เธอพยายามปั้นสีหน้าให้เป็นปกติ ให้ดูเนียนที่สุด เพื่อซ่อนความเครียดและประหม่านั้นไว้ ไม่ใช่เพราะเธอไม่ได้เตรียมทำการบ้านให้ดีก่อนมาประชุม ไม่ใช่เพราะเธอทำงานผิดพลาดแล้วคนรู้ และ ไม่ใช่เพราะเธอมีเรื่องกับใคร แต่เป็นเรื่องที่ซีเรียสกว่านั้นมาก
อย่างน้อยก็ในสายตาของเธอ
เพราะเมื่อค่ำวาน เธอไปตัดผมมา และช่างตัดผมหั่นผมเธอเสียสั้น สั้นเกือบไร้ทรง จนเธอรับไม่ได้

Spotlight Effect คือ ความรู้สึกว่า มีคนมองหรือสนใจเราอยู่ ทั้งๆที่จริงๆแล้วไม่มี หรือ มีก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเราขนาดที่เราคิด
Spotlight effect มาจากความไม่มั่นใจในตนเอง ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่ แค่ไม่มั่นใจในตนเองเฉพาะเรื่อง เช่น การแต่งตัวหรือเสื้อผ้าที่ดูเหมือนไม่เข้ากับบรรยากาศของสังคมรอบข้าง ไปจนถึง ความไม่มั่นใจในสถานภาพสังคมที่คิดว่าด้อยกว่าเมื่อเทียบกับคนอื่นๆรอบตัว
ผลก็คือ เรายิ่งทำโน่นนี้ผิดพลาด จนทำให้จากที่ไม่มีใครสนใจ ก็กลายเป็นจุดสนใจขึ้นมาจริงๆ ทำให้ดูเหมือนเป็นการย้ำว่า ที่เรากังวลอยู่แต่แรกนั้นเป็นความจริง ทำนอง self-fulfilling prophecies และนั่นก็จะยิ่งทำให้เราไม่มั่นใจในตนเองมากขึ้นไปอีก
มีการทดลองที่มีชื่อเสียงของนักจิตวิทยา Thomas Gilovich และ Kenneth Savitsky ในปี 2000 โดยให้นักเรียนใส่เสื้อยืดสีเหลืองแปร๊ด ที่มีรูปหน้านักร้องดัง Barry Manilow อันเบ้อเริ่มอยู่บนเสื้อ อันนับว่าเป็นดีไซน์ที่เด่นเกินเหตุ แล้วเดินเข้าไปนั่งในห้องเรียนผ่านประตูด้านหน้า ประจันหน้ากับนักเรียนคนอื่นที่นั่งรอเรียนกันเต็มห้อง โดยนักเรียนในห้องเหล่านั้นแต่งตัวธรรมดา
หลังจากนั้น Gilovich และ Savitsky ให้นักเรียนเสิ้อ Barry Manilow ลองคาดว่าจะมีคนสนใจและจำได้ว่า มีหน้า Barry Manilow อยู่บนเสื้อสีเด่นนั่นกี่คน ในขณะเดียวกัน ก็ถามนักเรียนที่นั่งอยู่ในห้องว่า มีกี่คนที่จำคนใส่เสื้อเหลืองกับหน้านักร้องดังได้
ผลปรากฏว่า ไม่ว่าจะทำการทดลองซ้ำกันกี่ครั้ง ในที่ต่างกัน นักเรียนเสื้อเหลืองหน้า Barry Manilow ก็จะประมาณจำนวนคนที่จำได้มากกว่าความเป็นจริงอย่างมากมายเสมอ
หรือแม้กระทั่งให้ลองใส่เสื้อที่เด่นแต่ไม่ประหลาด คือไม่ต้องมีรูปหน้าคนโตๆบนเสื้อ ผลที่ได้ก็ยังเป็นแบบเดิม คือ จำนวนคนที่คิดว่าจำได้ มากกว่า จำนวนคนที่จำได้จริง
Gilovich และ Savitsky ลองใหม่ คราวนี้ ก่อนให้นักเรียนเสื้อเหลืองเดินเข้าไปในห้อง เขาให้นั่งรอเฉยๆเป็นเวลา 15 นาที ผลก็คือ นักเรียนเสื้อเหลืองประมาณจำนวนคนที่จำได้น้อยลง นั่นก็คือ ใกล้ความจริงขึ้นมาอีกนิด แสดงว่า เวลา 15 นาทีนั้น ทำให้เกิดความคุ้นเคยกับเสื้อประหลาดตัวนี้ ส่งผลให้ความประหม่าลดลง
ผลการศึกษานี้ สรุปได้ว่า ที่เราคิดว่ามีคนสนใจเรามากมายนั้น จริงๆแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย และวิธีลดอารมณ์ประหม่านี้ ก็ง่ายนิดเดียว คือทำความคุ้นเคยกับสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกประหม่านั้นเสียก่อน
