตรีของค่าย Genie Record และขึ้นแสดงบนเวทีให้ผู้ชมได้ฟัง
แพท ที่ว่านี้จะขึ้นเวทีแล้วก็ก้มหน้าก้มตาร้อง ร้อง ร้อง อย่างเดียว โดยไม่แม้แต่จะสบตาผู้ฟัง อย่าว่าแต่จะพูดคุยเลย เธอร้องเหมือนกับโกรธใครมาอย่างนั้น เธอเล่าให้ฟังว่า
“มันเหมือนหลายๆ อย่างมาประกอบกัน เพลงก็ไม่ทำงานด้วย มีคนพูดมาให้เรารู้สึกด้วยว่าหน้าตาก็ไม่ดี ลุคไม่ดี เราก็รู้สึกว่าคนดูเขาไม่ได้ต้อนรับเรา เราก็ปิดตัวเองซะ เหมือนเต็มไปด้วยความโกรธและความเสียใจ ทุกครั้งที่ขึ้นเวทีเราก็จะแสดงออกแบบนั้น แล้วเราก็ไม่กล้าที่จะทำอะไรมากบนเวที มันเหมือนแพทร้องเต้นอยู่ในกรงมากกว่า ก็มันได้แค่นี้ กับคนดูก็ไม่คอนเนคท์กันเลย ตัวเองก็ไม่มีความสุขนะ แต่เราก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขหรือทลายกำแพงตรงนั้นของตัวเองออกไปได้”
ก่อนจะพูดถึงว่าแล้วสุดท้ายเธอก้าวข้ามปัญหานั้นมาได้อย่างไร คงต้องย้อนไปดูเส้นทางของชีวิตเธอที่อาจมีส่วนทำให้เธอเป็นแบบนี้
จะว่าไป แพท เติบโตมาในครอบครัวที่ไม่ได้มีปัญหาอะไร พ่อที่เป็นสถาปนิก และ แม่ที่สนิทจนเป็นเหมือนเพื่อน ล้วนให้ความรัก ความใส่ใจกับลูกคนเดียวคนนี้อย่างเต็มที่ เธอได้ทำอะไรหลายๆ อย่างอย่างที่เด็กในวัยเดียวกันไม่ได้ทำ ทั้งเล่นวอลเลย์บอล เรียนเต้นแจ๊ซ รำไทย เทควันโด เรียนเปียโน ร้องเพลง ด้วยความเป็นเด็กชอบกิจกรรมจึงมีโอกาสเป็นตัวแทนนักเรียนไปแข่งทั้งร้องเพลง แข่งกีฬา และแข่งคณิตศาสตร์
“เวลาไปออกค่ายทำกิจกรรมข้างนอกที่คุณพ่อคุณแม่ส่งให้ไปเราก็จะเจอแต่เพื่อนต่างชาติตลอด ถ้าเป็นปิดเทอมเล็กแพทก็จะถูกส่งไปค่ายใกล้ๆ 2-3 อาทิตย์ ถ้าเป็นปิดเทอมใหญ่ก็จะถูกส่งไปต่างประเทศตลอด ก็จะมีเพื่อนต่างชาติเยอะ”
นั่นเลยทำให้เธอรู้สึกเหมือนมีมุมมองอย่างอื่นที่มันกว้างออกไปกว่าคนวัยเดียวกัน จนบางครั้งคุยกับเพื่อนในโรงเรียนไม่รู้เรื่อง รู้สึกว่าเราไม่เข้าใจมุมมองเขา
แพท บอกว่าเธอเป็นคน 2 ร่างในคนเดียวกัน คือ ทั้งเป็นประเภท Introvert คือเก็บตัว ชอบอยู่กับตัวเอง และก็เป็น Extrovert คือทำกิจกรรมกับคนอื่นก็ได้ ไม่ได้โลกแคบอะไร
และถ้าให้ต้องเลือก ก็เลือกที่จะอยู่คนเดียวอย่างมีความสุขได้ นั่นคือการรู้สึกยึดความคิด ความต้องการของตัวเองเป็นสำคัญ
