TALK

จากใจแอร์โฮสเตสถึงผู้โดยสารและเหล่า Youtuber

แอร์โฮสเตส
16 ส.ค. 2562
อาชีพลูกเรือ หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม ‘แอร์โฮสเตส’ ถือเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน ซึ่งภายใต้รอยยิ้ม พวกเธอต้องแบกรับความรับชอบมากมาย ทั้งในเรื่องความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และการสร้างความประทับใจ...ในขณะที่ต้องเรียนรู้และเข้าใจผู้โดยสารอยู่ตลอดเวลา เคยคิดบางไหมว่า ‘บางครั้งแอร์ฯ...ก็อยากมีใครที่เข้าใจหัวอกบ้าง’ และนี่คือบทสัมภาษณ์แอร์โฮสเตส สายการบินชื่อดัง ซึ่งเราดึงตัวมา Skype คุยขณะที่เธอแลนดิ้งถึงปารีสหมาดๆ (แน่นอน...เพิ่งได้นอนบนเครื่องมาแค่ 3 ชั่วโมงเอง)


คนชอบคิดว่าอาชีพแอร์ฯ เก๋ สวย รวย สบาย จริงๆแล้วกดดันแค่ไหน

อย่างแรกการเป็นแอร์ฯคือต้องมีความสุขบนเครื่องบินตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในอารมณ์ไหนคุณต้องจูนโหมดให้ได้...ถึงจะเป็นโปรเฟสชั่นแนล เราจะมาทำหน้ายักษ์ใส่ใครต่อใครไม่ได้...ไม่มีลูกค้าคนไหนอยากจะเข้าใจปัญหาของเราหรอก...ทุกคนมาเพื่อเห็นรอยยิ้ม มาเพื่อได้รับบริการที่ดี มาเพื่อได้รับความสุข เรามีหน้าที่สร้างความประทับใจให้ลูกค้าให้ได้มากที่สุด

บางครั้งมันต้องเดิมพันกับสุขภาพ การทำงานของเราต้องสอดคล้องกับความสะดวกสบายของผู้โดยสาร หลายท่านอยากบินกลางคืนเพราะได้พักผ่อนบนเครื่องไปถึงเช้าจะได้เที่ยวเลย ซึ่งในช่วงนี้ลูกเรือทุกคนก็ต้องทำงาน...พอเครื่องแลนดิ้งถึงเช้าเราจะใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปไม่ได้ เราต้องนอนพักผ่อนเตรียมปฏิบัติงานต่อ ยกตัวอย่างวันนี้บินจากกรุงเทพมาปารีส ใช้เวลาบนเครื่องทั้งหมด 11 ชั่วโมง ถ้าหักเวลาที่เครื่องบินขึ้นและลงจอด รวมถึงเวลาเสิร์ฟอาหารต่างๆออกไป เท่ากับว่าพวกเรามีเวลา 6 ชั่วโมงบนเครื่องในการพักผ่อน จึงต้องต้องแบ่งลูกเรือครึ่งหนึ่งไปพักก่อน ส่วนเราได้นอน 3 ชั่วโมง ตอน 6 โมงเช้าถึง 9 โมง

ซึ่งการอดนอนก็อาจส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย ร่างกายก็มี Body Clock ของเขา อย่างมาปารีสเวลาช้ากว่าไทย 5 ชั่วโมง ไฟลท์หน้าเราไปโอ๊คแลนด์เวลาเร็วกว่าไทย 6 ชั่วโมง ถ้าร่างกายปรับไม่ทันก็เกิดอาการเจ็ทแลคได้ ซึ่งหากฮอร์โมนไม่ปกติแล้วบางคนที่ต้องการมีลูกอาจส่งผลให้มีลูกยากในอนาคต รวมถึงบางคนอาจประสบปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับปริมาณออกซิเจนในเลือด อย่างภาวะเลือดจาง แล้วก็อาจประสบกับโรคเครียดจากการทำงานในที่แคบ...เหล่านี้คือความเสี่ยงที่ทุกคนต้องแบกรับ



ตารางการเดินทางยืดหยุ่นได้ไหม

ตารางบินออกเป็นเดือนต่อเดือน โชคดีที่ว่าแอร์ฯแต่ละคนสามารถแลกตารางกันได้ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการดำเนินชีวิต ใครอดนอนได้ก็จะชอบบินไฟลท์ไกลๆ แต่ว่าใครอยากเจอหน้าครอบครัวก็อาจจะขอบินใกล้ๆได้ประมาณนี้

