TALK

เจาะใจ The Lounge : “มูลนิธิไทลัดดาวัลย์” แหล่งปลูกฝังรากเหง้าความเป็นไทยให้เด็กยุคใหม่

แม่ครู ลัดดาวัลย์ จงเฟื่องปริญญา / แป้งหมี่ ภัสวรรณ โฆศิริวัฒนา
17 ส.ค. 2561
เมื่อฉันได้เดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ได้เสพสื่อในโลกออนไลน์ และออฟไลน์ ฉันก็จะพบเจอเด็กไทยรุ่นใหม่ที่พยายามเรียนรู้วัฒนธรรมต่างชาติด้วยรูปแบบวิธีการต่างๆ จนเกิดคำถามที่ในหัวของฉันว่า ยังมีเด็กไทยอีกสักกี่คนที่อยากเรียนรู้รากเหง้าศิลปวัฒนธรรมไทย? ยังมีครูอีกสักกี่คนที่ยังสอนศิลปวัฒนธรรมไทย?  หรือว่าสิ่งเหล่านี้มันตายไปพร้อมกับผู้รู้เสียหมดแล้ว และเมื่อได้ลงมือหาข้อมูลฉันก็พบกับ “มูลนิธิไทลัดดาวัลย์” สถานที่เปิดสอนเกี่ยวกับรากเหง้าความเป็นไทย ทั้งด้านมารยาท การทำอาหาร และนาฎศิลป์ ซึ่งทั้งหมดนี้เขาเปิดสอนให้แบบไม่คิดเงิน เด็กๆ ที่มาเรียนไม่ต้องค่าใช้จ่าย ทำให้ฉันเกิดความสนใจในตัวมูลนิธินี้อย่างมาก จึงทำการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม และพบว่าเจ้าของมูลนิธิคือ พลตรีนายแพทย์ฟูเศรษฐ จงเฟื่องปริญญา และคุณลัดดาวัลย์ จงเฟื่องปริญญา ผู้ทำให้สถานที่แห่งนี้เกิดขึ้น และยังเป็นผู้ขับเคลื่อนการเรียนการสอน ซึ่งใครๆก็ต่างเรียกท่านว่า “แม่ครู”



ฉันไม่รีรอที่จะติดต่อเข้าไปทางมูลนิธิเพื่อขอเข้าไปพูดคุยกับแม่ครู เพื่อที่จะเรียนรู้แนวคิดของท่านที่ได้เปิดสอนรากเหง้าความเป็นไทยให้กับเด็กๆ โดยไม่คิดเงิน แล้วก็ถึงวันที่ได้เดินทางไปเพื่อพูดคุยกับแม่ครู ที่มูลนิธิไทยลัดดาวัลย์ ฉันพบกับเด็กๆ มากมายกำลังทะยอยเดินเข้าไปในมูลนิธิ และกำลังต่อแถวกันเพื่อลงชื่อเข้าเรียน ซึ่งเมื่อมองไปจนถึงหัวแถว ก็ได้พบกับผู้หญิงท่านหนึ่งที่สีหน้า และแววตาดูมีความสุขกับการได้มองเด็กๆ ที่กำลังลงชื่อเพื่อเข้าเรียก ผู้หญิงท่านนี้ก็คือ “แม่ครู” ผู้ที่ฉันกำลังจะได้พูดคุยอย่างใกล้ชิดในไม่ช้า แม่ครู ได้จัดตั้งมูลนิธิไทลัดดาวัลย์ขึ้นมา เพราะอยากจะนำความรู้ที่ตนเองเคยได้เรียนรู้มาสมัยเรียนที่วังหน้า หรือวิทยาลัยนาฏศิลป์ในปัจจุบัน ให้กับเด็กๆ รุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และสืบทอดต่อไปให้คงอยู่ แต่เรื่องราวที่ลึกไปกว่านั้นเราจะไปพูดคุยกับแม่ครูกัน



จุดเริ่มต้นที่การก่อตั้งมูลนิธิไทลัดดาวัลย์ขึ้นมา
“การเริ่มต้นของการตั้ง มูลนิธิไทลัดดาวัลย์ มาจากความฝันอันยิ่งใหญ่ของแม่ ที่อยากจะไปเป็นครูบนดอย สร้างอาณาจักรสอนเด็กๆ แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ไป แม่จึงฝันต่อว่าอยากจะมีอาณาจักร ที่จะช่วยอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเป็นของตัวเองขึ้นมา และก็อยากจะให้มันเป็นการสอนแบบของจริง มีมาตรฐาน ไม่ใช่ว่าสอนแบบครูพักลักจำ แต่ตอนนั้นเราก็ยังมีเงินไม่พอที่จะทำได้ แม่ก็เลยหางานประจำทำ จนได้เข้าไปทำที่บริษัทแห่งหนึ่ง แม่ก็ทำงานอย่างมุ่งมั่นเพราะคิดว่างานนี้ จะสร้างรายได้ให้มากพอที่เราจะสร้างมูลนิธิของเราได้ แม่เริ่มทำตั้งแต่ปี 36 จนมีรายได้ดี แต่เราก็ยังไม่สามารถสร้างมูลนิธิได้ เพราะมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ”