เมื่อได้มีโอกาสทำวงดนตรีกับรุ่นพี่แบบสนุกๆ ตามด้วยหาเวทีได้ขึ้นปลดปล่อยความสามารถ ก็มีคนมาส่งนามบัตรจากค่ายเพลงต่างๆ ให้ลองส่งเดโมให้ฟัง ซึ่งสุดท้ายก็ไม่มีค่ายใดรับ
“เขาบอกเลยว่า ขายไม่ได้ เขาก็พูดตรงๆ นะ เพลงก็ขายไม่ได้ ลุคก็ไม่ได้ หน้าตาก็ไม่โอเค อะไรประมาณนี้ เราก็แบบ..มันเหมือนหวังแล้วผิดหวัง น่าจะเกิน 10 รอบได้”
ตอนที่ตัดสินใจเลิกพยายามหาทางเดินบนเส้นทางดนตรี แพทเรียนอยู่ปี 5 คณะ สถาปัตย์ จุฬาฯ เธอกับรุ่นพี่ของวงไปรวมตัวซ้อมดนตรีเฉพาะกิจกันเพราะคิดถึงมัน พอดีได้เจอ “ต้า วงพาราด็อกซ์” ซึ่งสะดุดหูกับงานเพลงของวง จึงส่งต่อไปหา นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ผู้บริหารแห่งค่าย Genie Record จนได้เซ็นสัญญากับค่ายนี้
ผลงานอัลบั้มแรกล้มเหลวไม่เป็นท่าทั้งๆ ที่ได้ทำอย่างที่ตั้งใจ เพลงที่ร้องแพทก็เป็นคนเขียนเอง ได้เล่นดนตรีแนวที่คิดว่าใช่ แต่ไม่ได้สนใจว่าแล้วคนฟัง “ใช่” ด้วยรึเปล่า ผลลัพธ์ของการตลาดคือ พังโดยสิ้นเชิง เป็นการลงทุนของค่ายที่อยากให้เธอและวงได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น
“ได้ไปเล่นงานดนตรี งานจ้าง เราก็เห็นว่ามันไม่มีคนฟัง ไม่มีคนดู และไม่มีการตอบรับที่ดีจากแฟนเพลง คนฟังเดินออก ตอนนั้นก็กลายเป็นว่ายิ่งเล่นยิ่งเครียด ยิ่งเล่นยิ่งไม่มีความสุข ยิ่งไม่อยากไปร้องเพลง แพทร้องไห้ก่อนขึ้นเวทีตลอดเพราะเราไม่รู้ว่าเราจะทำยังไงให้เขาฟังเรา เลยกลายเป็นว่าเราทั้งโกรธทั้งเสียใจ มันโกรธทั้งข้างนอก โกรธทั้งข้างใน โกรธทั้งคนฟังว่าทำไมเขาไม่ฟังเพลงแบบที่เรานำเสนอ โกรธตัวเองที่ทำไมทำแล้วมันพัง ทำแล้วมันไม่ดี”
ก่อนจะทำอัลบั้มที่สอง เธอพบจุดเปลี่ยนของตัวเธอ เมื่อนิคส่งให้เธอไปพบกับครูสอนการแสดงที่ชื่อ “ครูโอ๋-เบญญาภา บุญพรรคนาวิก” ซึ่งครูบอกว่าปัญหาเธออยู่ที่เดียว คือ mindset
“ครูบอกว่าเวลาเราร้องเพลง ให้เงยหน้าแล้วหาสักคนหนึ่งที่มองหน้าเรา แล้วสบตา แล้วก็ยิ้ม แล้วก็ค่อยๆ ขยายรอยยิ้มให้มันกว้างออกไป พอเริ่มโอเคก็ให้ขยายรอยยิ้มออกไปให้คนที่เขาไม่ยิ้ม เราก็ยิ้มให้เขา เริ่มพูด พูดอะไรก็ได้ ลมฟ้าอากาศ ค่อยๆพูด มันก็ค่อยๆ เปลี่ยนเราไปทีละนิด”
