ทำไมหลายคนถึงเข้าใจผิดว่าเราลาออกจากวงการ แล้วมันจริงหรือเปล่า
ไม่จริงเลย เราไม่ได้หายไปไหนจริงๆ นะ ยังคงรับงานเหมือนเดิม โทรมาสิคะ โทรมาเถอะค่ะ เบอร์ก็เปลี่ยนไม่บ่อยถึงแม้จะเพิ่งเปลี่ยนไป แต่ก็.. โทรมาเถอะค่ะ (หัวเราะ)
เกี่ยวไหมกับการที่คนที่อยู่ในวงการนี้จะมีงานตลอดเวลา อย่างน้อยคือคนต้องคุ้นหน้าตลอด หรืออย่างน้อยในยุคนี้ต้องเล่นโซเชียลเพื่อไม่ให้ตัวเองหายไปจากกระแส
บางคนก็บอกแหละ ว่าต้องคอยสร้างกระแส เพราะบางทีทีมงานเขากำลังหานักแสดงอยู่ แล้วเขานึกไม่ออกว่าจะเอาใคร ถ้าเป็นคนที่อยู่ในกระแส เขาก็จะนึกถึงว่า เอาคนนั้นสิ คนนี้สิ อะไรแบบนี้ แต่ไอตัวเรา เราเป็นคนแบบว่า เราอยู่ของเราอย่างนี้ แล้วเราไม่รู้จะสร้างกระแสอะไร นี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลนึงก็ได้ที่ไม่ค่อยได้เห็นเรา คือเราเป็นคนไม่ค่อยเล่นโซเชียล ถ้าไปดูในไอจีจะงงๆ หน่อย เกือบเดือนได้ กว่าจะลงซักรูปนึง หรือว่าถ้าช่วงไหนลง ก็จะลงติดๆ กันซัก 3-4 วัน แล้วก็หายไป เพราะเราเป็นคนไม่ค่อยถ่ายรูปตัวเอง ไม่รู้สิ แล้วเราก็ไม่ได้จ้างตากล้องมาถ่ายเราด้วยมั้ง
ไม่รับรีวิวหรอคะ
เราว่าเราเลือกด้วยแหละว่าผลิตภัณฑ์เป็นอะไร คือเรารู้สึกว่าเราต้องรับผิดชอบ เราต้องใช้จริงก่อนด้วย เราต้องรู้สึกว่า เราใช้แล้วไม่มีปัญหา หรือมันต้องเป็นของที่เราชอบจริงๆ หรือว่ามันมีประโยชน์ต่อคนที่เขาตามเรา
มีผู้ติดตามใน Instagram กี่คน (@airr_patrarin) ให้ความสำคัญกับมันไหม
หมื่นกว่าคนเองมั้ง คือจำนวนผู้ติดตามจะเพิ่มเราก็ยินดีมากๆ นะ แต่ว่าเราก็ไม่ได้ไปทำอะไรมาก ไม่รู้อะ มันก็นิสัยเสียเนอะ (หัวเราะ) คือเราดูคอมเมนต์นะ ถ้ามีใครคอมเมนต์เราตอบนะ แต่อาจจะตอบช้าหน่อย (หัวเราะ) คือพอเราลงรูปเสร็จเราก็วางโทรศัพท์เลย แล้วค่อยมาดูอีกทีว่ามีใครคอมเมนต์อะไรมาบ้างมั้ย ถ้ามีก็ตอบ หรือถ้าไม่รู้ว่าจะตอบว่าอะไรจะกดไลก์ให้รู้โอเค เราอ่านแล้วนะพี่แอร์อยู่ในวงการนี้มาประมาณกี่ปีแล้วคะ
เข้าวงการนี้มาตอนปี 44 ถึงตอนนี้ก็สิบกว่าปีแล้ว
คิดว่าคนเริ่มรู้จักเราจริงๆ จากผลงานอะไร
คือมันไต่มาทีละอย่างนะ อย่างมิวสิควิดีโอของญารินดา ก็จะรู้จักกันในกลุ่มวัยรุ่น แล้วก็มาเป็นละคร “พี่เลี้ยงกึ่งสำเร็จรูป” ก็จะเป็นกลุ่มคนที่ดูละครช่อง 3 ส่วนที่ทำให้รู้จักกันทั่วประเทศเลยจริงๆ ก็จะเป็นภาพยนตร์ “องค์บาก” หลังจากนั้นก็มีผลงานมาเรื่อยๆ ซึ่งในปัจุบันก็ยังรับงานแสดงอยู่นะ อย่าเข้าใจผิดนะ (หัวเราะ) แล้วก็เป็นครูสอนการแสดงด้วย รวมถึงมีเป็นโปรดิวเซอร์สำหรับโปรดักชันเล็กๆ ด้วยค่ะ
แปลว่า ภาพยนตร์เป็นสิ่งที่ทำให้คนรู้จักพี่แอร์มากที่สุด จริงๆ แล้วผลงานการแสดงส่วนใหญ่ของพี่แอร์เป็นภาพยนตร์หรือเปล่า
จริงๆ ส่วนมากจะเป็นละครนะ ส่วนหนัง จริงๆ มี 5 เรื่องค่ะ องค์บาก, บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม แล้วก็คนผีปีศาจ ล่าสุดคือ ๗๗๗ นะชาลีติ และ พุทธสาวิกา
หลายคนมองว่าพี่แอร์เป็นนักแสดงคนนึงที่หน้าเด็กมาก จริงๆ แล้วมันเป็นข้อได้เปรียบ หรือเราคิดว่าเป็นอุปสรรคของการได้งานคะ
ถ้าจะถามว่าเป็นอุปสรรคไหม มันก็มีส่วนนะ อย่างเมื่อก่อนก็มีคนบอกว่าเราหน้าเด็กไป เสียงเล็กไป แต่พอเราอายุมากขึ้น หน้าเราก็ยังคล้ายๆ เดิม แต่คนจ้างเขาก็เอาเด็กจริงๆ เล่นดีกว่า คือวัยเรามันจะมีความคาบเกี่ยวหน่อยๆ
พี่แอร์จำผลงานชิ้นแรกของตัวเองได้มั้ย
ผลงานแรกในชีวิตเลยเป็นสกู๊ป PCT รู้จัก PCT มั้ย (ยิ้มเขิน) PCT ที่เป็นโทรศัพท์ไร้สายรุ่นแรกในประเทศไทย ตอนนั้นอยู่ม.5 และหลังจากนั้นก็มีถ่ายโฆษณาบ้างมาเรื่อยๆ แล้วก็มีละคร ซึ่งส่วนมากจะเป็นละครตอนเย็นหรือตอนกลางวันอะไรแบบนี้ จะไม่ค่อยได้เล่นละครหลังข่าวเท่าไหร่
ชอบงานประเภทไหนมากที่สุด ละคร หนัง หรือโฆษณา
จริงๆ แอร์เล่นได้หมดเลยนะ จะละคร หนัง หรือว่าโฆษณา แอร์ว่ามันสนุกคนละแบบ ส่วนถ้าถามว่าแอร์ชอบงานไหนมากเป็นพิเศษ แอร์มองว่าแอร์ชอบที่ทีมงานมากกว่า ถ้ามีทีมงานที่คุยด้วยแล้วสนุก แฮปปี้ ทีมงานน่ารัก เราก็อยากออกไปทำงาน อยากไปเจอ ก็ยังไม่เคยเจอทีมงานไม่น่ารักนะ