“แม่จึงเริ่มจากการนำเงินไปมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนนาฏศิลป์ ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ ซึ่งแม่มีรุ่นพี่เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป์อยู่ แม่เริ่มให้ทุนการศึกษามาตั้งแต่ปี 37 และก็ให้ทุนเด็กที่เรียนดี แต่ฐานะไม่ดี มีความจำเป็นที่จะต้องขอทุน ซึ่งทุนของแม่จะเป็นทุนต่อเนื่อง และในส่วนของการทำงานประจำของแม่ก็มีผลงานดีขึ้น ทำให้แม่มีเงินมากพอที่จะทำให้เราสร้างมูลนิธิได้ แต่ก็ยังไม่สามารถจดทะเบียนได้ มันหลายเรื่องหลายอย่างที่ทำให้เราจดทะเบียนไม่ได้ ซึ่งการที่แม่อยากจะจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ เพราะแม่ไม่อยากให้มันเป็นแค่กองทุน ถ้าหากเกิดแม่ตายไปกองทุนก็จะหายไปด้วย แต่ถ้าเกิดเป็นมูลนิธิ ลูกหลานยังสืบทอดต่อไปได้ เป็นบุญกุศลต่อเนื่อง”



“ต่อมาตัวแม่เองป่วยหนัก ก็เลยบอกคุณพ่อสามีของแม่ว่า ชีวิตช่วงสุดท้ายแม่อยากจะเปิดสอนที่บ้าน ขอใช้ช่วงชีวิตสุดท้ายให้มีประโยชน์ที่สุด ซึ่งเราได้ให้นักเรียนทุนนาฏศิลป์ของเรา มาเป็นอาสาสมัคร ช่วยสอนร่วมกับแม่ด้วย แม่ก็จะให้ค่าขนมเขาวันละ 500 บาท ในระหว่างที่แม่เปิดสอนที่บ้านเนี่ย แม่ก็ป่วยหนักด้วยนะแต่แม่ไม่อยากให้เด็กๆ รู้ว่าเราป่วย เวลาสอนเราก็เต็มที่ เหมือนอย่างวันนี้แม่ก็ป่วย แม่ปวดขามากเลย แต่ก็เต็มที่กับเด็กๆ พอเราเริ่มสอนมาได้ก็เห็นเด็กมีการพัฒนาที่ดีขึ้น มีความรู้ ความสามารถ มีกิริยามารยาทที่น่ารักขึ้น แม่ก็รู้สึกเหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจ อาการป่วยอาการต่างๆ ของแม่ก็รู้สึกดีขึ้นนะ ทำมาจนกระทั่งถึงตอนนี้ ก็เข้าปีที่ 12 ปีแล้วค่ะ”



ทำไมถึงได้เปิดการเรียนการสอนฟรี

“ในตอนที่จะเปิดสอนที่บ้านแม่บอกคุณพ่อบอกว่าเก็บวันละบาทดีไหม เพราะว่าเราจะได้เหมือนว่าถ้าของฟรีมันไม่มีค่า ก็เลยเก็บวันละบาทดีไหม คุณพ่อบอกเก็บวันละบาทไม่ต้องเก็บสักบาทดีกว่า เก็บทำไมบาทเดียวเราก็เลยสอนฟรีมาตลอด แต่ทีนี้สมัยก่อนเนี่ยเรามีฟรีทั้งข้าว มีฟรีทั้งการเรียน ทุกอย่างฟรีหมด และพอเด็กมากขึ้น และเด็กทานเก่งมาก อาหารเท่าไรก็ไม่พอ ซึ่งถ้าเราทำอย่างนี้เราก็คงทำได้ไม่นาน เงินที่เรามีอยู่มันก็คงจะร่อยหรอไป บ้านเราก็เป็นแค่ราชการเท่านั้นเอง และตัวแม่เองพอป่วยก็ไม่ได้ทำงาน แต่ว่าลูกเขาก็ทำหน้าที่แทนในบางส่วน รายได้ก็ไม่มีก็เลยมีแต่รายจ่าย ถ้าเกิดเราทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราจะแย่ ก็เลยจัดการประชุมผู้ปกครองขึ้นมา ผู้ปกครองก็เสนอที่จะช่วยเรื่องค่าอาหาร พวกเขาก็จัดการกันมาว่าน่าจะเป็นเท่าไหร่”