ทีนี้หลายคนบอกดีจะตาย...ได้ไปเที่ยวหลายๆที่ แต่เอาเข้าจริง ปัจจุบันธุรกิจสายการบินมีการแข่งขันกันสูงมาก ดังนั้นไฟลท์ส่วนใหญ่จะบินถี่ เป็นวันต่อวัน พอหลังจากเครื่องแลนดิ้งแล้ว เขาก็ให้เวลาเราประมาณ 24 ชั่วโมงก่อนจะกลับมาปฏิบัติหน้าที่ต่อ บริษัทจะจัดตารางตามกฎการบิน คือหลังจากบินจะต้องให้ลูกเรือพักประมาณ 24 ชั่วโมง แต่ความเป็นจริงการแข่งขันในธุรกิจการบินมันสูง บางทีกฎนี้ก็ไม่ได้เอื้ออำนวยในการหารายได้ให้กับบริษัท ก็เลยเฉลี่ยว่าบินมาแล้ว 12 ชั่วโมงพักได้แค่ 20 ชั่วโมง ประมาณนี้ ทีนี้หลายคนบอกดีจะตาย...เวลาที่เหลือจะได้ไปเที่ยว แต่เอาเข้าจริง ทั้งนอนทั้งทำธุระส่วนตัวก็ปาไปอีก 12 ชั่วโมงแล้ว คงไม่ได้เที่ยวอะไรขนาดนั้น

เรื่องความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด

คนใกล้ชิดต้องเข้าใจแอร์ฯให้มากๆ บางทีเรายิ้มบนเครื่องทั้งวัน พอกับบ้านมาเราก็อาจจะอยากอยู่นิ่งๆเฉยๆ ไม่อยากพูดกับใครก็มี หรือบางทีเราบินไฟลท์ยาวมาถึงก็อยากนอนพักผ่อนเอาแรง ซึ่งช่วงนั้นอาจจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวน้อยหน่อย พอหายเหนื่อยก็ปกติ



คิดยังไงกับคำว่า ‘ลูกค้าคือพระเจ้า’

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามุมมองของแอร์ฯ ลูกค้าก็คือพระเจ้า...เราต้องเคารพสิทธิ์ของลูกค้าเสมอ เขาซื้อตั๋วมาแบบนี้เขาก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับความประทับใจกลับไปเต็มที่ เราต้องรักษาชื่อเสียงของบริษัทและวิชาชีพ แต่ว่ามันก็มีขอบเขตที่เขาสามารถทำได้และไม่สามารถทำได้ หากอะไรที่พลาดพลั้งทำผิดไปแอร์ก็ต้องเตือน ไปบอกให้ลูกค้ารู้ ทุกค้าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีความสุขเต็มที่ก็จริงแต่ความสุขของเขาต้องไม่ละเมิดบุคคลอื่น หรือกฎการบิน

ความในใจถึงเหล่าผู้โดยสารและ Youtuber

อยากให้ทุกคนเข้าใจในผู้ให้บริการทุกคน ไม่จำเป็นต้องอาชีพแอร์ฯอย่างเดียว หมายรวมถึง พนักงานเสิร์ฟ เจ้าที่รักษาความปลอดภัย พนักงานประชาสัมพันธ์ และอื่นๆตามสถานที่ให้บริการ อยากให้คิดว่าเขาเป็นเพื่อนมนุษย์ที่ควรได้รับการปฏิบัติอย่างสุภาพและให้เกียรติ ควรมีมารยาทต่อกัน และไม่มีคำว่าใครเป็นเจ้านายใครเป็นลูกจ้างใคร

ส่วนประเด็นดราม่า Youtuber ที่ผ่านมา ส่วนตัวได้มีโอกาสดูคลิปแล้ว อย่างประเด็นที่Youtuber ขออาหารหลายๆอย่าง ที่บอกว่าไม่อร่อยขอเปลี่ยน ซึ่งในสถานการณ์จริงแล้วมันเสิร์ฟได้หนึ่งอย่างต่อหนึ่งคน แต่ถ้าหากผู้โดยสารไม่พอใจอยากได้จานใหม่หากมีอาหารสำรองเพียงพอกับผู้โดยสารท่านอื่น ก็โอเค...อย่างในคลิปเป็นไฟลท์กลางคืนซึ่งผู้โดยสารส่วนใหญ่ไม่ทานอาหารอยู่แล้ว แอร์ฯก็ยินดีเสิร์ฟ

