“สนุกมาก แต่ขากลับเครื่องดีเลย์หกชั่วโมง แกร่วอยู่สนามบิน ง่วงก็ง่วงไม่มีอะไรทำ สายการบินก็แย่มาก เลื่อนเวลาออกไปเรื่อยๆ ..ฯลฯ... ”
ทุกครั้งที่มีคำถามเรื่องไปเที่ยว เธอจะต้องพ่วงเรื่องเครื่องบินล่าช้าทุกครั้งไป พร้อมกับบรรยายความเซ็งของการรอเที่ยวบินกลับให้เห็นภาพ แล้วค่อยย้อนกลับมาเล่าเรื่องเที่ยว ซึ่งไม่ได้ใส่อารมณ์เท่ากับตอนเล่าเรื่องเครื่องบินดีเลย์
จนดูเหมือนว่า ความทรงจำเรื่องเครื่องดีเลย์หกชั่วโมงจะโดดเด่นไม่แพ้เรื่องเที่ยวตลอดเจ็ดวันที่ผ่านมา และเพื่อนที่ได้คำตอบ ก็จำได้แต่เรื่องเครื่องดีเลย์เช่นกัน เพราะเป็นเรื่องที่เธอเล่าด้วยอารมณ์ที่สุด

โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว เราไม่สามารถจำทุกอย่างได้หมด เพราะความจำมีจำกัดคล้ายกับ flash memory หรือ hard drive ในคอมพิวเตอร์ เพื่อที่จะจำเรื่องสำคัญๆได้ เรื่องที่ดูไม่ค่อยจะสำคัญจะถูกลืมไป เพื่อเปิดทางให้เรื่องใหม่ๆที่น่าจะมีความสำคัญเข้ามาในความทรงจำได้
นอกจากนั้น การจำเรื่องต่างๆมากเกินไปทำให้ การตัดสินใจล่าช้า เพราะต้องวิเคราะห์ทุกเรื่อง ยิ่งในสมัยยุคถ้ำที่มนุษย์ต้องตัดสินใจด้วยความฉับไวเพื่อความอยู่รอด การถูก overload ด้วยข้อมูลมากเกินไป คิดนาน ลังเล อาจทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ไม่อยู่รอดมาได้
และนั่นทำให้ ธรรมชาติของมนุษย์เลือกที่จะจำเฉพาะเหตุการณ์ที่ “เด่น” เท่านั้น ซึ่งความโดดเด่นของเหตุการณ์ น่าจะหมายถึงความสำคัญอยู่ในตัว แต่ปัญหาก็คือ ความโดดเด่นของเหตุการณ์กับความสำคัญ ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งเดียวกันก็ได้
ในทางจิตวิทยา พูดถึง “Peak-End Rule” อันหมายถึง คนเรามักจะจำได้เฉพาะ เหตุการณ์ที่ "peak” หรือ เหตุการณ์ที่โดดเด่นชัดเจน ซึ่งเป็นได้ทั้งเรื่องบวกและลบ กับ เหตุการณ์ตอนจบ หรือ “end” ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างนั้น ถึงแม้จะมีเรื่องราวมากมาย ก็มักจะจำไม่ค่อยได้
ผลคือ เมื่อใดที่หวนระลึกไปถึงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น ไปเที่ยว ประชุม ทำงาน project ไปฟัง concert ไปดูละคร หรือ การเดทกับใคร เราจะนึกถึงแต่ peak และ end เสียเป็นส่วนใหญ่ อย่างอื่นจำได้แค่เลือนๆ ต้องนั่งนึก ถึงจะระลึกได้
