ON LOOKER

อันตรายจากการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์แบบนานๆ

17 ก.ค. 2561
ด้วยการงานที่รัดตัวอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้ใครหลายๆคนต้องนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวันโดยแทบจะไม่มีเวลาลุกไปไหน ทานข้าวยังนั่งทานหน้าคอม พฤติกรรมแบบนี้จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของโรคต่างๆ โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว หนึ่งในโรคนั้นคือ คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม 

อาการคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม(Computer Vision Syndrome : CVS) หมายถึงอาการปวดตา แสบตา ตาพร่ามัว ตาแห้ง จนอาจไปถึงน้ำตาไหล จากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ระดับความรุนแรงของอาการจะเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่ใช้สายตาอยู่หน้าจอ อาการเหล่านี้พบได้ถึงร้อยละ 75 ของบุคคลที่ใช้คอมพิวเตอร์

นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาเหตุของการเกิดอาการคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม นอกจากการใช้สายตากับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานแล้ว ยังเกิดมาจากตำแหน่งการจัดวางคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมาะสม มีแสงสว่างหรือแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ที่มากเกินไป ระยะห่างระหว่างดวงตากับจอคอมพิวเตอร์ ท่านั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม หรืออาจเกิดมาจากความผิดปกติสายตาของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดิจิตอลเองที่ไม่ได้รับการแก้ไข

สาเหตุของโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม
1.ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ไม่ค่อยกะพริบตา ปกติแล้วเราทุกคนจะต้องกะพริบตาอยู่เสมอ เป็นการเกลี่ยน้ำตาให้คลุมผิวตาให้ทั่วๆ โดยมีอัตราการกะพริบ 20 ครั้งต่อนาที หากเราอ่านหนังสือหรือนั่งจ้องคอมพิวเตอร์ อัตราการกะพริบจะลดลง โดยเฉพาะการจ้องคอมพิวเตอร์การกะพริบตาจะลดลงกว่าร้อยละ 60 ทำให้ผิวตาแห้ง ก่อให้เกิดอาการแสบตา ตาแห้ง รู้สึกฝืดๆ ในตา
2.แสงจ้า และแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ ทำให้ตาเมื่อยล้า ทั้งแสงจ้าและแสงสะท้อนมายังจอภาพ อาจเกิดจากแสงสว่างไม่พอเหมาะ มีไฟส่องเข้าหน้าหรือหลังจอภาพโดยตรง หรือแม้แต่แสงสว่างจากหน้าต่างปะทะหน้าจอภาพโดยตรง ก่อให้เกิดแสงจ้าและแสงสะท้อนเข้าตาผู้ใช้ ทำให้เมื่อยล้าตาง่าย
3.การออกแบบและการจัดภาพ ระยะทำงานที่ห่างจากจอภาพให้เหมาะสม ควรจัดจอภาพให้อยู่ในระยะพอเหมาะที่ตามองสบายๆ ไม่ต้องเพ่ง โดยเฉลี่ยระยะจากตาถึงจอภาพควรเป็น 0.45 ถึง 0.50 เมตร ตาอยู่สูงกว่าจอภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้แว่นสายตาที่มองทั้งระยะใกล้และไกล จะต้องตั้งจอภาพให้ต่ำกว่าระดับตา เพื่อจะได้มองตรงกับเลนส์แว่นตาที่ใช้มองใกล้

วิธีป้องกันอาการคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม
1.วางหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ห่างจากดวงตาประมาณ 20-28 นิ้ว และควรให้จุดกึ่งกลางกึ่งกลางของหน้าจออยู่ต่ำกว่าระดับสายตาในแนวราบประมาณ 4-5 นิ้ว 
2.ปรับแสงสว่างหน้าจอให้พอเหมาะและไม่สว่างเกินไป อาจใช้กระจกกันแสงสะท้อนติดที่หน้าจอ เพื่อลดแสงสะท้อนเข้าดวงตา
3.ควรพักการใช้สายตาเป็นระยะ โดยใช้ “สูตรการพักสายตา 20 – 20 - 20” คือละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ทุกๆ 20 นาที แล้วมองไปที่วัตถุที่อยู่ไกลอย่างน้อย 20 ฟุต นานประมาณ 20 วินาที
4.ขณะทำงานหน้าจอ ควรกะพริบตาให้บ่อยขึ้น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดวงตา
5.สำหรับผู้ที่มีสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น ยาว หรือเอียง ควรตรวจและแก้ไขความผิดปกติสายตาโดยใส่แว่นตา หรือคอนแทกเลนส์ เพื่อให้สามารถมองเห็นภาพที่หน้าจอได้อย่างชัดเจน 
6.ลดการเพ่งมองที่หน้าจอ ป้องกันอาการปวดตาหรือแสบตาได้

แหล่งอ้างอิง http://www.todayhealth.org
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
หนึ่งในโปรแกรมสแกนไวรัสที่โครตล้ำอย่าง Malwarebytes ถูกสร้างโดย มาร์ซิน เคลชินสกี้ อายุเพียง 18 ปี

 
Travelholic อาการเสพติดการท่องเที่ยว ซึ่งผู้ประสบมักจะรู้สึกตื่นเต้น รู้สึกกระฉับกระเฉงเมื่อได้ท่องเที่ยวหรือวางแผนทริปล่วงหน้า