จุดเปลี่ยนที่ทำให้อยากเป็นผู้ให้ มาจากการที่เธอเริ่มถามตัวเองว่า เธอทำเพลงไปเพื่ออะไร สิ่งที่เดินอยู่นี้มันเหมือนวังวนที่ไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องการ เธอจึงบอกสมาชิกว่าขอพักวงและเดินทางไปเรียนต่อที่ สก๊อตแลนด์ แพทมีความรู้สึกว่าถ้าจะกลับมาทำเพลงอีก ก็ต้องทำแบบที่สร้างคุณค่าให้กับตัวเองจึงจะตอบโจทย์ของชีวิต
“เพราะก่อนหน้านั้นชีวิต on the road มันไม่ตอบ การทำเพลงฮิตไม่ตอบ สุดท้ายมันมาจบกับตัวเองว่า ถ้าอย่างนั้นเราต้องสร้าง impact ที่ดีให้กับคนฟังให้ได้ คือเราต้องให้อะไรสักอย่างกับคนฟัง มากกว่าแค่ตัวเพลงให้ได้ มันถึงจะทำให้เราอยู่ตรงนี้ได้ และมี value กับชีวิตเรา”
“เหมือนกับว่าเราต้องเป็น influencer ที่ดีกับคนดูให้ได้ เพราะฉะนั้นคำตอบก็
คือ ถ้าจะเป็น influence ที่ดีให้กับเขาได้ เป็นสิ่งที่ดีให้สังคมได้ สร้าง impact ได้ เท่ากับ คุณต้องดังเท่านั้น”
จุดเปลี่ยนที่ทำให้อยากเป็นผู้ให้ มาจากการที่เธอเริ่มถามตัวเองว่า เธอทำเพลงไปเพื่ออะไร สิ่งที่เดินอยู่นี้มันเหมือนวังวนที่ไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องการ เธอจึงบอกสมาชิกว่าขอพักวงและเดินทางไปเรียนต่อที่ สก๊อตแลนด์ แพทมีความรู้สึกว่าถ้าจะกลับมาทำเพลงอีก ก็ต้องทำแบบที่สร้างคุณค่าให้กับตัวเองจึงจะตอบโจทย์ของชีวิต
“เพราะก่อนหน้านั้นชีวิต on the road มันไม่ตอบ การทำเพลงฮิตไม่ตอบ สุดท้ายมันมาจบกับตัวเองว่า ถ้าอย่างนั้นเราต้องสร้าง impact ที่ดีให้กับคนฟังให้ได้ คือเราต้องให้อะไรสักอย่างกับคนฟัง มากกว่าแค่ตัวเพลงให้ได้ มันถึงจะทำให้เราอยู่ตรงนี้ได้ และมี value กับชีวิตเรา”
“เหมือนกับว่าเราต้องเป็น influencer ที่ดีกับคนดูให้ได้ เพราะฉะนั้นคำตอบก็
คือ ถ้าจะเป็น influence ที่ดีให้กับเขาได้ เป็นสิ่งที่ดีให้สังคมได้ สร้าง impact ได้ เท่ากับ คุณต้องดังเท่านั้น”
จากนั้นสองปี เมื่อกลับมาเธอและวงทำอัลบั้มที่สี่ ซึ่งประสบผลสำเร็จมาก มีเพลงที่คนชื่นชอบหลายเพลง อย่างเช่นเพลง “กระโดดกอด” “สิ่งของ” “พันหมื่นเหตุผล” ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ตรงของเธอในด้านความรักที่ผ่านมาและผ่านไปด้วย มันเป็นบทเรียนให้เธอรู้จักเคารพตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง และเธอก็เอาไปสอนใจให้สติแฟนเพลงของเธอ