เราจำได้ชัดเจนถึงการทะเลาะกันดุเดือดในที่ประชุม (peak) แต่จะไม่ค่อยจะจำรายละเอียดเรื่องอื่นที่คุยกันอย่างราบรื่น หรือ เราจำได้ว่า ก่อนแยกกันวันนี้ คู่เดทของเราไม่ได้มีอาการทิ้งท้ายว่าสนใจเราเลย (end) ทำให้เกิดอาการเซ็งในการเดท ทั้งที่หนึ่งชั่วโมงก่อนหน้านี้ ก็ดูสวีทดีมีความหวัง
Peak-end rule มาจากผลงานดังมากของ Daniel Kahneman ที่ได้รับรางวัล Nobel สาขาเศรษฐศาสตร์ และ Amos Tversky ทั้งสองได้ทำการทดลองโดยให้คนเอามือหนึ่งจุ่มลงในน้ำเย็น 14 C เป็นเวลา 60 วินาที และเอามืออีกข้าง จุ่มลงน้ำเย็น 14 C เหมือนกัน แต่พอหลังจาก 60 วินาที เขาเพิ่มอูณหภูมิน้ำให้อุ่นขึ้น 1 องศาเป็นเวลา 30 วินาที รวมเป็นเวลาทั้งหมด 90 วินาที แล้วถามว่า แบบไหนรู้สึกแย่กว่ากัน
โดยตรรกะแล้ว การเอามือจุ่มในน้ำเย็นนาน 90 วินาที น่าจะรู้สึกแย่กว่าการจุ่มมือในน้ำเย็นแค่ 60 วินาที แต่ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่บอกว่า ที่เอามือจุ่มน้ำเย็น 90 วินาทีกลับรู้สึกทรมานน้อยกว่า ทำไมเป็นเช่นนั้น?
ทั้งนี้เพราะ ถึงแม้ต้องทนความเย็นนานกว่ารวม 90 วินาที แต่ใน 30 วินาทีที่เพิ่มมานั้น น้ำถูกทำให้อุ่นขึ้น 1 องศา ก็เลยทำให้รู้สึกว่าสบายขึ้น ผู้ถูกทดลองจึงเกิดความรู้สึกว่า การจุ่มมือในน้ำเย็นครั้งที่สองเป็นเวลา 90 วินาทีนี้ รู้สึกดีกว่าครั้งแรก ทั้งที่ในครั้งแรกนั้น ทนมีอหนาวเพียง 60 วินาทีเอง
Kahmeman และ Tversky สรุปว่า นั่นเป็นเพราะคนเราจำได้แค่ตอนจบ ถ้าตอนจบดี ก็บอกว่า เหตุการณ์นั้นดี ถ้าตอนจบแย่ ก็บอกว่า เหตุการณ์นั้นแย่ โดยไม่ให้ความสนใจกับความรู้สึกระหว่างทางที่เรื่องนั้นกำลังดำเนินไปเท่าไหร่
เช่นเดียวกับในเรื่องที่ซีเรียสกว่า อย่างเช่น การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ หรือ colonoscoly ซึ่งถือเป็นประสบการณ์แบบแย่ๆ เพราะระหว่างส่องกล้องผ่านทวาร ย่อมต้องมีการขยับกล้อง ทำให้คนไข้รู้สึกเจ็บ Kahneman และ Tversky ศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง ความรู้สึกระหว่างคนไข้ที่ถูกสอดกล้องตามปกติ กับ คนไข้ที่ถูกสอดกล้องนานเป็นพิเศษ พบว่า คนไข้ที่ถูกสอดกล้องนานกว่ากลับรู้สึกดีกว่า
สาเหตุคือ ในเวลานานกว่าที่เพิ่มขึ้นนั้น หมอไม่ขยับกล้อง หากปล่อยให้คาทวารอยู่เฉยๆ ซึ่งทำให้คนไข้ไม่รู้สึกเจ็บ เลยจำได้ถึงความไม่เจ็บในตอนจบ ผลตามมาคือ คนไข้กลุ่มนี้จะชอบใจและกลับมาหาหมอคนเดิมมากกว่า ส่วนหมอที่หวังดี ส่องกล้องให้เสร็จรวดเร็ว ส่องเสร็จแล้วเอากล้องออกทันที กลับไม่ได้รับความพอใจ เพราะคนไข้จำได้แต่ความเจ็บปวดในตอนจบ