“ซึ่งเงินที่ได้รับจากการสนับสนุนมาก็ยังไม่พอ ส่วนที่ขาดแม่ก็สมทบเข้าไป เท่ากับว่าแม่ได้ทำบุญเกี่ยวกับเรื่องค่าอาหารไปด้วย ครูผู้ช่วยเขาก็จะคิด จะเป็นคนจัดการให้ ส่วนจิตอาสาที่เป็นศิษย์เก่ามาช่วย แม่ก็จะให้ค่าช่วยอุปกรณ์การศึกษาเขา เพราะว่าเขามีน้ำใจกับเรา เขาจะไปทำอะไรก็แล้วแต่เขา ให้เป็นสินน้ำใจ ให้ตามสมควร เท่าที่เราสามารถให้ได้ ในการลงทะเบียนมาเรียน แม่ก็จะมีกล่องให้เขาบริจาค เพราะแม่ไม่อยากให้เด็กๆ เป็นผู้รับอย่างเดียว เขาต้องรู้จักเป็นผู้ให้ รู้จักแบ่งปัน เคารพครู ดูแลน้อง ปกครองเพื่อน เตือนให้แบ่งปัน สร้างสรรค์สิ่งดีงาม ทำตามประเพณีไทย เป็นการฝังสิ่งดีๆ ให้กับเด็กๆ เขาก็ได้ทำบุญไปในตัวด้วย และก็ได้เป็นผู้แบ่งปันด้วย โตไปจะได้รู้จักช่วยเหลือสังคม”



การเรียนการสอนของมูลนิธิไทลัดดาวัลย์
“การสอนของเราจะเปิดทุกวันอาทิตย์ ในการสอนแม่ไม่ได้เน้นว่า จะต้องให้เด็กเรียนรู้แต่เฉพาะวิชานาฏศิลป์เท่านั้น แต่เรายังสอนมารยาทไทย และก็สอนทำอาหารไทยด้วย เราจะแจ้งกฎไว้เลยนักเรียนที่มาเรียน จะเลือกเรียนวิชาใดวิชาหนึ่งไม่ได้ ต้องเรียนทั้งหมด และจะสอนเฉพาะคนที่ตั้งใจเรียนเท่านั้น เพราะแม่ไม่ได้รับเลี้ยงเด็กให้ใคร แม่เปิดสอนเพื่อให้วิทยาทานความรู้กับเขา ถ้าหากเขาตั้งใจเรียน แม่สอนก็จะสอนให้ แต่ถ้าเขาไม่ตั้งใจเรียน ก็ให้กลับบ้านเลยนะคะ ในการเรียนแต่ละครั้ง เราก็จะมีการสวดมนต์ก่อน ต่อจากนั้นก็ทำสมาธิ เรียนมารยาท เรียนร้องเพลงเสร็จเรียบร้อยถึงจะเริ่มดัดตน เข้าวิชานาฎศิลป์ไทย ส่วนเด็กโตนอกจากเรียนละครแล้ว ดัดตนแล้ว เรียนมารยาทต่างๆแล้ว ก็จะเรียนอาหารไทยด้วย”



“เรารับสอนตั้งแต่ 6 ขวบครึ่ง ทุกคนที่มาสมัครต้องผ่านการทดสอบ 3 ข้อของแม่ เป็นการทดสอบความจำ ไม่ใช่ว่ามาสมัครปุ๊บรับเลย ถ้าหากเขาสามารถจำได้ตามที่เรากำหนด 3 ข้อนี้ภายในระยะเวลาสั้นๆ เวลาเขาเข้ามาสมัคร จะมีพี่ๆ ติวให้ ถ้าเขาสามารถจำได้หมด 3 ข้อเลย เราก็รับ แต่ถ้าจำไม่ได้เราให้รอปีหน้า ได้เมื่อไหร่ค่อยมาสมัครใหม่ ส่วนคนที่เข้ามาเรียนที่นี่พอหลังจากสอบผ่าน 3 ข้อแล้ว แม่จะถามข้อปฏิบัติของชาวไทยลัดดาวัลย์ ชาวไทยลัดดาวัลย์ทุกคนต้องท่องให้ได้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวยังไง เวลาแม่ถามเด็กๆ ก็จะพูดพร้อมๆ กันเลยค่ะพวกเราชาวไทยลัดดาวัลย์ต้อง เคารพครู ดูแลน้อง ประคองเพื่อน คอยเตือน แล้วแบ่งปัน สร้างสรรค์สิ่งดีงาม ทำตามประเพณีไทย แม่ก็จะถามว่าลูกทำได้ไหมคะ ถ้าเขาบอกว่าเขาทำได้ เท่ากับเขาให้สัญญากับแม่ไว้แล้ว แม่ยินดีต้อนรับเขา แต่ถ้าบอกว่าทำไม่ได้ ก็จะบอกผู้ปกครองเลยว่าเขาทำไม่ได้ค่ะ ถ้าทำไม่ได้แม่รับไม่ได้นะ เขาสัญญากับแม่ตั้งแต่วันแรกเขาจะทำได้ เขาก็ต้องทำได้จริงๆ เมื่อวันใดที่เขาเกเรแม่จะทวงสัญญา ลูกสัญญากับแม่ไว้ว่าอย่างไร ไหนพูดซิ สัญญากับแม่ไว้ว่าอย่างไรพวกเราชาวไทยลัดดาวัลย์ เขาก็จะพูดพร้อมๆ กันเลย ลูกผิดสัญญาใช่ไหมคะ ปรับปรุงตัวเองได้ไหมจะไม่ทำผิดอย่างนี้ได้ไหมคะ ถ้าเขาสัญญาว่าเขาทำได้ ทำได้ก็คือเรียนต่อได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ให้ผู้ปกครองมารับกลับไปแม่สอนไม่ได้ ให้ผู้ปกครองไปสอนเอง”