“ที่ทำอยู่แล้วก็คือ แพทจะเขียนบทความเกี่ยวกับความรักที่มันอาจจะช่วยให้เขาคิด หรือหลุดออกจากความรักที่ไม่ดี ลงใน FB ซึ่งมีหลายครั้งที่มีคนแชร์ออกไปเป็นหมื่น แค่นี้แพทก็ถือว่ามันดีมากแล้ว เพราะทุกวันที่ไปเล่นดนตรี ก็จะต้องมีคนร้องไห้มาหาเป็นเรื่องปกติ”
นั่นคือภาพที่จั่วหัวเรื่องไว้ คือเธอสวมกอดแฟนเพลงเพื่อให้กำลังใจกันข้างๆ เวที
“ทุกวันนี้แพทเริ่มกอดทุกคน เริ่มสบตา เริ่มพูดคุย ตั้งแต่ตอนแพทกลับมาจากเรียนต่อ เรารู้ว่าเรามีเป้าหมายอะไร เรารู้ว่าเราอยากเป็นส่วนที่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นในวันหนึ่ง เลยกลายเป็นว่าเรารู้สึกว่าเราจะให้อะไรใครได้อีกบ้างในวันนี้ ถ้าเขามาดูเราแล้ว เขาจะมีความสุขมากขึ้นอีกได้อย่างไร
ถ้าเขาร้องไห้เราจะทำอย่างไรได้บ้าง แพทเคยบอกน้องๆ ไปนะ ว่า “...ร้องไห้มันเป็นเรื่องปกติ ยังคิดถึงอยู่ก็ปกติ แต่ไม่ต้องติดต่อหาเขาแล้วไหวไหม เสียใจมาเยอะแล้ว ไม่เสียหน้าไหวไหม...” คือ เหมือนเราก็สอนให้เขาเฮได้ เชื่อพี่ดิ คนใหม่ดีกว่าเยอะ ซึ่งหนูก็รู้สึกว่าแค่นี้แหละที่เราทำได้ในทุกวันที่เราไปเล่นดนตรี”
“แพทก็เคยคุยกับที่ค่ายเหมือนกันนะว่า ถ้ามันมีช่องทางอะไรที่เหมือนได้พูดเรื่องพวกนี้ได้ก็ยินดี เพราะแพทมองว่าการรักษาหัวใจคน รักษาสุขภาพจิตคน เป็นสิ่งที่วง KLEAR ทำได้นะในเรื่องของความรัก หนูเคยคิดเล่นๆ ว่า ถ้าพี่ตูนดูแลสุขภาพร่างกายคน หนูขอดูแลหัวใจนะ ”
ทุกวันนี้เธอมีความสุขจากการที่ได้เปลี่ยนตัวเอง ไม่ใช่เป็นการทิ้งตัวเอง แต่เรียนรู้ที่จะเป็นคนสองร่างให้เกิดประโยชน์ที่สุด ไม่แต่เฉพาะกับตัวเธอ แต่กับคนอื่นๆ เท่าที่เธอจะทำได้
เมื่อถามถึงความฝันในบั้นปลายชีวิต เธอตอบว่า
“จริงๆ ก็ฝันไว้ว่าอยากจะเขียนเพลงสุดท้ายบน daybed ของตัวเอง เพราะแต่ละช่วงชีวิตมันก็มีเพลงในแบบของมันอยู่ สมมุติว่าวันหนึ่งอายุ 75 กำลังจะจากโลกนี้ไป แพทก็จะมีเพลงสุดท้ายที่จะเขียนขึ้นมา เพื่อทิ้งเอาไว้ให้คน และถ้าเป็นไปได้ก็อยากทำอาชีพนี้ไปจนตาย วันนี้คือเลือกแล้ว”
ขออวยพรให้ทางเลือกของ แพท หรือ “รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย” แห่งวง KLEAR คนนี้จงประสบความสุขและสำเร็จ จากการพบตรงกลางของชีวิตและตรงกลางของตัวตนนั่นเอง.