เช่นเดียวกับ คนที่ไปตัดผมแล้วออกมาดูแย่ หากต้องออกสังคมหลังจากเดินออกจากร้านตัดผมทันที ก็จะเกิดความกดดันและเครียดมาก แต่ถ้าเว้นเวลาอยู่กับตัวเองสักหลายชั่วโมงหรือหนึ่งวัน แล้วค่อยไปเจอหน้าผู้คนที่รู้จัก ก็จะเครียดน้อยลง นึกถึงผมน้อยลง
และในที่สุดก็อาจจะพบว่า ไม่มีใครสนใจทรงผมพังๆบนหัวของเราซักเท่าไหร่ หรือ ถ้ามองออกก็เพียงแวบเดียวและเขาก็ไปคิดอย่างอื่นต่อ เพราะแต่ละคนก็มีเรื่องวุ่นๆของตนเองที่ต้องใส่ใจกันทั้งนั้น
ปัญหาความไม่มั่นใจในตนเองของ spotlight effect นี้ เกิดขึ้นมาจากพฤติกรรมที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “anchoring and adjustment” หรือ การไปยึดติด หรือ anchoring กับความรู้สึก ความคิด ของเราเองมากเกินไป จนหลงไปว่า คนอื่นก็น่าจะคิดเหมือนกัน
เรามองว่าทรงผมใหม่ไม่เอาไหน และคิดว่า คนอื่นก็ต้องคิดเหมือนกัน หรือ เวลาชุดสวยมีรอยเปื้อน ก็จะคิดว่า คนอื่นก็ต้องรู้ด้วย ทั้งที่จริงแล้ว น่าจะมีแต่เราเองเท่านั้น ที่รู้ว่าความลับนี้ว่ารอยเปื้อนอยู่ตรงไหน คนอื่นล้วนแล้วแต่มองผ่านแวบเดียวเท่านั้น ไม่ได้จับตัวเราหมุนไปหมุนมาและเพ่งดู
ในแง่การตลาด spotlight effect ถูกนำมาใช้ในการจูงใจให้คนคิดว่าตัวเองอยู่ใน spotlight อยู่ตลอดเวลา และจำเป็นจะต้องทำตัวให้ perfect เสมอด้วย make up เสื้อผ้า ของใช้ที่เสริม image ต่างๆ ไปจนถึง product ด้านสุขภาพและความงาม
ในความเป็นจริงนั้น ปกติคนเราจะมองแบบ comprehensive คือ มองโดยองค์รวม ดังนั้น ความกังวลที่ว่า ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหรือการแต่งกายส่วนไหนจะถูกจับผิดได้นั้น จึงมีโอกาสน้อย
โดยเฉพาะผู้ชายแทบจะไม่มองคนแบบ “แยกส่วน” คือ ไม่มอง หน้า ผม รองเท้า เสื้อผ้า แยกชิ้น หากจะรวบเอาเป็นภาพเดียวที่เป็นคนทั้งตัวหนึ่งคนแบบ comprehensive ส่วนผู้หญิงจะมองแยกส่วน หรือมองแบบ partial มากกว่า และคิดว่า ผู้ชายก็จะมองแยกส่วนอย่างละเอียดเช่นกัน อันเป็นพฤติกรรม anchoring and adjustment แบบหนึ่ง ที่การตลาดได้ประโยชน์เสมอมาในการสร้างความกังวลกับผู้หญิงเกินความจำเป็นเพื่อสร้าง demand ทั้งที่รายละเอียดแยกส่วนเหล่านั้นบนตัวผู้หญิงนั้น ผู้ชายมักมองผ่านไปเสมอ
ไม่เพียงแต่เรื่องแต่งตัวหรือสิ่งที่มองเห็นได้เท่านั้น เรื่องพฤติกรรมก็เช่นกัน
Gilovich และ Savitsky ทำการทดลองต่อ คราวนี้เขาให้กลุ่มคนเสวนากันในหัวข้อ “ปัญหาเสื่อมโทรมของเมือง” เป็นเวลา 30 นาที โดยเมื่อคุยกันจบแล้ว ให้แต่ละคนในกลุ่ม ประเมิน performance ของตนเองและของคนอื่น และพูดถึงความเขินหรืออึกอักระหว่างการสนทนา ผลคือ ทุกคนคิดว่าคนอื่นมองเห็นข้อผิดพลาดของตัวเรามากกว่าที่เป็นจริง หรือ คิดว่า คนอื่นมองว่าเราแย่ ทั้งที่ไม่ได้มีใครมองแย่ขนาดนั้น
เช่นเดียวกับในทางตรงข้ามคือ เรื่องดี ถ้าเราทำในสิ่งที่คิดว่าดี ก็มักจะคิดว่าคนอื่นคิดเช่นนั้นด้วย และก็จะจำได้ ทั้งที่ไม่มีใครสนใจเท่าไหร่
