OPINION

วัฒนธรรมการ “ทิป” ในอเมริกา

หัสสยา อิสริยะเสรีกุล
17 มิ.ย. 2560
 
ถ้า “ทิป” มีความหมายตามความเข้าใจของผู้คนทั่วโลกโดยมาก ว่าหมายถึง “เงินพิเศษ” ที่ให้แก่พนักงานนอกเหนือจากค่าสินค้าและบริการ

“เงินพิเศษ” นั่นหมายความว่า ผู้บริโภคมีสิทธิเลือก ว่าจะจ่าย หรือไม่จ่ายก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของสินค้าและบริการที่ได้รับ ใช่หรือไม่

แต่.. ที่ประเทศอเมริกา “ทิป” กลับไม่ใช่ ”ทางเลือก” ที่ผู้บริโภคมีสิทธิเลือก

ใครที่ได้เคยไปใช้ชีวิตที่อเมริกา คงจะคุ้นเคยกับเรื่องแบบนี้ แต่ว่าใครที่เพิ่งเคยไป อาจมีความสงสัยอยู่บ้างว่า ทำไมเราถึงโดน “บังคับ” ให้จ่ายทิป

ค่าอาหารแต่ละมื้อที่ปรากฏในใบเสร็จรับเงินของร้านอาหารที่อเมริกา “ทุกร้าน” จะถูกแจกแจงเช่นนี้เสมอ
  • ค่าอาหาร/เครื่องดื่ม เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่
  • ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม เฉลี่ย 7-10% แล้วแต่รัฐ คิดเป็นเงินเท่าไหร่
  • ค่าทิปที่สมควรจ่าย ถ้าประสงค์จะจ่าย 15% ของค่าอาหาร คิดเป็นเงินเท่าไหร่ ถ้าจะจ่าย 18% หรือ 20% คิดเป็นเงินเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยก็มีขั้นต่ำอยู่ที่ 15%
ถึงตรงนี้บางคนอาจจะคิดว่า “ถ้า” ประสงค์จะจ่าย หมายความว่าเราจะจ่ายหรือไม่ก็ได้ หรือ.. จะจ่ายน้อยกว่า 15% ก็ได้ไม่ใช่หรือ เราอยากบอกว่า ความเข้าใจนั้นมันคือในทางทฤษฎีเท่านั้นค่ะ แต่ว่าในทางปฏิบัตินั้น คุณ “ต้อง” จ่ายทิปขั้นต่ำ 15% ค่ะ

ฉันเคยโดนพนักงานเสิร์ฟเดินตามออกมาหน้าร้าน พร้อมตะโกนเสียงดังประหนึ่งว่าเราลืมจ่ายค่าอาหาร ด้วยคำพูดที่ว่า “กลับมาเดี๋ยวนี้ คุณจ่ายทิปไม่ครบ”!

ช่วงกลางปี 2009 ฉันเพิ่งไปเรียนที่อเมริกาใหม่ๆ ที่เมืองแอตแลนต้า มีอยู่วันนึงไปทานอาหารที่ร้านญี่ปุ่น ทานเสร็จก็เตรียมจ่ายเงิน ในใบเสร็จก็เขียนว่าราคาราเมนอยู่ที่ชามละ 10 เหรียญ บวกภาษีอีก 7% รวมแล้วก็เป็น 10.7 เหรียญ แล้วตรงช่องทิป เขาก็เว้นว่างเอาไว้ เหมือนกับว่าให้เราตัดสินใจเอง ว่าจะให้ทิปเท่าไหร่ ไอ้เราก็ด้วยความเป็นกะเหรี่ยงมาใหม่ ก็เลยไม่เขียนอะไร แล้วทิ้งเศษเหรียญไว้นิดหน่อย จำได้ว่าตอนเดินออกจากร้านวันนั้น โดนพนักงานในร้านมองด้วยหางตาแบบเหยียดหยามมาก ก็ยังคิดอยู่ว่า ฉันไปทำอะไรให้เค้าไม่พอใจหรือเปล่า แต่ก็ยังไม่ได้คิดอะไรมาก จนผ่านไปสักพัก มีโอกาสไปเที่ยวที่เมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก แล้วก็เช่นเคย เดินเข้าร้านอาหารญี่ปุ่นร้านดังที่ต้องต่อคิวกว่าสองชั่วโมง ตอนนั้นไปกันสี่คน ทานเสร็จ ใบเสร็จก็มาวางตรงหน้า ค่าอาหาร 80 เหรียญ บวกภาษีมูลค่าเพิ่มที่นิวยอร์ก 8.875% อีก 7.1 เหรียญ รวมเป็น 87.1 เหรียญ ส่วนช่องทิป เค้าก็คิดเลขมาให้ชัดเจนว่าถ้าให้ทิป 15% คิดเป็นเงิน 12 เหรียญ ถ้า 18% เท่ากับ 14.4 เหรียญ ถ้า 20% เท่ากับ 16 เหรียญ ยูเลือกจ่ายได้เลยไม่ต้องคำนวณเอง ไอ้เราก็คำนวณเป็นเงินไทยเลยว่า 16 เหรียญนี่มันเยอะมากนะ คิดเป็นเงินไทยตั้งเกือบ 600 บาท แค่ค่าทิปเอง จ่ายไม่ถึงก็ได้มั้ง จากนั้นเราก็เลยกำเหรียญทั้งหมดที่มีแล้ววางลงไป พร้อมแบงก์ห้าดอลล่าร์หนึ่งใบ คำนวณจากสายตาคร่าวๆก็น่าจะประมาณ 8 เหรียญ