นั่นหมายความว่า ใครก็ตามที่ตระหนักถึง peak- end rule ย่อมได้เปรียบกว่าคนอื่น เพราะในธุรกิจหรือการให้บริการใดๆ หากคนให้บริการไม่ได้ให้ความสนใจกับตอนจบ หรือ ไม่มี highlight เป็น peak ให้จดจำ หรือ หากปล่อยให้ตอนจบไม่ดี ไม่ประทับใจ ต่อให้บริการดีแค่ไหน ตั้งใจทำดีแค่ไหน ลงทุนไปมากมาย ก็อาจไม่เป็นผล ดังเช่นในเคสหมอกับ colonoscopy
โดยทั่วไปแล้ว การสร้าง peak อาจดูจะยากกว่าสร้าง end เพราะ peak ต้องเด่นจริงจัง สร้างอารมณ์ร่วมแรงพอจนทำให้คนจำได้ แต่สำหรับ end แค่ทำให้จบอย่างประทับใจ ก็ได้ผลแล้ว บางคนเชื่อว่าในเชิงธุรกิจ การเน้นสร้าง peak น่าจะเสี่ยงกว่า เพราะดีไม่ดีลูกค้าอาจไม่รู้สึก peak ตามด้วย สู้ไปทุ่มสร้าง end ให้จบสวยๆจะง่ายกว่า ประหยัดกว่า
และนั่นเป็นที่มาว่า นิยายหรือภาพยนตร์ที่จบแบบทิ้งท้ายห้วนๆ ให้คนอ่านหรือคนดูคาใจ จึงเป็นที่จำได้ของคนจำนวนมาก หรือถ้าจบอย่าง happy ending ก็ต้องแก้ปมเรื่องที่ผูกสร้างไว้ให้หมด ทำให้คนดูรู้เกิด “a-ha moment” หรือ “อ๋อ อย่างนี้นี่เอง” ก่อนเดินออกจากโรงหนัง ไม่มีใครชอบภาพยนตร์ที่ build อารมณ์มาทั้งเรื่อง ชวนติดตามทุกฉาก แต่มาจบลงแบบ “งั้นๆ’
หรือ การแสดงเวทีโดยเฉพาะใน concert ที่มักจบลงด้วยฉากอลังการสุดเป็นฉากสุดท้าย หรือถ้าหากเป็นการแสดงละครที่เนื้อเรื่องไม่เอื้อกับฉากใหญ่ตอนจบ หลังเรื่องจบลงแล้ว มักแถมการแสดง หรือ encore ของผู้แสดงเกือบทั้งชุดสั้นๆเป็นธรรมเนียม
หรือ ในเพลงคลาสสิค เป็นที่รู้กันว่า ท่อนสุดท้ายหรือ movement สุดท้ายของเพลง คือเป็นท่อนที่ผู้แต่งพยายามสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังให้มากที่สุด โดยเฉพาะตอนจบหรือ finale มักมีการปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยเครื่องดนตรีหลากหลายโหมกระหน่ำ จนเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า “End with a high note” ที่หมายความว่า จะทำอะไรก็ตาม ตอนจบต้องทำให้ดี
Peak and end rule ยังเอามาใช้ได้ในเรื่องของการจูงใจหรือ motivation ตนเอง ได้เช่นกัน
ใน Journal of Sport and Exercise Psychology 2016 มีรายงานการศึกษาของ Zenko และ Ekkakakis ทดลองให้คนปั่นจักรยานเป็นเวลา 15 นาที โดยกลุ่มหนึ่งให้ปั่นเบาๆก่อน แล้วเพิ่มแรงปั่นหนักๆถึง 120% ส่วนอีกกลุ่มให้ปั่นแรงๆก่อนแล้วลดความแรงลง 120% ผลปรากฏว่าคนที่ลำบากก่อน คือปั่นจักรยานแรงๆก่อนแล้วลดแรงลงตอนจบ มักหวนกลับมาปั่นจักรยานออกกำลังกาย ส่วนคนที่ตอนจบจำได้แต่ความเหนื่อย ไม่กลับมาอีก