 

“หลักสูตรของที่นี่ 5 ปี ทุกปีจะมีการสอบเลื่อนชั้น ถ้าปี 1 สอบแล้วผ่านจะได้ “สายสามารถ” ฟรีจากแม่ 1 เส้น สายสามารถสีฟ้าที่เขาใส่กัน แล้วถ้าหากว่าสอบตกครั้ง 2 หมดสิทธิ์เรียนแสดงว่าไม่ตั้งใจจริง ถ้าตกครั้งแรกอาจจะยังไม่พร้อม ให้โอกาสอีก 1 ปี ถ้าตกในครั้งที่ 2 ยังไม่พร้อมอีก ตกอีกลูกต้องไปเปลี่ยนวิชาเรียนแล้ว ลูกคงไม่เหมาะเรียนกับวิชานี้ เปลี่ยนวิชาเรียนให้เด็กดีกว่า ถึงจะอ้อนวอนยังไง แม่ก็ไม่รับเพราะแม่ถือว่า ทรมานทั้งครูทั้งเด็ก เมื่อเด็กไม่มีใจ แม่ก็ไม่มีใจเหมือนกัน ถ้าสอนแล้วเราก็หวังว่าเขาจะทำได้ เขาจะเจริญรุ่งเรือง เขาจะพัฒนาตัวเอง ปรับปรุงตัวเอง แม่จะพูดไว้ชัดเจน ได้ไม่งั้นประกาศนียบัตรของแม่จะไม่มีความหมายอะไรเลย มันไม่ขัง ถ้าจบจากที่นี่ได้ประกาศนียบัตรปี 5 ที่นี่ไปแล้วเขาต้องมีความพราวอยู่ในตัวเขา ต้องเป็นและต้องทำได้มีความสามารถไปตกอยู่ที่ใดไม่ต้องกลัว”



ถ้าเด็กอยากจะมาเรียน ต้องเตรียมตัวเตรียมอย่างไรบ้าง
“ต้องเตรียมใจอย่างแรกเลย เตรียมใจว่าหนูอยากมาเรียนที่นี่จริงๆ พ่อแม่ไม่ได้บังคับไม่ได้ติดสินบนหนู บางคนมานะคะพ่อบอกจะซื้อตุ๊กตาให้ แม่บอกจะซื้อจักรยานให้ ถ้าหากมาเรียนที่นี่ อย่างนั้นคือคุณพ่อคุณแม่อยาก ไม่ใช่ลูกอยาก อย่างนี้ไม่รับเพราะเข้ามาเรียน แล้วเขาก็จะไม่ตั้งใจ ได้จักรยาน ได้ตุ๊กตา ไปแล้วเขาก็จะหมดความตั้งใจ เขาก็จะมาเรียนแบบเสียเวลาไม่ได้อะไร เพราะใจเขาไม่ได้ตั้งใจมาจริง มันเสียเวลาทั้งครู ทั้งเด็กด้วย และเสียเวลาผู้ปกครองด้วย มันฆ่าเวลาไปทุกวันๆ ไม่มีประโยชน์อะไร ฉะนั้นแม่ถึงชอบคนที่ตั้งใจจริงๆ เท่านั้น”
 