แล้วมีเรื่องไหนที่ไม่อยากเล่นไหม หรือมีปัญหาอะไรในการทำงานที่ผ่านมาบ้าง
ถ้าเรารับงานไหนแล้ว เราเต็มที่ 100% แต่มันจะมีบางงานที่คุยหลังไมค์กับเจอหน้างานไม่เหมือนกัน แล้วเราเป็นประเภทที่ว่า ถึงจะไม่เหมือน เราก็ทำอยู่ดี เพราะเรารู้สึกว่า ถ้าเรารับปากไปแล้วเราต้องรับผิดชอบทำให้เสร็จ คือก็พยายามเข้าใจคนจ้างนะ ว่าถ้าบอกเราตรงๆ เราคงไม่รับ เช่นงานโป๊มากๆ เคยเจอกับงานถ่ายแบบซะส่วนมาก เช่นถ่ายชุดว่ายน้ำ คือคุยกันไว้ว่ามีเสื้อคลุม เป็นแบบสปอร์ต เสื้อกล้าม กางเกงขาสั้น พอมาถึงหน้างานกลับเป็นแบบ.. นมก็สามเหลี่ยม กางเกงก็สามเหลี่ยม (หัวเราะ) ซึ่งพอถึงหน้างานมันก็ทำอะไรไม่ได้ คือแอร์มองถึงทีมงานด้วยว่า คนอื่นเขาก็มาทำงาน แล้วถ้าเกิดว่างานนี้แอร์ไม่ทำแล้วยังไง เขาก็ไม่ได้เงิน เราทำให้เขาไม่ได้เงิน แล้วเราไปรับผิดชอบครอบครัวเขาหรือเปล่า เราก็เลยรู้สึกว่าเราก็ต้องกัดฟันทำเต็มที่ แล้วสุดท้ายก็ต้องทำมันให้ออกมาดีที่สุด เราคิดว่า โอเค.. เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยปฏิเสธงานนะ ยกเว้นถ้าหนังเป็นถึงขั้นเรทอาร์ อันนั้นปฏิเสธแน่นอน แค่นั้นเลย
ตั้งแต่อยู่วงการมา พี่แอร์ไม่มีข่าวเสีย ไม่มีข่าวซุบซิบอะไรเลย ใช่ไหม
ก็ไม่ได้ทำอะไร (หัวเราะ) จะมีก็แค่เรื่องว่าจะลาวงการ บางทีคนชอบเข้าใจว่าเราไปทำธุรกิจ ซึ่งเราก็ไม่ได้ไปทำ (หัวเราะ) หรือบางคนเข้าใจว่าเราแต่งงานแล้วเราไม่รับงานแล้ว บอกตรงนี้เลยว่าไม่ใช่นะคะ สามีไล่ออกจากบ้านไปทำงานทุกวันเลยค่ะ จริงๆ (หัวเราะ)
ในฐานะที่พี่แอร์เป็นไอดอลยุค 90 พี่แอร์ว่าไอดอลในยุคนี้กับเมื่อก่อนแตกต่างกันไหมคะ
บอกก่อนว่า 90 ตอนปลายนะ (ยิ้ม) เกือบจะปี 2000 อยู่แล้ว (หัวเราะ) ถ้าถามว่าต่างมั้ย ก็ต่างนะ คือเรารู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ ใครๆ ก็มีชื่อเสียงได้ถ้าคุณมีความสามารถ เรารู้สึกว่า คนสมัยนี้กล้าสู้ในความฝันของตัวเองมากขึ้น หรือในเรื่องของศัลยกรรมก็เป็นที่ยอมรับมากขึ้น เป็นธรรมชาติที่ใครๆ ก็อยากดูของสวยงาม ถ้าเป็นยุคก่อน ดาราค่อนข้างที่จะมีเอกลักษณ์ หน้าตาจะไม่ค่อยเหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้ ด้วยความที่หน้าตาคล้ายกัน คุณก็ต้องมีความสามารถมากกว่านั้นแล้ว ทำยังไงเขาถึงจะจ้างคุณ คุณต้องมีอะไรที่มันแตกต่างกว่าที่จะหน้าคล้ายกันแล้ว แต่ก็มีช่องทางในการทำงานมากขึ้นนะ แล้วพอมีช่องทางมากขึ้น ทั้ง Youtubeทั้งทีวีดิจิทัล และอีกมากมาย คุณสามารถทำช่องของคุณเองได้ คุณอยากทำรายการอะไร อยากเป็นพิธีกร คุณทำเองก็ได้ ซึ่งแอร์มองว่านั่นเป็นข้อดี มันทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น มันไม่จำเป็นว่า เขาป้อนอะไรมาเราก็ต้องรับ แต่พอมันมีทางเลือกมากขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น มีการแข่งขันมากขึ้น ผู้บริโภคก็เลือกมากขึ้น เลือกที่จะเสพ เลือกที่จะเชื่อ หรือไม่เชื่ออะไรมากขึ้น
บรรยากาศการทำงานสมัยก่อนกับสมัยนี้ ต่างกันอย่างไรบ้าง
ง่ายๆ เลยนะ สมัยนี้เราดูบทกันในโทรศัพท์ หรือ I-Pad เมื่อก่อนเราดูในกระดาษ ซึ่งเรายังชอบดูในกระดาษเพราะว่ามันมาร์กอะไรได้ แล้วตัวมันค่อนข้างใหญ่ ชัดดี (หัวเราะ) หรือในเวลาพัก คนในกองจะคุยกันมากกว่านี้ ซึ่งทุกวันนี้แอร์ก็ยังชอบคุยกับทีมงานอยู่นะ แอร์รู้สึกว่าคุยกับคนมันสนุกกว่าเราเล่นเกมในโทรศัพท์ หรือว่าอยู่ในโลกโซเชียลในมือถืออย่างเดียว อีกอย่างคือนักแสดงสมัยก่อน เวลาพักคือนอนค่ะ หลับจริง (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้เล่นเกม เล่นโซเชียล ไม่ค่อยหลับค่อยนอนกันเท่าไร
ถามจริงๆ ว่า มีน้อยใจบ้างมั้ยที่คนคิดว่าเราลาวงการแล้ว แล้วทำให้ไม่ค่อยมีงานเข้ามา