ประเด็นนี้ ทำให้เรื่องของ spotlight effect โยงไปถึงเรื่อง “false consensus effect” อันหมายถึง คนเราคาดหมายไปว่า คนอื่นคิดเหมือนกับเรา
False consensus effect เป็นเรื่องอันตราย ต่างจาก spotlight effect ตรงที่ว่า เรามักใช้คำว่า spotlight effect ในเรื่องที่ “คิดว่าตัวเราแย่ แต่ที่จริงไม่มีใครสนใจ” ส่วน fales consensus effect เรามักใช้กับเรื่องที่ ”คิดว่าตัวเราดี แต่ที่จริงไม่มีใครสนใจ”
เราอาจจะโพสความเห็นรุนแรงลงบน social media เพราะคิดว่าคนอื่นก็คิดอย่างนี้เหมือนกัน หรือ กล้าทำในเรื่องที่คิดว่า “ใครๆเขาก็ทำอย่างนี้ คิดอย่างนี้ กันทั้งนั้น” ทั้งที่มีไม่กี่คนที่เป็นพวกด้วย
ที่สำคัญคือ false consensus effect ทำให้เรารู้สึกมีพลัง และมีความเชื่อมั่นในตนเอง และความรู้สึกดีๆนี้จะหายไปหรือ crash อย่างฉับพลัน เมื่อได้ตระหนักว่า ที่จริงแล้ว ไม่มีใครสนใจเรื่องที่เราคิด หรือเห็นด้วยเลย จนทำให้คิดต่อไปในด้านลบว่า ไม่มีใครสนใจ “ตัวเรา” ไม่ใช่แค่เรื่อง “ความคิดของเรา” และอาจมีผลทำให้ความมั่นใจในตนเองลดลงในที่สุด
บางคนที่โพสใน social media อาจจะเกิด false consensus effect ขึ้นได้ โดยคิดไปว่า มีคนเฝ้าติดตามดูความสำเร็จส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องเล่นอยู่อย่างชื่นชม ทั้งที่จริงอาจมีไม่กี่คนที่สนใจจริง และก็ไม่ได้ทำเช่นนั้นตลอดไปอีกด้วย ส่วนคนอื่นอาจกด like รัวๆ by default คือ like ตามมารยาทโดยที่ไม่อ่าน
False consensus effect จึงเปรียบได้กับ คนที่อยู่ท่ามกลางแสง spotlight กลางเวที ที่มองไม่เห็นคนดูในความมืด โดยไม่มีทางรู้เลยว่า ท่ามกลางความมืดของโรงละครนั้น มีคนนั่งดูอยู่ไม่กี่คน หรือไม่มีเลย
False consensus effect “คิดว่า คนอื่นคิดเหมือนเรา” โยงต่อไปยัง “illusion of transparency” คือ “คิดว่าคนอื่นเข้าใจเรา” ซึ่งนักจิตวิทยาบอกว่ามาจากล้วนเป็นเรื่องของ egocentric คือ ยึดเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง
จึงทำให้เกิดข้อสังเกตุว่า ในเมื่อทั้งหมดโยงกันเช่นนี้ คนที่เกิด false consensus effect + illusion of transparency ก็มักจะเป็น spotlight effect ด้วยหรือไม่?
หรือพูดง่ายๆว่า คนที่คิดว่าตัวเรา “ดี” แต่ที่จริงไม่มีใครสนใจ มักจะ คิดว่าตัวเรา “แย่” แต่ที่จริงไม่มีใครสนใจ ด้วยอีกหรือไม่? คือ ไม่ว่าด้านบวกหรือลบ ก็เข้าใจผิดไปหมดว่า มีคนสนใจเราอยู่มากมาย ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีทั้งสิ้น
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ความจริงมีอยู่ว่า ในเมื่อต่างคนต่างก็คิดถึงแต่ตัวเองเป็นหลัก อันเป็นธรรมชาติปกติธรรมดาของมนุษย์ ก็ยอมไม่น่าจะมีกี่คนที่มาสนใจเราอย่างจดจ่อ
หากคิดอย่างนี้ได้ อาจทำให้เรารู้สึกดี มีสมาธิ ที่จะทำอะไรต่ออะไรได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลสายตาใคร