วันที่ 13 มีนาคม 1964 ผู้จัดการบาร์อายุ 28 ปี Kitt Genovese ถูกแทงตายหน้าอพาร์ตเมนต์ ที่ Queens, New York ทั้งๆที่มีชาวบ้านรับรู้เหตุการณ์ถึง 38 คน แต่ไม่มีใครแจ้งตำรวจเลย เหตุการณ์นี้โด่งดังจนกลายเป็นหนังสือหลายเล่ม และถูกขนานนามว่า Genovese syndrome อันหมายถึง “โรค” ของคนที่รับรู้เหตุร้ายแต่ไม่ยื่นมือเข้าช่วย
คนเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นคนเลว ที่ไร้ความสนใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันหรือไม่? อะไรทำให้พวกเขาเป็นเช่นนั้น?
แต่ดูเหมือนว่า เราสามารถพบความเย็นชาของมนุษย์ได้ทั่วไป นักจิตวิทยาเรียกอาการนี้ว่า Bystander Effect หรือ อาการ “ธุระไม่ใช่” ซึ่งอาจเกิดได้ทั่วไปในเงื่อนไขที่ 1. มีคนหลายคน 2. แต่ละคนมีความสามารถในการแก้ปัญหานั้นพอๆกัน 3. ไม่มีความชัดเจนว่าเป็นหน้าที่ของใคร
แน่นอนว่า หากคนหนึ่งรี่อาสาเข้าไปช่วย ก็ย่อมจะเกิดประโยชน์กับทั้งคนหมด เช่นทำให้ชุมชนนั้นปลอดภัย แต่ว่าคนนั้นต้องยอมเสียสละ แบกต้นทุนเวลา ค่าใช้จ่าย ค่าเสียโอกาสต่างๆ เอาเอง
นั่นทำให้เกิดสิ่งที่ Game Theory เรียกว่า “Volunteer’s Dilemma” หรือ “สถานการณ์ก้ำกึ่งของคนอยากจะช่วย” ทีทำให้ต่างคนต่างแอบเกี่ยงกันเงียบๆ โดยคิดว่า น่าจะมีคนอื่นอาสาเข้าไปช่วยแทน เมื่อทุกคนคิดเหมือนกัน ผลคือไม่มีใครขยับ ไม่มีใครอยากแบกต้นทุนที่จะเกิดขึ้น สู้นั่งรอ “free ride” หรือ รอของฟรี ที่มีคนอื่นเสียสละทำให้ดีกว่า

แน่นอนว่า ถ้าทุกคนคิดเช่นนี้ ก็จะได้รับผลเสียร่วมกันทั้งหมดในที่สุด การพ่ายแพ้ร่วมกันนี้ มาจากที่ทุกคนเลือกที่จะชนะ โดยหวังรอ free ride หรือ เลือกที่จะเห็นแก่ตัวแทน ถือเป็น paradox อย่างหนึ่ง นั่นคือ “ทุกคนต้องการชนะ จึงทำให้ทุกคนแพ้”
อาการนี้ไม่ต่างจาก Game of Chicken ดังเช่น คนบ้าระห่ำสองคนขับรถวิ่งเข้าชนกัน ถ้าใครกลัว หักหลบก่อน (หรือ “chicken out”) ก็ถือว่าแพ้ แน่นอนว่า ถ้าไม่มีใครหลบเลย ก็ต้องชนกันแหลกลาญ ซึ่งก็คือแพ้ทั้งคู่ และแพ้อย่างหนักกว่าด้วย Bystander Effect จึงเป็นเรื่องของ Game of Chicken ที่จบลงด้วยไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรเลย
นอกจาก Game Theory แล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่อธิบาย Bystander Effect คือ จิตวิทยาฝูงชน หรือ Crowd Psychology โดยชี้ว่า คนที่ไม่มั่นใจในตนเอง จะทำอะไรมักหันซ้ายหันขวาดูท่าทีคนรอบข้างก่อน อย่างเช่น คำให้การของคนดูรายหนึ่งใน กรณีรถแล่นทับเด็กที่เมืองจีน ว่า “ถ้าคนอื่นไม่กล้าเข้าไปแตะ แล้วทำไมต้องเป็นฉันล่ะ?”