มันยากไหม กว่าจะทำให้เด็กแต่ละคน เข้าใจถึงวัฒนธรรมไทย ผ่านการเรียนการสอนที่เราสื่อไปให้เด็กๆ
“สำหรับแม่ว่าไม่ยากค่ะ อาจจะเป็นเพราะว่าครูที่นี้ แม่บอกตั้งแต่แรกเลย ว่าใครที่จะมาสอนต้องมีหัวใจเดียวกับแม่ ก็คือต้องพูดจาดี ไพเราะ แล้วต้องมีจิตใจของความเป็นครู บอกลูกไม่ชอบครูแบบไหน ก็อย่าทำแบบนั้น ตอนเราเป็นนักเรียน เราไม่ชอบใช่ไหมครูที่มาตวาด โวยวาย เราไม่ชอบ เราก็อย่าทำแบบกับเด็ก เราไม่ชอบใช่ไหมที่ครูมาอันนี้ไม่ดี อันนี้ไม่ถูกใจ มาตีแขน ตีมือ ตีขา ไม่ชอบก็อย่าทำ ก็คืออย่าเอาสิ่งที่เขาไม่ชอบมาสอนกับเด็ก เราจะสอนเด็กแบบเป็นลูกเรา”
 


“เวลาสอนแม่หวังผลนะในการสอน ไม่ใช่ว่าสอนไปเรื่อยๆ เพราะแม่ไม่ได้รับอาสาเลี้ยงลูกให้เขาฆ่าเวลา แม่สอนเพื่อให้เขามีคุณภาพยิ่งขึ้น จากเขาที่ดีอยู่แล้ว หรือจากเขาที่ไม่เรียบร้อยกระโดกกระเดก คือให้เขาดียิ่งๆ ขึ้น เหมือนกับเราทำเสาต้นหนึ่งค่ะ แรกๆ เขาก็จะเป็นเสาไม้สักธรรมดา แล้วพอให้คนมาแกะสลักเสาก็จะสวยขึ้น แต่การที่จะแกะสลักได้สวยขนาดนี้ ต้องใช้เวลาในการเก็บรายละเอียด เล็กๆ น้อยๆ แล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยนให้มันถูกต้อง ให้มันสวยงาม แล้วเสาต้นนี้ก็จะเป็นประติมากรรมชิ้นที่สวยงาม ดังนั้นลูกๆ ของเราก็เหมือนกันค่ะ ถ้าหากว่าแม่ใจเย็นๆ สอนเขา และให้เหตุผลเขาอ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ ต้องไม่อ่อนโยนนะคะ อย่างที่แม่บอกแม่ไปได้รับจ้างเลี้ยงเด็ก หรือไม่ได้รับจ้างสอนลูกใคร แม่สอนเพราะแม่อยากทำ ทำในสิ่งที่เรารัก และเห็นว่ามันสำคัญ มันจำเป็น แม่อยากให้วิชาความรู้ที่แม่มีถ่ายทอดให้กับเด็กๆ เพื่อให้เด็กๆ  ได้สืบทอดต่อไปได้ โดยที่ไม่ต้องให้สตางค์แม่ แม่สอนให้ฟรี แม่ทุ่มเทกับสิ่งนี้ แล้วแม่ก็ไม่ได้หวังว่าใครจะมาชื่นชม ยินดี หรืออะไร ไม่ได้สนใจอะไรค่ะ แม่รู้แต่ว่าเราทำแล้ว เรามีความสุขก็เพียงพอแล้ว”



12 ปี ที่เปิดสอนกับความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ

“ถ้าลูกเป็นแม่ เห็นตั้งแต่เขาเข้ามา 1 ขวบครึ่ง ตั้งแต่เขาไม่เป็นอะไรเลย ตั้งแต่เกาะหลังแม่อยู่ จนกระทั่งเขาสามารถขึ้นเวทีแสดง เขาพูดจาฉะฉาน เขาปฏิบัติตัวน่ารัก มีกิริยามารยาทที่ดี ไม่เสียงดัง ไม่นั่งหลังงอ เดินผ่านผู้ใหญ่ก็ให้ก้มหลัง จะพูดจากิริยาท่าทาง ไม่กระดกกระเดกดูเรียบร้อยขึ้น ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง เขาเรียนใกล้จบเขาก็สามารถทำอาหารให้ผู้ปกครองทานได้ แล้วเขาก็สามารถสอนน้องๆ ได้ ถ่ายทอดให้น้องๆ ได้ สามารถติวให้น้องใหม่ได้จนกระทั่งเขาจบ เขาก็ยังสามารถมาช่วยสอนได้ ลูกคิดว่าแม่จะภูมิใจมากขนาดไหนล่ะคะ”