เมื่อก่อนแรกๆ ยอมรับว่ามีน้อยใจบ้าง แต่พอรู้เหตุผลแล้วเราก็เข้าใจ เรารู้สึกว่าน้อยใจไปมันก็ไม่มีประโยชน์ด้วย แต่จะตอบแบบโลกสวยว่า ไม่น้อยใจเลย มันเป็นไปไม่ได้ เราจะมีคิดบ้างว่า ทำไมอะ เราก็ทำงานปกติ เราทำการบ้าน เราอ่านบท เราไม่เคยไปกองสาย ทำไมอยู่ดีๆ วันนึงมันหายไป เราก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทีมงานทุกคนก็แฮปปี้ เราไม่เคยวีน ไม่เคยเหวี่ยง ไม่เคยเรื่องมาก ก็มีช่วงนึงแหละที่เรารู้สึกน้อยใจ แล้วก็งงว่ามันเกิดอะไรขึ้น หรือเราไปปากเสียใส่ใครหรือเปล่า แต่พอเราคิดได้ว่า ทุกอย่างมีขึ้นมีลง มันก็แค่นั้น มันไม่ใช่ว่าแค่วันนี้เราลงแล้วเราจะไม่ได้กลับมาทำงานอีกแล้ว ต่อไปนี้จะไม่มีใครจ้างอีกแล้ว ก็ไม่ใช่ แค่เข้าใจธรรมชาติตรงนี้ก็จบ ก็หาอย่างอื่นทำไปก่อนก็ได้ เราเชื่อว่าถ้าเราทำดีที่สุดแล้ว วันนึงถ้าเกิดเขาเห็นเรา นึกถึงเราขึ้นมา เขาก็จะอยากกลับมาทำงานกับเราอีกแน่นอน มันเป็นแค่ช่วงชีวิตนึงเท่านั้นเองที่ งานมันหายไป หรือถูกคนเข้าใจผิด แอร์ว่าทุกคนเคยโดน ก็อยู่กับมันไปอะค่ะ เดี๋ยววันนึงมันก็ดีขึ้น
แล้วมีกิจกรรมหรืออย่างอื่นทำเพื่อช่วยเยียวยาความรู้สึกนี้มั้ยคะ
คือแอร์เป็นฟรีแลนซ์ มันก็มีช่วงนึงแหละที่เงินไม่เข้า แต่แอร์โชคดีที่เป็นคนเก็บเงิน แล้วก็ยังคงมีจ๊อบเล็กๆ น้อยๆ ยังมีรายการ ยังมีพิธีกร มีละครเข้ามาบ้าง มันก็อยู่ได้ แล้วพอถึงจุดนึง ก็มีคนเห็นว่าเรามีประสบการณ์มากพอ เลยให้เราลองไปเป็นครูสอนการแสดง เราก็เอาประสบการณ์ของเรา เอาจากที่เราเคยไปเวิร์คช็อปละครมาใช้สอนเด็กๆ แล้วเราก็รู้สึกว่ามันก็โอเคนะ มันก็ได้ทำสิ่งที่เรารักอยู่ เราไปเรียนในเรื่องของการแสดงเพิ่ม เพื่อที่จะได้มาสอนเพิ่ม ก็พยายามทำให้ตัวเองไม่ว่างค่ะ ซึ่งแอร์มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดานะ ไม่ใช่แค่กับนักแสดง แอร์เชื่อว่าทุกอาชีพ ทุกคนต้องเจอ ช่วงที่การงานรุ่งแล้วก็การงานมันดร็อปลงไป แต่ถ้าเกิดว่าคุณรักมันจริง คุณตั้งใจ คุณทำกับมันดีที่สุดแล้วแอร์เชื่อว่า เดี๋ยวมันก็กลับขึ้นมาอีกค่ะ
มาที่เรื่องของการเป็นครูสอนการแสดง ทำไมถึงคิดว่าเราจะมาสอนได้
เราเป็นพี่คนโตอยู่แล้ว เราก็จะมีพาร์ทในการสอนน้องอยู่แล้ว แอร์ชอบสั่ง ชอบสอน ชอบบ่น เป็นคนขี้บ่น แล้วพอมีผู้กำกับคนนึง พาไปรู้จักโรงเรียนๆ นึง แล้วก็ฝากฝังแอร์กับที่นั่น ให้แอร์มาช่วยสอน แต่แอร์ก็บอก เขานะว่าไม่รู้จะสอนอะไรเพราะไม่เคยเรียนมา ซึ่งเขาก็บอกว่าเอาประสบการณ์มาสอนก็ได้ แอร์ก็เลยโอเค แล้วพอลองไปแชร์ประสบการณ์ครั้งนึง เขาก็ให้ลองเป็นครูรับเชิญ ก็ลองไปสอนดูแล้วก็พบว่าสนุกดีค่ะ สอนแล้วเด็กก็เข้าใจ มันก็เลยมีกำลังใจในการสอน เวลาสอนเสร็จแล้วเด็กมาบอกว่า หนูไม่เคยสนใจการแสดงมาก่อน เมื่อก่อนหนูอยากเป็นนักร้อง พอมาเรียนการแสดงกับครูแอร์แล้วทำให้รู้สึกชอบการแสดงมากขึ้น นั่นเป็นกำลังใจให้เรามากๆ
คิดว่าจุดเด่นของคุณครูแอร์คืออะไร
บทจะใจดีแอร์ก็ใจดีมากเลย เวลาจะดุก็ดุมาก ดุแบบจริงจัง แอร์ว่าจุดเด่นของแอร์ในการสอนคือ แอร์จริงใจในการสอน แอร์ไม่ได้รักษาภาพว่าจะต้องเป็นครูใจดี เด็กออกจากห้องแล้วจะต้องชม ไม่ แอร์ดุ ดุในสิ่งที่แอร์มองว่าจะต้องเข้มงวดกับเขาในบางเรื่อง ในเรื่องของความจริงจัง ในเรื่องของวินัย แอร์มองว่าแอร์ดุด้วยเมตตา เพราะแอร์ไม่อยากให้เขาไปโดนด่าข้างนอก ถ้าคุณโดนดุ โดนด่าข้างนอก คุณตกงานนะ ถ้าวันนี้คุณฟังที่แอร์ดุ แอร์สอนไป แล้วถ้าปรับปรุงตัว ข้างนอกเขาจะต้อนรับคุณ เขาจะเห็นคุณเป็นเด็กดี จะเห็นว่าคุณเป็นเด็กมีวินัย เขาจะเห็นว่าคุณเห็นคุณค่าของงานที่คุณได้รับ
พี่แอร์จบมาทางด้านการแสดงหรือเปล่า
ไม่ใช่ค่ะ แอร์เรียนออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแล้วก็จบ Finance and Banking ค่ะ ไม่เกี่ยวเลย (หัวเราะ)
แล้วได้ทำงานตามที่เรียนบ้างมั้ย
ไม่ได้ทำด้วย (หัวเราะ) ไม่ได้ทำโดยตรง แต่ว่าอย่าง Packaging บางทีเราก็มีโอกาสออกแบบแพ็คเกจของเราเอง หรือออกแบบให้เพื่อน ให้รุ่นน้องอะไรอย่างนี้ ส่วน Finance and Banking เราก็ใช้จัดการเรื่องการเงินของเราค่ะ
มีคนบอกว่านักแสดงรุ่นใหม่มีวินัยไม่เท่านักแสดงรุ่นเก่า จริงมั้ย
ไม่จริงหรอก นักแสดงสมัยก่อนบางคนที่ไม่มีวินัยก็มี มันมีทุกยุคสมัยแหละ คนที่ไม่มีวินัย มันมีคนที่มาทำงานสาย คนที่โดดกอง แต่สุดท้ายแล้วเขาจะถูกกระทำบางอย่าง แล้วจะเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่มีใครทำแบบนี้ไปได้ตลอด สุดท้ายแล้วเขาจะโดนบางอย่างที่สั่งสอนเขาแล้วเขาก็ต้องปรับปรุงตัว