แต่.. มันไม่จบแค่นั้นค่ะ เรื่องราวมันไม่ง่ายเหมือนตอนที่เราอยู่ในเมืองเล็กๆอีกต่อไป เพราะว่าพอเราทั้งสี่เดินออกจากร้าน พนักงานก็เดินตามพร้อมตะโกนเรียกว่า “ยูจ่ายทิปไม่ครบ กลับมาจ่ายด้วยนะ” บอกตรงๆว่าตอนนั้นเหวอมาก ก็พอเข้าใจว่าการจ่ายทิปในประเทศนี้เป็นเรื่องที่ควรทำ แต่ไม่คิดจริงๆ ว่าจะเป็นเรื่องที่ “ต้อง” ทำ จนโดนตามเรียกขนาดนี้  จำฝังใจเลยล่ะค่ะ
 
นอกจากเรื่องทิปแล้ว ที่นี่ยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลก ที่ราคาอาหาร สินค้าและบริการ “ไม่ได้รวม” ภาษีมูลค่าเพิ่มเอาไว้

เพราะอะไรน่ะเหรอ.. ก็เพราะว่าอเมริกาเป็นประเทศที่มีการปกครองแบบแยกรัฐ ซึ่งแต่ละรัฐทั้ง 50 รัฐ มีการปกครองตัวเองแยกกันออกไป นั่นรวมไปถึงความแตกต่างของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บด้วย เฉลี่ยอยู่ที่ 7-10% แต่บางรัฐ เช่น โอเรกอนก็ Free tax (ได้รับการยกเว้นภาษี) นั่นทำให้ไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าแบบรวมภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างชัดเจนได้

เอาเป็นว่าถ้าคุณผู้อ่านยังไม่เคยไปอเมริกา แล้วกำลังจะมีโอกาสได้ไป ก็อย่าลืมเรื่องนี้แล้วกันนะคะ ไม่อยากให้โดนแบบแพรวจริงๆ ^__^
 
 
About the Author
เป็ดที่ผ่านงานในวงการบันเทิงมาแล้วทุกแบบ ทั้งนักร้อง นักแสดง พิธีกร ดีเจ นักพากย์.. แต่ตอนนี้กำลังสนุกกับบทบาทใหม่ในฐานะพิธีกร New Gen ของเจาะใจ พ่วงด้วยบทบาทเบื้องหลังใน Johjaionline.com แบบเต็มตัว
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ประสบการณ์มันก็เหมือนบาดแผลของชีวิต ที่บางครั้งมันคือแผลเป็น แต่บางครั้งก็ไม่หลงเหลือรอยอะไรไว้อยู่เลย แต่สุดท้ายเราก็จำได้ว่าความเจ็บปวดมันเป็นอย่างไร และเราคงไม่กลับไปทำให้แผลนั้นเกิดขั้นอีก
นึกภาพตามนะคะ นี่คือรายการวาไรตี้ ตลกโปกฮา จู่ๆมีดราม่าพี่อ้อยพี่ฉอดซะงั้น
พยายามเปลี่ยนเรื่องเพื่อให้นางรู้สึกดีขึ้นยังไงก็ไม่เป็นผล แต่.. ยังไม่ทันที่ฉันจะไปต่อ ก็มีสายโทรเข้ากลางรายการ