คุณแม่คิดว่าจะทำตรงนี้ไปอีกนานแค่ไหน
“ตอนนี้นะคะ ความตั้งใจของแม่อยากจะทำไปถึงจนแก่ก็ยังอยากจะทำอยู่ ถ้ามือยังใช้ได้ ถึงขาใช้ไม่ได้ เพราะขาแม่มันเจ็บ ขาขวาจะบวมแม่มีเก้าอี้รถเข็นส่วนตัวนะ เวลาไปไหนคุณพ่อก็จะเข็น เวลาสอนเราก็จะทานยาแก้ปวด เราก็จะสอนแต่ว่าแม่ก็จะนั่งพักเป็นช่วงๆ บางครั้งจะเห็นแม่เดินไม่ค่อยสะดวก สังขารก็มันแก่แล้วนะ แม่คิดว่าแม่จะสอนให้ถึงที่สุด แต่ก็บอกไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ ดูถ้าหากความพร้อมของตัวแม่เอง แต่ลูกๆของแม่ก็ไม่อยากให้สอนแล้ว เขาบอกคุณแม่ คุณแม่ทำมา10 กว่าปีแล้วพักเถอะ ทำบุญเยอะแยะแล้ว นี่ถ้าหมดเงินเป็นหลายล้านแล้วคุณแม่หยุดได้แล้ว แม่ก็บอกว่า แม่ยังมีแรงสอนอยู่ แม่ขอสอนนะ แต่ถ้าหากเกิดว่าไม่มีคนช่วยแล้ว ไม่มีจิตอาสามาช่วย หรือว่าไม่มีครูคนไหนที่จะมาช่วยแล้ว และตัวแม่เองก็สอนไม่ไหว ก็ว่ากันอีกที แต่ถ้าหากว่ายังมีจิตอาสามาช่วย ยังมีครูมาช่วย ถึงแม้ว่าสอนไม่ไหวแม่ก็ยังนั่งวิลแชร์สอนนะคะ มันก็เป็นองค์ประกอบหลายๆอย่าง แต่ถ้าถามใจว่าจะสอนนานแค่ไหน ก็คงสุดๆของแม่แหละ เพราะไม่อยากให้วิชาความรู้ตรงนี้มันสูญหาย แม่อยากให้ได้รับการสืบทอด นั่งนานแม่จะสอนไม่ไหว ขารำไม่ได้แต่ก็ยังนั่งวิลแชร์พากษ์ได้ ยังทำงานได้อยู่ ถ้ายังมีคนช่วยนะคะ แต่ถ้าไม่มีคนช่วยแล้วก็ค่อยว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง”



ด้วยปัญหาสุขภาพของแม่ครูเอง ทำให้จิตอาสา หรือครูผู้ช่วยสอน คืออีกแรงสำคัญที่ในการช่วยสืบทอดวัฒนธรรมความเป็นไทย อย่างในวันนี้ฉันก็ได้พบจิตอาสามากมายหลายคน ซึ่งมีอยู่หนึ่งชื่อว่าน้องแป้งหมี่ เธอเป็นศิษย์เก่าของมูลนิธิไทลัดดาวัลย์ ปัจจุบันเธอก็ยังกลับมาเป็นจิตอาสาช่วยแม่ครูในการสอนเด็กๆ ฉันจึงได้เข้าไปพูดคุยกับเธอ เธอเล่าว่า “หนูเรียนที่นี่เมื่อนานมาแล้ว ถ้านับรวมๆ ก็เกือบจะสิบปีได้แล้วค่ะ แต่ก็ยังกลับมาช่วยแม่ครูสอนอยู่ตลอดค่ะ ส่วนจุดเริ่มต้นที่ได้เข้ามาเรียน คือตอนแรกหนูก็ไม่รู้ค่ะ ว่าคุณพ่อจะพามา แบบว่าวันนั้นคุณพ่อบอกว่า เดี๋ยววันนี้เราไปที่นี่กัน แต่หนูไม่รู้ว่าเขาสอนอะไรค่ะ พอคุณพ่อพามา หนูก็เห็นว่าพี่ๆ เขารำกันอยู่ และคุณพ่อก็ถามว่าอยากเรียนไหม หนูบอกว่าหนูอยากเรียน พ่อบอก อะเอาสิ เดี๋ยวพ่อพาไปสมัคร แล้วหนูก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ค่ะ”



เมื่อถามถึงความรู้สึก และสิ่งที่ได้รับในเวลา 5 ปี ที่เรียนที่นี่ เธอเล่าว่า “มันเป็นความรู้สึกที่ผูกพันมากกว่าค่ะ คือเราก็มาที่นี่ทุกอาทิตย์นะคะ แล้วก็อยู่กับแม่ครู และเพื่อนๆ อย่างนี้ จนเรียนจบเป็นระยะเวลา 5 ปี เราก็จะรู้สึกผูกพันธ์กับแม่ครู คุณครูและก็เพื่อนมากๆ พอจบไปแล้วเนี่ย เราก็ได้เอาประโยชน์ตรงนี้ไปใช้ในหลายๆ เรื่อง อย่างหนูเองก็ได้เอาไปใช้ในงานการแสดงต่างๆ อย่างพอเวลาหมู่บ้านมีงานเขาจะให้หนูไปรำ แล้วหนูก็ยังได้เอาไปสอนน้องๆ หนูเคยไปสอนน้องๆ อยู่ครั้งสองครั้ง เป็นการสอนพิเศษหารายได้เสริม แล้วความสามารถตรงนี้ มันสามารถใช้อย่างอื่นได้อีก เช่นอย่างการที่เราจะเข้าโรงเรียนมัธยม ตอนม.1 เราก็มีความสามารถพิเศษ เราก็สามารถเอาไปช่วยในการสอบเข้าเรียนได้”