คิดว่าการจะอยู่ในวงการนี้แบบอมตะ ต้องมีคุณสมบัติยังไงบ้าง
แอร์ว่ามันไม่มีอมตะอยู่แล้ว มันเป็นไปไม่ได้ที่คุณเป็นนักแสดงตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ถ้าถามว่านักแสดงที่ดีควรจะเป็นยังไง คำตอบคือทำการบ้าน ทำความเข้าใจบท สำคัญเลยนะ นักแสดงบางคนกลัวดูไม่ดี แอร์พูดเลยนะว่าถ้าคุณกลัวดูไม่ดี คุณจะไม่มีดีให้ดู ถ้าคุณจะมาเก๊กหล่อ เก๊กสวยตลอดเวลา มันไม่ใช่ หรือคุณขัดแย้งกับตัวละครว่าทำไมต้องพูดแบบนี้ ทำไมต้องทำแบบนี้ แค่นี้คุณก็ไม่ใช่ตัวละครแล้ว นักแสดงที่ดีต้องให้เกียรติตัวละคร ให้เกียรติคนดู คุณถึงต้องทำการบ้าน ต้องทำความเข้าใจบท แล้วต้อง Improvise ให้เป็นด้วย ไม่ใช่ว่าพอผู้กำกับมาเปลี่ยนอะไรหน้ากองแล้วคุณบอกว่า คุณทำการบ้านมาแบบนี้แล้ว คุณไม่เอา ไม่ได้ คุณต้องรู้หน้าที่ตัวเองว่าคุณเป็นนักแสดง และนั่นคือหน้าที่ของผู้กำกับ นี่คือหน้าที่ของช่างแต่งหน้า ช่างทำผม เขาแต่งหน้าให้คุณตรงคาแร็กเตอร์ ไม่ได้เอาสวย เอาหล่อ แต่คุณจะไปเรื่องมาก เปลี่ยนนั่น เปลี่ยนนี่ มันทำให้คนอื่นทำงานลำบาก คุณเป็นนักแสดงก็จริง แต่มันมีอีกหลายสิบชีวิตนะ ถ้าคุณไปเรื่องมาก มาสาย เขาก็ทำงานช้า โลเคชันนึงมีค่าใช้จ่าย ทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย ถ้าเขาทำงานไม่ทันเพราะคุณมาสาย เพราะคุณเรื่องมาก คุณไม่ได้ทำการบ้านมา คุณจำบทไม่ได้ พอถ่ายไม่ทัน คุณก็ไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ ทุกอย่างมันเป็นลูกโซ่กันไปหมด เพราะฉะนั้น นักแสดงที่ดีควรจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเรื่องของวินัยในการทำงานและการดูแลตัวเอง เคยมีเด็กถามแอร์ว่า นักแสดงห้ามป่วยห้ามตายจริงไหม แล้วคนเราห้ามป่วยได้ยังไง แน่นอนว่าคนเราห้ามป่วยไม่ได้ แต่คุณดูแลตัวเองได้ ไม่ใช่พรุ่งนี้มีถ่ายเช้า แต่เมื่อคืนคุณไปปาร์ตี้ คุณนอนไม่พอ มานอนหน้างาน นี่ก็ไม่ได้ นักแสดงที่มีสปิริตบางคนเขาไม่สบายเพราะมันเหตุฉุกเฉินจริง มีนะที่เขาต้องไปฉีดยาแล้วมาทำงานต่อ ก็มีค่ะ
นักแสดงบางคนที่เขาอินกับบทมากแล้ว Improvise ในทิศทางที่ตนเองเข้าใจ ซึ่งมันอาจจะแตกต่างจากบทเดิมไป มันมีเส้นแบ่งไหมว่าการกระทำแบบไหนคือการ Improvise หรือแบบไหนคือการไม่ให้เกียรติบทเดิม
การ Improvise คือการที่คุณอยู่ในคาแรกเตอร์ของคุณนะ คือมันจะมี Objective ของตัวละครอยู่ ถ้าคุณทำเกิน Objective ของตัวละคร นั่นไม่ใช่ตัวละคร นั่นเป็นตัวคุณ ตัวหนังสือดิ้นได้ ตัวละครดิ้นได้ คำพูดดิ้นได้ แต่ถ้าเกิดว่าเผลอออกอ่าว ออกทะเล นั่นเป็นหน้าที่ของผู้กำกับแล้ว ว่าเขาจะเอาแค่ไหน ซึ่งหน้าที่ของคุณก็คือ คุณต้องเชื่อผู้กำกับ
พี่แอร์คิดว่าจะอยู่ในวงการนี้ โดยที่ให้น้ำหนักไปที่บทบาทไหนมากที่สุด
แอร์มองว่าทุกบทบาทมีความสำคัญเท่ากันหมด ไม่ว่าจะเป็นครูสอนการแสดง โปรดิวเซอร์ หรือนักแสดง แต่มันก็ต้องจัดคิว จัดเวลา สมมุติแอร์รู้แล้วว่า แอร์จะต้องไปเป็นโปรดิวเซอร์ให้กองนี้ แล้ววันเดียวกันนั้นแอร์มีถ่ายงาน แอร์ก็ต้องแจ้งเขาก่อนว่าวันนี้แอร์ติดงานนะ เพื่อให้เขาสามารถโยกย้ายถ่ายงานกันได้ทัน ไม่ใช่ว่าพรุ่งนี้แอร์จะต้องไปถ่ายงานอยู่แล้วๆ เพิ่งนึกขึ้นได้ แล้วมาบอกเขาแบบเร่งด่วน จนเขาเปลี่ยนตัวหรือทำอะไรไม่ทัน แบบนี้ไม่ได้ แอร์ให้ความสำคัญเท่ากันหมด อยู่ที่อะไรมาก่อน มาหลัง ก็ต้องจัดระเบียบ ไม่ใช่ว่างานนี้ได้เงินเยอะกว่าก็เลยไปงานนี้ ไม่ค่ะ
และอีกหนึ่งบทบาทสุดท้าทายในซีรีส์ พรุ่งนี้.. จะไม่มีแม่แล้ว ที่เธอต้องรับบทเป็น “น้ำ” พนักงานมูลนิธิที่เฉยชา และดูเหมือนจะมีปมในใจอยู่ตลอดเวลา พี่แอร์ตีความตัวละคร “น้ำ” ว่าเขามีปมอะไรในชีวิต ถึงได้โตขึ้นมาเฉยชาแบบนี้
ตอนเด็กๆ เขาถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้เขามีปมในใจ ไม่อยากที่จะแสดงออกความรู้สึกอะไรมาก ไม่อยากจะเจ็บอะไรมาก เขาก็เลยไม่อยากปฏิสัมพันธ์กับใครเพราะความผิดหวัง จากที่โดนพ่อแม่ทิ้ง โดยเฉพาะแม่ ที่ทำให้เกิดเป็นแผลในใจของเด็กตัวเล็กๆ ว่าได้ถูกคนที่ไว้ใจทำร้าย พอโตขึ้นมา เขาก็เลยไม่กล้าที่จะไว้ใจใคร หรือว่าจะมีความรู้สึกลึกซึ้งกับใคร
แล้วการที่ตัวละครนี้ได้มารู้จักครูยักษ์ (เดวิด อัศวนนท์) มันส่งผลให้สองตัวละครนี้มีปฏิสัมพันธ์กันยังไงบ้าง
กับครูยักษ์เนี่ย มันเหมือนกับเป็นคนที่ทำงานร่วมกัน เราสองคนมีเป้าหมายเดียวกันคือการหาบ้านให้เด็ก โดยที่ให้เด็กเป็นคนเลือกพ่อแม่ ไม่ใช่พ่อแม่เป็นคนเลือกเด็ก เพราะฉะนั้น พอเป้าหมายตรงนี้ของเราเหมือนกัน เราก็เลยทำงานร่วมกันได้
ความรู้สึกที่อยากจะให้เด็กเป็นคนเลือกบ้าน แทนที่จะเป็นผู้ใหญ่เลือกเด็ก มันเป็นการแก้แค้นมั้ย เหมือนว่าสองตัวละครนี้มีไดเร็กชันเดียวกัน คืออยากจะแก้แค้นสังคม เอาคืนอะไรกับสังคมหรือเปล่า
แอร์ไม่ได้มองว่าเป็นการแก้แค้น แต่มองว่า เรารู้สึกว่าทำไมตอนเด็กๆ เราไม่มีโอกาส ทำไมเราไม่มีโอกาสที่จะเลือกพ่อแม่ ทำไมจะต้องเป็นแม่คนนี้ ทำไมต้องพ่อคนนี้ ทำไมต้องเป็นคนที่ทำร้ายเรา เป็นคนที่ทำลายความไว้ใจของเรา เป็นคนที่ทำให้เราเจ็บปวด เราเลยรู้สึกว่าถ้าวันนึงเราช่วยเหลือแด็กเหล่านี้ได้ เราอยากจะให้เขาเป็นคนเลือกพ่อแม่ คนที่เขาสามารถไว้ใจได้ ให้ความรักได้ ฝากชีวิตได้มากกว่า
แล้วในเรื่อง พี่น้ำมีบทบาทในการดูแลหรือว่าตัดสินใจเกี่ยวกับเด็กแต่ละคน ในการที่จะได้ออกจากบ้านเด็กกำพร้าไหม
คือในเรื่องนี้ น้ำจะเป็นคนที่รับเด็กมาจากพ่อแม่ที่ทอดทิ้ง หรืออาจไม่พร้อมที่จะเลี้ยงเขา อาจเป็นเด็กกำพร้าที่ไม่มีญาติที่ไหน น้ำก็จะไปรับเขามา แล้วก็จะเป็นคนไปดูสถานที่ ดูบ้านใหม่ ซึ่งเป็นบ้านของพ่อแม่อุปถัมภ์ว่าเป็นยังไง พอให้เด็กไปทดลองเลี้ยงแล้วเขามีความสุขมั้ย คือไม่จำเป็นที่จะต้องรวยมาก อาจป็นบ้านธรรมดาๆ หรือบ้านที่พอมีพอกิน แค่เพียงเด็กคนนี้ไปอยู่แล้วมีความสุข น้ำก็พร้อมที่จะให้ครอบครัวนั้นรับอุปการะเด็กคนนี้ไป
อยากให้พูดถึงปัญหาของเด็กๆ ตัวนำทั้ง 4 คน ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้มั้ย
แต่ละคนก็จะมีปัญหาแตกต่างกันนะ อย่างของนกกระจิบ (จัสมิน) เขาอยากมีพ่อแม่เป็นต่างชาติ เขาจะคอยเรียกหาแดดดี้ มัมมี่ ตลอดเวลา แต่ว่าพอวันนึงเขาได้เจอมัมมี่ แดดดี้ของเขาแล้ว บ้านนั้นกลับไม่อยากได้เด็กผู้หญิง เขาจึงต้องปลอมตัวเป็นเด็กผู้ชาย มันคือความฝันของเด็ก เป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เขาอยากได้
ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็ต้องรอดูว่าแดดดี๊กับมัมมี่จะยอมรับมั้ยที่เขาเป็นเด็กผู้หญิง เพราะสุดท้ายแล้ว มันก็คือว่า ถ้าคุณจะรักชั้น คุณต้องรักสิ่งที่ชั้นเป็นจริงๆ หรืออย่างของพอใจ (แฟร์รี่) ที่กลัวว่าตัวเองจะไม่ได้รับความรัก เพราะตัวเองโดนแม่แท้ๆ ทิ้งมาก่อน เแม่อยากจะมีชีวิตของตัวเอง พอเขาได้มาเจอบ้านที่รักเขาจริงๆเนี่ย มันทำให้เขาเกิดความกลัว เพราะลึกๆ แล้ว เด็กเขาโทษตัวเองว่า ที่แม่ทิ้ง พ่อทิ้ง เป็นเพราะตัวเขาหรือเปล่า ดังนั้นเขาจึงเกิดความระแวงว่ามันจะเป็นเพราะเขาอีก กลัวว่าประวัติศาสตร์อะไรมันจะซ้ำรอยอีก บวกกับการที่ว่าเขาเห็นว่ามีคนรักเขามากๆ เขาก็อาจกลัวการต้องสูญเสียไปอีกก็ได้
หรืออย่างพัสดุเอง สุดท้ายแล้วต้องรอดูตอนจบว่าพัสดุจะเป็นยังไง ใครที่จะได้เป็นพ่อแม่อุปถัมภ์ของพัสดุ และเปียโน ที่เป็นเด็กที่บ้านรวยมาก่อน มีเงินมาก่อน ซีรีส์เรื่องนี้จะทำให้เราเข้าใจเลยว่า แท้จริงเด็กไม่ได้อยากอยู่กับพ่อแม่ที่พร้อมโดยฐานะ เขาอยากจะอยู่กับพ่อแม่ที่พร้อมที่จะให้ความรักมากกว่า ไม่ได้อยู่ที่ฐานะเงินทองเลย
อะไรที่ทำให้พี่แอร์ตัดสินใจมารับบทพี่น้ำ