นั่นคือ หากเราต้องการจูงใจตนเองให้ออกกำลังกายต่อเนื่องแล้ว ก็ควรมีการ warm down ง่ายๆตอนจบ เช่น วิ่งช้าลง ยกน้ำหนักที่น้อยลง เพื่อให้เกิดความรู้สึกดีๆกลับบ้านไป ไม่ใช่พยายามจนเหนื่อยสุดๆแล้วเลิกทันที ซึ่งสมองจะจำได้แต่ความรู้สึกว่า “ไม่ไหวแล้ว” ทำให้ไม่อยากกลับมา “ไม่ไหว” อีก
ถึงแม้ peak and end rule เป็นธรรมชาติของมนุษย์ว่าด้วย “ความทรงจำ” ในอีกด้าน peak and end rule ดูเหมือนจะขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ หากเป็นด้านของ “การกระทำ”
เพราะเมื่อเราเป็นคนลงมือทำเอง เรามักเอาสิ่งที่อยากทำ มาทำก่อน เหมือนอย่างที่วิชาเศรษฐศาสตร์บอกว่า คนเราเลือกในสิ่งที่ต้องการมากที่สุดก่อน แล้วค่อยเลือกในสิ่งที่ต้องการรองลงมาเป็นลำดับ จนถึงสิ่งที่ต้องการน้อยที่สุด อยากทำน้อยที่สุด เอาไว้ทำตอนท้ายสุด
หรืออีกนัยหนึ่งคือ เราพยายามทำให้ตอนต้นเป็น peak นั่นเอง
เมื่อเกิดการสวนทางกันระหว่างธรรมชาติของมนุษย์ในเรื่อง “ความทรงจำ” กับ “การกระทำ” เช่นนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ถ้าสิ่งที่เราเลือกทำตอนแรก ไม่ได้เกิดความ peak จริง ไม่ได้ทำให้เราเกิดอารมณ์ peak สุดๆอย่างที่หวัง เราอาจรู้สึกว่า event ทั้งหมดนั้นผ่านไปอย่างเฉยๆ
เพราะพอทำในสิ่งที่อยากทำมากที่สุดไปแล้ว สิ่งที่เหลือก็ตื่นเต้นน้อยลงเรื่อยๆ และในที่สุดจบลงแบบแสนธรรมดา ไม่มีความตื่นเต้น หรือ “high note” ให้จำได้ ทั้งๆที่ในความเป็นจริง ระหว่างทางมีอะไรดีๆน่าสนใจเกิดขึ้นมากมายก็ได้
นั่นคือ เป็นเรื่องปกติที่คนเรามักจะเกิดภาพลวงตาว่า วันเวลาผ่านไปอย่างเฉยๆ ออกจะน่าเบื่อ ทั้งที่ในรายละเอียดจริงๆ หาก zoom ขยายดูชีวิตที่ผ่านมา อาจจะพบว่ามันไม่ได้น่าเบื่อขนาดนั้น
วิธีแก้ “ภาพลวงตาแห่งความน่าเบื่อ” มีอยู่ง่ายๆคือ ตั้งใจระลึกถึงเหตุการณ์ระหว่างทาง นึกถึงรายละเอียดของวันเวลาที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่เฉพาะตอน peak หรือตอน end ซึ่งจะทำแบบนี้ได้ ก็โดยอาศัยการจดบันทึก diary ให้เหตุการณ์ย่อยต่างๆไม่ถูกลืม หรือถูกบดบังด้วย peak และ end
เมื่อนั้นเราอาจพบว่า เราลืมช่วงเวลาสนุกๆที่มีความหมายไปหลายตอน และชีวิตไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่คิดเลย