เธอยังเล่าให้ฟังอีกว่า จากเคยเป็นนักเรียน แล้ววันนี้กลายมาเป็นครูช่วยสอนนั้นมันไม่ง่ายเลย “มันค่อนข้างก็ยากค่ะ แต่ก่อนเรารับความรู้จากครูอย่างเดียว เราไม่ค่อยได้สอนใครเลย มันมากสุดก็แค่ เพื่อนถามว่าท่านี้ทำยังไงอะค่ะ แต่ว่าพอได้มาเป็นครูเนี่ย เราก็ต้องดูเด็กแต่ละคนด้วย ว่าเขาเป็นยังไงอะไรแบบเนี้ย แล้วครูที่สอนเขาจะมีเทคนิคการสอนไม่เหมือนกัน เราก็ลองดูว่าเฮ้ย เราใช้แบบไหนถึงจะเหมาะ หรือเราควรทำแบบไหน เด็กถึงจะเข้าใจเราอะค่ะ มันก็จะมีความยากอีกระดับหนึ่ง ที่เราต้องทำยังไง ต้องสอนยังไง ถึงน้องจะเข้าใจเราค่ะ”



เธอยังได้แสดงทัศนคติในฐานะคนรุ่นใหม่ เกี่ยวกับความสำคัญของวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปว่า “สำหรับหนู มีความสำคัญอย่างมากนะคะ คืออย่างการไหว้ การแต่งกาย พวกอาหารการกิน คือคนไทยในสมัยนี้ เขาจะนิยมกินแบบ ทานอาหารของต่างชาติกันเยอะ อย่างพวกสเต๊ก อาหารเกาหลี ญี่ปุ่น ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เลยไม่ค่อยจะรู้จักพวกขนมไทย  อาหารไทยต่างๆ ส่วนเรื่องมารยาทก็ เดี๋ยวนี้คนไทยส่วนใหญ่ก็ใช้การกอด การจับมือ ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้ใช้การไหว้กันแล้ว
น้องแป้งหมี่ยังได้กล่าวทิ้งท้าย เชิญชวนให้เด็กๆ มาเรียนรู้วัฒนธรรมไทยดั้งเดิม ที่มูลนิธิไทยลัดดาวัลย์ “มันเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ค่ะ ก็ถ้ามาเรียนที่นี่ ถ้าเรียนได้ก็ดีมาก เราก็จะมีความรู้อีกด้านนึง ที่สามารถเอาไปใช้ต่อยอดในหลายๆ ด้านได้ค่ะ มันก็มีประโยชน์กับตัวเรามากเหมือนกัน และยังมีประโยชน์กับวัฒนธรรมของชาติเราด้วย” เธอกล่าว



เด็กยุคใหม่กับนาฏศิลป์ หรือมารยาทไทย การทำอาหารไทย สิ่งเหล่านี้มันดูเป็นอะไรที่ห่างไกลกับเด็กยุคใหม่ คุณแม่มีมุมมองตรงนี้อย่างไร

“แม่คิดว่า ถึงแม้ว่าในยุคสมัยนี้นะคะ เขาจะเป็นข้าวถุง แกงถุงแล้ว แต่แม่ว่ายังไงแล้วเขาก็ยังมีความเป็นครอบครัว ธรรมชาติมนุษย์ก็อยากกินทำเอง เวลาเราทำกินเอง เราสามารถกำหนดได้ว่าจะเอาของดีแค่ไหน เอาของมีประโยชน์แค่ไหน แต่ถ้าหากว่าเขาทำไม่เป็น ถึงเขาจะอยากทำแค่ไหนก็ทำไม่ได้ ซึ่งแม่คิดว่าทุกคนต้องมีความรู้เรื่องอาหาร อย่างน้อยที่สุดแม่ช่วยสร้างพื้นฐานให้กับเขา เขาก็ยังเป็นแม่บ้านที่ดี รู้จักดัดแปลง ทำนู่น ทำนี้ รู้ว่าอะไรควรทาน อะไรไม่ควรทาน อะไรเป็นอย่างไร เขาไปต่อยอดได้ แม่คิดว่ามันจำเป็นมากๆ เลยนะ ความคิดที่ว่าไม่เป็นไรหรอก มีข้าวถุง แกงถุง ซื้อเอาสำเร็จรูปเอาก็ได้ สำหรับแม่ไม่ได้คิดอย่างงั้น ลูกแม่ทุกคนต้องทำอาหารเป็น มันเป็นเรื่องสำคัญ”