แอร์ชอบเนื้อหาของมัน แอร์รู้สึกว่าละครหรือหนังบ้านเราส่วนใหญ่ มักมีแต่เรื่องของคู่รัก ความรักของผู้หญิงผู้ชาย การต่อสู้กันเรื่องของความรัก แต่ว่าไม่ค่อยมีเรื่องไหนที่พูดถึงเรื่องครอบครัว หรือปัญหาของเด็กที่ถูกทอดทิ้ง แล้วเรารู้สึกว่าตอนนี้ ชีวิตเรากำลังจะได้เป็นแม่คนละ ก็เลยรู้สึกอยากที่จะมีส่วนในการสอนอะไรบางอย่าง แม้แต่เตือนตัวเองด้วย แล้วบทพี่น้ำ ก็ค่อนข้างท้าทาย เพราะว่ามันไกลตัวเรามาก คือคุณพ่อ คุณแม่แอร์ยังอยู่ครบ น้ำเองเป็นเด็กกำพร้า ที่ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจตั้งแต่เด็ก แอร์เองไม่เคยถูกทำร้ายร่างกายเลย มีบ้างที่ซนแล้วถูกตีเป็นเรื่องปกติ เป็นการสั่งสอน เขาไม่ได้ทำร้ายเรา เขากำลังสั่งสอนและกำลังให้ความรักกับเรา อีกอย่างคือ น้ำเป็นคนที่ไม่แสดงความรู้สึกอะไรเลย ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะ ไม่ร้องไห้ นิ่งมาก ส่วนแอร์ไม่นิ่งเลย แล้วก็ชอบหัวเราะ หัวเราะเสียงดังด้วย (หัวเราะ) ก็เลยต่างมากอยู่ค่ะ
อยากให้เล่าความรู้สึกที่ได้เข้าฉากกับน้องอัด (อัด-อวัช รับบท สิง)
คือน้องอัดเป็นรุ่นน้องแอร์ที่สาธิตฯ ประสานมิตร แต่นั่นคือแอร์อยู่ม.2 แล้วน้องเขาเพิ่งเกิด (หัวเราะ) คือแบบ.. (หัวเราะ) เราเล่นคู่กับพระเอกเด็กกว่ามาตลอดเลย แต่นี่น่าจะเด็กสุดแล้วจริงๆ ก่อนหน้านี้สมัยเข้าวงการละครใหม่ๆ ก็มีหนัง มีละครติดต่อมาแล้วมีบทจูบ เล่นได้มั้ย เราก็จะเล่นตัว ไม่ได้ๆ ถ้าหนูเล่นจูบกับคนนี้ได้ อีกหน่อยหนูเล่น 10 เรื่อง หนูก็ต้องจูบผู้ชาย 10 คนสิ แต่เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว
แต่พอนักแสดงที่ต้องเล่นเลิฟซีนด้วยอายุห่างกันมากๆ พี่แอร์บิลด์ตัวเองยังไง
อย่างที่บอกว่าเมื่อก่อนเราหนีเรื่องเลิฟซีนมาตลอดเลย เต็มที่คือหอมแก้ม จับมือ โอบ แต่ถ้าจะให้มาจูบปาก เมื่อก่อนไม่เอาเลย ไม่กล้า จนเรามาเป็นครูสอนการแสดงเอง แล้วเรารู้สึกว่าเราต้องซื่อสัตย์กับตัวละครมากกว่านี้ เราต้องแยกตัวเรากับตัวละคร มันไม่ใช่เราที่ไปจูบเขา อย่างเรื่องนี้ มันไม่ใช่แอร์ที่ไปจูบกับน้องอัด มันคือน้ำที่ไปจูบกับสิง แล้วตอนนี้พอเราแต่งงานแล้วเราก็ต้องอธิบายให้สามีฟังว่ามันเป็นแค่อวัยวะส่วนนึง โชคดีที่สามีเข้าใจด้วยแหละว่ามันเป็นเรื่องการทำงาน แล้วเขาก็รู้อยู่แล้วว่าแอร์มีลิมิตของแอร์บางอย่าง อย่างหนังอาร์ แอร์ก็ไม่เล่น ถ้าจะต้องถึงขั้นเห็นหน้าอก หรือว่าต้องมาทำท่าว่ากำลังปะโจ๊ะกันอยู่ ไม่เอา (หัวเราะ) แต่ถ้าจูบก็.. ได้ เราต้องทำสิ มันเป็นสปิริตของนักแสดงนะ จนถึงขนาดที่ว่า ตอนนี้เราไม่เข้าใจแล้วด้วยซ้ำว่า ทำไมพอจูบเสร็จแล้วนักแสดงชายต้องขอโทษ เรามองข้ามตรงนั้นไปแล้ว เรารู้สึกว่าถ้าเกิดเราจูบกับนักแสดงชาย แล้วนักแสดงชายใช้ลิ้นหรือเที่ยวเอาไปพูดว่า กูได้จูบนางเอก อะไรแบบนั้น คุณควรที่จะขอโทษ เพราะนั่นคือคุณไม่ให้เกียรติฉัน แต่ถ้าเกิดว่าตัวละครมันจูบกัน บทมันบอกให้จูบกัน เราควรที่จะให้เกียรติแล้วเคารพตัวละคร ไม่ใช่ไปแบบ แหยะ หยี หรือถ้าเจอผู้ชายไม่หล่อเลย ทำไมต้องเล่นจูบกัน เฮ้ย! มันไม่ใช่ มันคือตัวละคร คุณต้องเป็นตัวละคร เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องขอโทษ แต่ถ้าคุณเล่นไม่ดี คุณไม่เชื่อ คุณไม่อิน คุณค่อยขอโทษ ไม่ต้องขอโทษฉันนะ ขอโทษตัวคุณเองที่คุณทำงานออกมาได้ไม่ดีมากกว่า
ซีรีส์เรื่องนี้มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กกำพร้า เรื่องราวดราม่า มันมีเหตุผลที่ตัวละคร 2 ตัวนี้จะต้องเลิฟซีนกันด้วยหรือ
จะบอกว่าในเวอร์ชั่นญี่ปุ่น เค้าโจ๊ะกันเลยเด้อ (หัวเราะ)
เสียดายมั้ยคะที่มันดร็อป
แอร์ว่าครูมาย (ผู้เขียนบท) อิจฉา เลยเปลี่ยนบท (หัวเราะ) ล้อเล่น คือเห็นแบบนี้ ก่อนเข้าฉากเรามือเย็น เหงื่อแตกเลยนะ ตื่นเต้นมาก ต้องตั้งสติ แต่คนมันไม่เคยไง (หัวเราะ) ซึ่งอัดก็ไม่กล้ามาคุยกับเรา เราก็ไม่กล้ามองหน้าอัด (หัวเราะ) เขินจัง (หัวเราะ) แต่ก็ผ่านไปด้วยดีแหละ ประเด็นคือวันนั้นเด็กๆ อยู่เยอะ แล้วก็นั่งดูอยู่หน้ามอนิเตอร์ ซึ่งการถ่ายหนัง ถ่ายละคร มันไม่ได้ถ่ายครั้งเดียวจบ แล้วผ่านเลยอยู่แล้ว พอครั้งไหนจุ๊บพลาด เด็กๆ ก็หัวเราะกันลั่น แบบดังลั่นมากมาจากมอนิเตอร์ แบบนี้เลย (หัวเราะ) คือถามว่ามันมีเหตุผลมั้ยที่สองตัวละครนี้จูบกัน คือก็ต้องบอกว่า ซีนนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของตัวละครนะ แต่มันเป็นครั้งแรกที่คนดูได้เห็น ว่าตัวละครสองตัวนี้ มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งบางอย่าง
แสดงว่ามีฉากจูบหลายรอบ
จริงๆ อะมีแอบโจ๊ะกันด้วย (หัวเราะ) แต่มันไม่จำเป็นต้องถึงขนาดนั้น เพราะว่าตัวน้ำเอง ตั้งแต่แรกคือไม่ให้ใครแตะเนื้อต้องตัวเลยอยู่แล้ว แต่พอวันนึงคนดูมาเห็นว่าจูบกับสิง มันก็ตอบได้ทุกอย่างแล้ว
แล้วถ้าถามถึงมิติอารมณ์ระหว่างน้ำกับสิง ทั้งสองคนนี้มีความรู้สึกต่อกันยังไง
ของพี่น้ำกับสิงเนี่ย เรามีปมวัยเด็กเหมือนกัน อาจจะในเรื่องของความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ก็เลยเป็นสองคน ที่แต่ละคนมีปมบางอย่างอยู่ในใจ อย่างน้ำ เขาจะไม่ให้ใครมาแตะเนื้อต้องตัวเลย ไม่ได้เลย น้ำจะไม่จูงมือเด็กด้วยซ้ำทั้งๆ ที่อยากจะช่วยเหลือเขานะ แต่น้ำจะไม่สัมผัสตัวเขา ส่วนสิงเองก็ไม่พูดอะไรเลย เพราะมีปัญหา มีปมบางอย่าง ซึ่งปมของสองคนนี้คล้ายกัน ถึงแม้การแสดงออกตอนโตจะไม่เหมือนกันก็ตาม แต่ด้วยความที่เขามีปมคล้ายกันมาตั้งแต่เด็กมันก็เลยก่อให้เกิดความรู้สึกบางอย่าง ความเข้าใจกันบางอย่าง ซึ่งจะได้รักกันไหม ก็ต้องดูตอนจบ (ยิ้ม) เราว่าทั้งคู่เจออะไรหนักๆ กันมาทั้งคู่ ตอนเด็กๆ อาจจะไม่ได้โตมาในบ้านหลังเดียวกัน แต่ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันและกัน เจ็บมาเหมือนกัน
แฮปปี้มั้ยกับการทำงานเรื่องนี้ที่ต้องเจอเด็กเยอะมาก เด็กๆ ซนไหม
เราเล่นละครเด็กมาเยอะมากเลยนะ เรียกว่าชินแล้วก็ได้ เราเคยเจอเด็กที่ไม่ค่อยน่ารักเหมือนกันนะ นานมาแล้ว ตอนนั้นใส่กระโปรง แล้วมีเด็ก 6-7 ขวบ ที่ค่อนข้างรู้งาน เป็นเด็กที่เล่นละครมาหลายเรื่องแล้ว มาเข้าฉากด้วยกัน พอเด็กรู้ว่าถ่ายแค่นี้ (ครึ่งตัวบน) มือก็ล้วงเข้าไปด้านใต้กระโปรงแอร์แล้วจับตรงนั้นอะ ตอนนั้นโกรธมาก (ลากเสียง) แล้วเราก็พูดบทอยู่ ทำหน้าโกรธก็ไม่ได้ แต่ในใจคือโคตรโกรธ เรารู้สึกว่า เราผ่านเด็กคนนั้นมาได้ เด็กกลุ่มนี้ธรรมดามาก หมายถึงว่าเด็กๆ กลุ่มนี้เรียบร้อยและน่ารักมาก ตั้งใจทำงานและเก่งกันมากจริงๆ
พี่แอร์คิดว่าได้รับอะไรจากการเล่นซีรีส์เรื่องนี้บ้าง
คือจากการที่เราอ่านบท เราไม่ได้ทำความเข้าใจแค่ตัวละครของน้ำตัวเดียว เราทำความเข้าใจตัวละครทุกตัวว่าเขาคิดยังไง รู้สึกยังไง เพราะอะไรเขาถึงทำแบบนี้ เราว่ามันสนุกดีกับการที่เราได้ทำความเข้าใจคนหลายๆ แบบ เพราะเราไม่ชอบที่จะตีความว่าเขาทำผิดหรือทำถูก แอร์เชื่อว่าทุกคนไม่มีใครอยากผิด ทุกคนมีเหตุผลที่ไม่ยอมรับผิด แต่ไม่ใช่ว่าการไม่ยอมรับผิดเป็นเรื่องดีนะ แอร์แค่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ยอมรับผิด แต่ถ้าเป็นไปได้ ยอมรับผิดเถอะ แล้วแก้ไขตรงที่ผิดตรงนั้นดีกว่า ไม่ใช่ไม่ยอมรับผิดไปเรื่อยๆ แล้วคุณก็ไม่ได้แก้ไขอะไรเลย เราว่ามันเป็นธรรมชาติมนุษย์ที่ ส่วนใหญ่คนเราเดี๋ยวนี้โทษคนอื่นไว้ก่อน ไม่ยอมรับว่าเป็นความผิดตัวเอง แต่ถ้าเรายอมรับ เราก็จะได้ปรับปรุงให้ถูกจุด แค่นั้นเอง
คิดว่าซีรีส์เรื่องนี้ให้อะไรกับคนดูบ้าง ในฐานะที่เนื้อหาของมันไม่ได้แมส อาจไม่ได้ดูง่ายหรือเข้าใจง่าย หรือพี่แอร์คิดว่ามันเล่าเรื่องราวอะไรที่แปลกใหม่บ้างไหม
ถ้าถามว่ามันดูยากมั้ย แอร์ว่าไม่ได้ดูยากนะ เพราะว่าในแต่ละพาร์ทของเด็กแต่ละคน ก็บอกอยู่แล้วว่าความต้องการของเด็กแต่ละคนจริงๆ แล้ว เขาต้องการอะไร เขาไม่ได้ต้องการฐานะเงินทอง ชื่อเสียง และไม่ได้ต้องการการถูกทอดทิ้ง คนที่เขาไว้ใจจริงๆ คือคนที่เขารัก คนที่เขาเรียกว่าพ่อกับแม่ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ถ้าเราพร้อมที่จะมาเป็นพ่อเป็นแม่เขาแล้ว เราพร้อมที่จะให้ความรักเขาจริงๆ มั้ย เราพร้อมที่จะเข้าใจและให้เวลาเขามั้ย มันสะท้อนสังคมหลายอย่าง ไม่ใช่ว่าซีรีส์นี้มาจากญี่ปุ่น แล้วจะเข้าถึงคนไทยไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้วเด็กทั่วโลกก็เหมือนกัน ต้องการความรักเหมือนกัน ต้องการการดูแลเอาใจใส่เหมือนกัน ไม่มีใครต้องการถูกทำร้ายไม่ว่าจะเด็กหรือกระทั่งผู้ใหญ่ เรื่องนี้ไม่ได้มีปมแค่เด็กอย่างเดียว ผู้ใหญ่บางคนก็มีปมด้วย เพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่เนื้อหาเฉพาะกลุ่ม แอร์มองว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ดูได้ และควรดูด้วย เพราะไม่อย่างนั้นบางทีเราเป็นผู้ใหญ่ เราอาจไม่เข้าใจตัวเองว่า ทำไมโตมาแล้วเราคิดแบบนี้ เรารู้สึกแบบนี้ อ๋อ.. มันเป็นเพราะว่าตอนเด็กๆเราโดนกระทำมาแบบนี้ ซึ่งสิ่งที่โดนกระทำทั้งหมด ทั้งร้ายและดี มันเป็นเกราะป้องกันบางอย่างที่ทำให้พอเราโตขึ้นมา เรากลายเป็นคนแบบนั้น แบบนี้ พูดจาแบบนี้ ทำแบบนี้ ซึ่งถ้าทั้งหมดทั้งมวล เรามีความเข้าใจให้กัน เราแก้ปัญหาให้ตรงจุด แอร์ว่าสังคมทุกวันนี้ มันก็ไม่น่าจะมีปัญหาขนาดนี้
พี่แอร์คาดหวังไหมว่า ผู้ชมที่ชมซีรีส์เรื่องนี้จบ 10 ตอน เขาจะมีความคิดเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น หรือลึกซึ้งขึ้นบ้างหรือเปล่า
แอร์เชื่อว่ามันจะต้องกระทบใจคนดูบางเรื่อง บางประเด็น เพราะในแต่ละตอนของทั้ง 10 ตอนมันแฝงไว้ด้วยแง่คิด ข้อคิด แอร์เชื่อว่า อย่างน้อยๆ มันจะต้องมีบางประเด็นที่โดนใจคุณบ้าง บางเรื่องที่คุณอาจเคยเจอ แล้วสะท้อนให้คุณได้เห็นบางอย่าง จนให้คุณรู้สึกว่า มันใช่จริงๆ มันเป็นอย่างนี้จริงๆ แล้วคุณอาจจะทำความเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้นด้วยซ้ำ
คิดว่าการที่เด็กคนนึงโตขึ้นมาโดยที่ไม่มีครอบครัว ไม่มีคนดูแล มันเป็นปัญหาสังคมได้ยังไง
เอาจริงๆ แล้ว เด็กบางคนมีพ่อแม่ที่รักมาก แต่ก็มีปัญหา มันก็มีนะ เราคงตอบไม่ได้ว่าเด็กที่ไม่ได้รับความรักมาเลยแล้วจะกลายเป็นเด็กมีปัญหา ไม่อยากมองตรงนั้น แอร์อยากมองว่า สังคมทั้งหมดมากกว่า ทั้งสิ่งแวดล้อมรอบข้างและอื่นๆ บางทีเราทุกคนเอาแต่โทษสถาบันครอบครัว แต่มันอาจเป็นไปได้ว่าเด็กอาจไปเจอเพื่อน เจอสังคมอย่างอื่นที่ทำร้ายเขาก็ได้ อาจไม่ใช่พ่อแม่เขาก็ได้ แล้วคำว่าเด็กมีปัญหา เอาจริงๆ แล้ว มันคืออะไร บางคนตีความไม่เหมือนกันนะ มันแค่ เขาอาจจะเป็นตัวของเขาแบบนั้น ที่ไม่เหมือนกับคนอื่น แอร์ไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหานะ เขาแค่เป็นตัวของเขาที่ไม่เหมือนกับคนอื่นก็เท่านั้น ส่วนถ้าเป็นปัญหาจริงๆ คือ การที่คุณทำอะไรผิดแล้วคุณไม่คิดว่าคุณผิด นั่นต่างหากคือปัญหา เช่นคุณทำผิดกฏหมาย นั่นคือปัญหาแน่นอน เพราะคุณทำให้ตัวเองและคนอื่นเดือดร้อน ปัญหามันจะใหญ่ถ้าเกิดว่าคุณไม่รู้ตัวว่าคุณทำผิด
แปลว่าการเป็นเด็กกำพร้าไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องมีปัญหา
บางทีเด็กกำพร้าอาจจะทำให้สังคมนี้น่าอยู่ก็ได้ มันอยู่ที่ตัวเขาคิดได้หรือเปล่า มันอาจจะทำให้เขามองเห็นในสิ่งที่มันเป็นจริงก็ได้ แล้วก็ไม่ได้จะทำอะไรให้มันเกิดปัญหา แล้วมันก็ไม่ได้ผิดที่เค้าด้วย โทษเขาไมได้นะ การที่เขาเป็นเด็กกำพร้าอะค่ะ
แล้วถ้ามีบ้านเด็กกำพร้าแบบครูยักษ์เยอะๆ จะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้มั้ย
แอร์เชื่อว่า ถ้าเป็นบ้านที่เป็นแบบครูยักษ์ มีคนสั่งสอน คอยเลี้ยงดู และเข้าใจเด็กๆ แบบครูยักษ์จริงๆ แอร์เชื่อว่าปัญหาบางอย่างแก้ได้ แต่สุดท้ายแล้วเขาทั้งหมดไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่แค่ในบ้านนกกาเหว่า สุดท้ายเขาต้องไปอยู่กับสังคมข้างนอกอีก ซึ่งเราไม่สามารถตัดสินได้ว่า พอเออกไปอยู่ข้างนอกแล้ว เขาจะเป็นยังไง แต่แอร์เชื่อว่าการที่คนเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน มันสร้างภูมิคุ้มกันให้เขาแข็งแรงได้จริง แอร์เชื่อว่า ไม่ว่าเขาจะไปเจอปัญหาอะไร เขาก็จะสามารถแก้ไขได้
ทำไมคนดูต้องดูซีรีส์เรื่องนี้ แล้วมีใครที่ไม่เหมาะดูคอนเทนต์นี้หรือเปล่า
ถ้าถามว่าจะมีใครที่ไม่เหมาะดูพรุ่งนี้..จะไม่มีแม่แล้ว หรือเปล่า แอร์นึกไม่ออกนะ ครอบครัวก็ดูได้ เด็กก็ดูได้ ผู้ใหญ่ก็ดูได้ แล้วแอร์มองว่าทุกคนสมควรดู เพราะบางทีทุกคนอาจจะมองว่าเด็กกำพร้าเป็นเรื่องไกลตัว แต่มันไม่ได้ไกลตัวเลย เพราะสุดท้ายแล้ว นี่มันเป็นเรื่องของครอบครัว ทุกคนมีครอบครัวและทุกคนมีปัญหา ทุกคนต้องการความเข้าใจทั้งนั้น เพราะฉะนั้นดูเถอะค่ะ