มีการทดลองโดยให้คนมานอนร้องโอดโอยบนขั้นบันไดที่ Liverpool Street Station ใน London ปรากฏว่าเป็นเวลากว่า 20 นาทีที่คนประมาณ 150 คนที่เห็น เดินผ่านไปโดยไม่สนใจ จนกระทั่งมีคนหนึ่งรี่เข้าไปช่วย เมื่อนั้นคนอื่นจึงเข้ามาสมทบ จากการศึกษานี้ นักจิตวิทยาอธิบายว่า ความเพิกเฉยของฝูงชนสร้างความกดดันและคำถามให้กับคนที่คิดอยากจะเข้าไปช่วยว่า “มันเป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่? ทำไมคนอื่นถึงไม่ทำ? มันมีอะไร?” ความกดดันปนกังขานี้เอง ก่อตัวเป็นวิถีสังคม หรือ norm เล็กๆขึ้นมาในขณะนั้นว่า “ถ้างั้น ก็ไม่ต้องช่วย” และทุกคนที่ผ่านมาก็ปฏิบัติเช่นนั้นตามๆกันแต่โดยดี
นักจิตวิทยายังบอกอีกว่า ในสภาพที่ข้อมูลไม่ปรากฏชัดเจน อาจเกิด Bystander Effect ได้ง่าย อย่างในกรณี Kitty Genovese ที่ชาวบ้านไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น นอกจากเสียงร้องขอให้ช่วย ซึ่งอาจทำให้แต่ละคน “กลัวเสียฟอร์ม” หรือหน้าแตกว่า ไปโทรบอกตำรวจในเรื่องไร้สาระแค่เรื่องแฟนมีปากเสียงกัน
นั่นคือ “ฮีโร่” จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีคนที่ไม่คิดถึงต้นทุนที่ตัวเองจะต้องเสีย เช่น กล้าโทรไปหาตำรวจในกรณีของ Kitty Genovese ทั้งที่รู้ว่าตนเองอาจต้องอดนอนคืนนั้นเพราะตำรวจต้องขอสอบปากคำ หรือแม้กระทั่งกล้าเสียหน้าถ้าเกิดไม่ใช่ หรือ หญิงเก็บขยะในกรณีรถแล่นทับเด็กที่เมืองจีน ที่ไม่สนใจว่าคนอื่นคิดอย่างไร นอกจากเธอต้องการช่วยเด็กเท่านั้น
ในแง่ตรรกะของเกม คนพิเศษเหล่านี้คือคนที่ “ไร้เหตุผล” แต่พวกเขาคือคนที่ทำให้สังคมอยู่รอด คนเหล่านี้ยอมที่จะ “แพ้” เพื่อให้คนอื่นส่วนใหญ่ ”ชนะ” อย่างฟรีๆ คนที่มีความมั่นใจในตนเองเป็นพิเศษเหล่านี้ ไม่รีรอหันไปหาเหตุผลสนับสนุนจากคนรอบข้าง เพราะหากเขาเชื่อว่ามันเป็นสิ่งถูกต้อง เขาก็จะทำในทันที
แต่ปัญหาคือ เราจะนั่งรอฮีโร่ ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยมาก ก็คงไม่ใช่วิธีที่ถูกนัก เพราะส่วนหนึ่งก็หมายถึงเราเองก็หวัง free ride กับเขาด้วย วิธีแก้ Bystander Effect มีอยู่สองอย่างคือ ลดจำนวนคน และ สร้างความชัดเจน
ในเมื่อจำนวนคนมาก ย่อมหมายถึงการเกี่ยงกัน วิธีแก้คือ ถ้าเป็นคนที่ต้องการให้ช่วย ก็ “ลดจำนวนคน” ให้เหลือ 1 คน โดยชี้ตัวคนใดคนหนึ่งให้มาช่วยเลย พอคนนั้นเข้ามาช่วย คนอื่นก็จะตามมาเอง เกิดเป็น norm ใหม่ในสังคมตอนนั้นขึ้นมาทันที นั่นคือ “ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน” ทั้งที่เพียงนาทีก่อนนั้น norm ของสังคมคือ “อยู่เฉยๆดีกว่า”
Bystander Effect ไม่ได้เกิดเฉพาะเรื่องร้ายแรงเท่านั้น ในชีวิตปกติประจำวัน อย่างการทำงานก็เกิดได้ และเป็นประจำเสียด้วย บางครั้งเมื่อมีปัญหาไม่คาดฝันเกิดขึ้น เราอาจจะหาคนอาสามาช่วยแก้ไขไม่ได้เลย เพราะต่างคนต่างรอให้คนอื่นเริ่มก่อน หรือคิดว่าเดี๋ยวคงมีคนมาช่วยเอง ทั้งที่บางปัญหาถ้าสามารถแก้ไขร่วมกันก็จะสำเร็จได้อย่างรวดเร็วง่ายดาย วิธีแก้คือ ชี้ตัวไปเลยว่าอยากจะขอให้ใครช่วย แล้วเดี่ยวคนอื่นจะปรี่เข้ามาช่วยเอง
Bystander Effect ยังตามไปในห้องประชุม หรือ project ต่างๆ เราคงเคยเห็นบางเวลาที่มีเรื่องต้องการตัดสินใจ เมื่อนั้น เราอาจพบกับความเงียบสงัดแทนการอาสา อาการนี้มักเกิดเมื่อมีคนจำนวนมากมาอยู่ร่วมกัน และไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงกับประเด็นนั้นๆ ถึงแม้ว่าคนเหล่านั้นมีความสามารถพอที่จะช่วยได้ก็ตาม
คนที่นั่งเบื่อในห้องประชุม แล้วนึกถึงเรื่องอื่นเพราะคิดว่า เดี่ยวคนอื่นคงเก็บรายละเอียดแทน ก็คืออาการ Bystander Effect อย่างหนึ่ง การนิยมเชิญคนมากๆมาร่วมประชุม เพราะคิดว่าจะได้ “อยู่ใน loop” นั้น ที่จริงอาจเป็นการผลักทั้งหมดออกจาก loop ในทางตรงข้าม หากจำนวนคนน้อย แต่ละคนจะรู้สึกว่าตนสำคัญ มิใช่ตัวประกอบ พวกเขาจะให้ความสนใจเนื้อหาตลอดเวลา
หาก Bystander Effect สามารถทำให้ คนไม่ดูดายในเรื่องเห็นคนถูกฆ่าได้ ก็ย่อมสามารถทำให้คนเพิกเฉยในเรื่องงานประจำวันได้เช่นกัน และนั่นคือธรรมชาติด้านลบของมนุษย์ ที่ต้องบริหารจัดการ เพราะฮีโร่ไม่ได้กระโดดมาช่วยได้ทุกเวลา
เหมือนอย่างที่ Batman บอกว่า
“I chose this life. I know what I'm doing. And on any given day, I could stop doing it ”
ผมเลือกชีวิตแบบนี้ และรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่ในวันหนึ่งวันใด ผมอาจจะเลิกทำก็ได้