ส่วนอีกหลายๆพฤติกรรมที่ทดสอบความอดทนของแอร์ฯในคลิป ซึ่งมีคำถามว่าคนเป็นแอร์ฯต้องอดทนขนาดนี้ไหม...เรามองว่ามันคือความโปรเฟสชั่นแนลประกอบกับนิสัยของคนไทย ที่ทุนเดิมมีความเอื้อเฟื้อ ถ้อยทีถ้อยอาศัยอยู่แล้ว เรามองว่าแอร์ฯในคลิปแก้ปัญหาได้ดีมาก

จริงๆมันถ่ายวิดีโอบนเครื่องบินได้ไหม

ถ่ายได้หากได้รับการอนุญาตจากบริษัทสายการบิน หากไม่ได้ทำเพื่อการค้าใดๆ ทำการโฆษณา หรือแสวงหาผลกำไรใดๆ ก็ย่อมทำได้แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้โดยสารคนอื่นและเจ้าหน้าที่บนเครื่อง



ทักษะของแอร์ฯที่ควรมี

จริงๆแล้วแอร์ฯต้องรอบรู้ในหลายๆด้าน อย่างที่ทราบเลยคือทักษะที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและการเอาตัวรอดยามฉุกเฉิน ทักษะการเป็นผู้ให้บริการ คุณต้องเรียนรู้ในเรื่องการเสิร์ฟเครื่องดื่ม การผสมค็อกเทลหลากหลายชนิด รวมไปถึงสูตรการอุ่นอาหารในสารพัดเมนูที่มันจะต้องใช้อุณหภูมิและเทคนิคแตกต่างกันไป และต้องเป็นผู้ที่มีใจรักการบริการจริงๆ อย่างการทำความสะอาดห้องน้ำก็เป็นหน้าที่ลูกเรือ เราต้องทำให้ห้องน้ำสะอาด มีกลิ่นหอมอยู่ตลอดเวลา เคยมีเคสผู้โดยสารท้องเสีย เราก็ต้องทำความสะอาดเอง หรือบางท่านคลื่นไส้อาเจียน คนเป็นแอร์ฯก็ต้องดูแลทำความสะอาดให้เรียบร้อยเช่นกัน

ประสบการณ์ลืมไม่ลง

เคยมีเคสผู้โดยสารหัวแตกบนเครื่อง เพราะหลังจากที่เครื่องลงจอด ก็เปิดเคสที่วางกระเป๋าเหนือศีรษะพอเปิดมาแล้วมีกระเป๋าผู้โดยสารท่านอื่นหล่นใส่ ก็ต้องมีการประกาศหาหมอบนเครื่องซึ่งแอร์ฯก็ต้องทำหน้าที่ปฐมพยาบาลเบื้องต้นไปก่อน

แล้วก็มีเคสผู้โดยสารไส้แตก เคสนี้ลูกสาวพาพ่อไปผ่าตัดที่ลอนดอนเพราะพ่อไม่มีประกันสังคมที่ไทย ถ้ารักษาที่นู่นจะถูกกว่า จากนั้นเขาก็ขึ้นไฟลท์ขากลับไปกรุงเทพ ซึ่งขณะนั้นแผลผ่าตัดยังไม่สนิทดี แล้วลูกค้าไม่ได้แจ้งใครว่าคุณพ่อผ่าตัดมา พออยู่บนเครื่องบินแผลผ่าตัดลำไส้เกิดปริ ก็ต้องผ่าตัดกันบนเครื่องบินทันที ปูผ้าห่มที่พื้น เราก็ทำหน้าที่ส่องไฟฉายให้ผ่าตัด นี่คือประสบการณ์ที่ลืมไม่ลง



เป็นแอร์ฯสิรวยเร็ว จริงไหม?

ยอมรับว่าเป็นอาชีพในฝันของใครหลายๆคน เริ่มต้นสำหรับคนจบปริญญาตรีอาจจะได้เงินเท่านี้ แต่แอร์ฯอาจจะมีเงินเดือนที่สูงขึ้นมานิดหนึ่ง แต่อัตราการเพิ่มเงินเดือนหลังจากนั้นก็ปกติ เพื่อนหลายๆคนในวงการอื่นที่เขาเก่งๆพออายุสามสิบแล้ว เงินเดือนเขาดีดขึ้นเยอะมาก...แต่เราก็ปกติ อาจจะมีในเรื่องเงินค่าชั่วโมงบินมาให้ แต่เชื่อเถอะพอคุณอายุสามสิบกว่าแล้วเงินมันเริ่มไม่ใช่ปัจจัยเดียวแล้ว คุณจะเริ่มคิดถึงครอบครัว คิดถึงคนรัก คิดถึงเพื่อน คำกล่าวที่ว่า ‘เงินไม่ใช่ทุกสิ่ง’ สำหรับเรามันจริง คนที่อยากทำงานสายนี้อยากให้มองในหลายๆเรื่องนอกจากเงิน คือคุณต้องรักการพบปะผู้คนจริงๆ รักงานบริการจริงๆ ถ้าใช่...คุณก็มีความสุขในสายงานแอร์ฯ แต่เรื่องความสบายใจของเราอย่างหนึ่งคือมันจบได้ด้วยตัวมันเอง เป็นวันต่อวันไม่ต้องแบกงานแบกโปรเจ็คท์ไปคิด งานวันนี้ไม่มีผลต่องานวันพรุ่งนี้ ทำนองว่าไม่มีการบ้านนั่นเอง

หากพูดถึงความก้าวหน้า สายงานนี้ก็มีช่องทางเติบโต...เริ่มจากลูกเรือชั้นประหยัด ก้าวไปสู่ชั้น Business Class แล้วก็ต่อไปที่ชั้น First Class แล้วจากนั้นอาจเติบโตเป็น Air Purser ที่เป็นระดับหัวหน้าลูกเรืออารมณ์เหมือนซุปเปอร์ไวเซอร์ แล้วค่อยเลื่อนเป็นระดับ Inflight Manager ซึ่งเป็นระดับเมเนเจอร์ ถามว่าเกษียณกันตอนอายุเท่าไหร่ ตอบคือ 60 ปีเลย บางคน 60 ก็ยังบินอยู่เลย

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากฝากไว้ เรื่องค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพ สมัยตอนเราบินใหม่ๆ ไม่ใช่สิตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ (หัวเราะ) ค่าใช้จ่ายมันก็มีสูง อย่างบินไปลอนดอน เราก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ทีนั่นหลายชั่วโมง ที่เราต้องกินต้องใช้ ซึ่งค่าครองชีพก็ตามเรทประเทศดังกล่าว จริงอยู่ที่บริษัทมีโรงแรมให้พัก แต่ค่าข้าวต่างๆก็รวมมาอยู่ในค่าชั่วโมงบินของเราแล้ว ก็เหมือนหักเรื่องพวกนี้จากเงินที่ได้นั่นเอง

อีกอย่างในเรื่อง Shopping มีครั้งหนึ่งบินไปญี่ปุ่นทั้งเดือน เห็นอันนี้ก็ดี อันนี้ก็สวยห้ามใจไม่ได้ แถมถูกกว่าไทยเยอะเพราะภาษีที่บ้านเราค่อนข้างแพง คือทั้งเดือนนั่นช็อปจนล้มละลายไปเลย (หัวเราะ)

สุดท้ายแล้วอยากจะบอกอะไรกับน้องใหม่ที่ก้าวเข้ามาในสายงานนี้

อย่าโฟกัสที่แค่ความสวยหรูดูดี หรือเรื่องเงินทอง ค้นหาตัวเองก่อนว่าชอบในอาชีพนี้จริงไหม ชอบเจอผู้คน และมีจิตรักงานบริการจริงๆไหม...ซึ่งถ้าหากว่าใช่ ก็ลุยเลย แล้วอย่าลืมว่าเราเป็นเหมือนตัวแทนสายสายการบิน เราต้องสร้างความประทับใจ สร้างความสุขให้ลูกค้าถึงที่สุด แล้วอย่าลืมเรื่องของการบาลานซ์ชีวิต และความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว เพื่อน คนรัก รวมถึงเอาใจใส่สุขภาพให้แข็งแรงด้วย...ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเป็นแอร์ฯค่ะ
สัมภาษณ์ / เรียบเรียง
วาริชไวรัลย์ ศรีไสย
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ผู้หันหลังให้กับชีวิตมนุษย์เงินเดือนในเมืองหลวง มาเป็น ครูสอนดำน้ำ(diving instructor) ให้กับโรงเรียนสอนดำน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียที่เกาะเต่า อันเป็นแหล่งผลิตนักดำน้ำชั้นดีอันดับต้นๆของโลก
มันออกจะแปลกไปซักนิด ที่วิทยาศาสตร์จะบอกให้เราลองใช้อารมณ์นำเหตุผลบ้างในบางครั้ง เพื่อที่ชีวิตคุณจะได้ไม่แห้งแล้งน่าเบื่อจนเกินไปนัก  แน่นอน…เราไม่ได้กำลังบอกให้คุณสร้างปัญหาเพิ่มเติมให้สังคมด้วยการไม่ใช้เหตุผล  แต่ก่อนอื่นคุณอาจต้องเข้าใจก่อนว่าระบบสมองของมนุษย์อย่างเราๆนั้น มีความซับซ้อนวุ่นวายมากมายแค่ไหน