แล้วเรื่องมารยาทของเด็กรุ่นใหม่ คุณแม่มองว่าเป็นอย่างไรบ้าง

“เด็กรุ่นใหม่ ไม่ค่อยจะรู้ถึงมารยาทที่ดีงามเท่าไหร่นัก แล้วพ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยสอน สังเกตดูร้อยละ90 เลย เรื่องมารยาทแบบต้องมาเกลากันใหม่หมด เดินผ่านผู้ใหญ่นึกจะเดินก็เดิน นึกจะเอื้อมก็เอื้อม นึกจะทำอะไรก็ทำ ไม่มีกิริยามารยาทที่ดี ซึ่งกิริยามารยาทของคนไทยนั้นดีมากนะ การเดินผ่านผู้ใหญ่ต้องก้มหลัง ต้องขออนุญาต ขอบพระคุณค่ะ อะไรต่างๆ แล้วแต่ว่าสถานการณ์ไหน เราจะใช้คำพูดไหน แต่เด็กสมัยนี้ ส่วนใหญ่แล้วผู้ใหญ่พูด ก็มายืนฟังมองนู้นมองนี้ ไม่มีกิริยา ยืนพูดกับผู้ใหญ่ก็ต้องสำรวม ต้องรู้ว่าเราต้องยืนห่างจากผู้ใหญ่ขนาดไหน ไม่ใช่ว่ามาประกบชิดผู้ใหญ่ เข้าไปหาก็ไม่ใช่พรวดพราดเข้าไป อันนี้หมายถึงผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่คุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ หรือเป็นคนที่เราไม่รู้จักอะไรแบบนี้ ก็ต้องมีกิริยาที่ดีงาม เพราะแบบนี้แม่ถึงสอนมารยาทไทย”

 
 
ในส่วนของรำไทย นาฏศิลป์ไทยในยุคนี้ เหมือนเด็กๆ ก็ไปเต้นตามต่างชาติกันเสียมาก คุณแม่มีความเห็นยังไงที่จะให้เด็กกลับมาสนใจ หรือว่าเราจะดึงความสนใจเด็กรุ่นใหม่ในเรื่องนาฏศิลป์ไทยได้อย่างไร
ข้อนี้เราห้ามใครไม่ได้ เราไม่สามารถจะไปบอกใครทุกคน โดยเฉพาะบางทีคุณพ่อ คุณแม่เขาเห็นเด็กเต้นเหมือนขอโทษเถอะเหมือนจ้ำบ๊ะสมัยก่อน กลับชื่นชมว่าลูกเก่ง ลูกดี สะบัดหน้า สะบัดหลัง ได้ดีอันนั้น แม่ก็ไม่ได้ไปว่าอะไรเขานะคะ เพราะว่าแต่ละอาชีพ แต่ละความคิด แต่ละการเลี้ยงดู แต่ละการเจริญเติบโต มันไม่เหมือนกัน แต่แม่อยากให้เขารับรู้ว่า ถึงแม้ว่าเขาจะสะบัดเก่ง เต้นเก่ง จะชักกระตุกเก่งยังไงก็ช่างเถอะ แต่เขาควรรู้ว่าความเป็นไทยต้องทำยังไงค่ะ ให้เขาได้รู้ ให้เขาได้เรียนรู้ทุกแขนงที่สามารถเป็นไปได้ โดยเฉพาะความเป็นไทยของเราจำเป็นต้องรู้ เราไม่ทราบว่าในอนาคตข้างหน้าเขาอาจจะไปเป็นผุ้นำชุมชน หรือว่าไปเป็นผู้อำนวยการที่ไหน หรือว่าถูกเชิญไปเป็นผู้นำที่ไหน หรือว่าอะไรต่างๆ ที่เขาจะต้องเป็นผู้นำคนค่ะ ถ้าให้เขาแสดงความเป็นไทยออกมา เขาจะไปเต้นแบบเกาหลีได้ไหม แต่ถ้าหากว่าเขาเรียนไปแล้ว เขาจะมาหยิบใช้เมื่อไหร่ก็ได้ มันไม่ได้นักหนาอะไรเลย”



“แม่คิดว่าการที่เราจะเรียนนาฏศิลป์ไทยเป็นสิ่งที่ควร แต่ไม่ต้องลงลึกเหมือนสายอาชีพเขา แต่ให้รู้ว่ารากเหง้าของเราเป็นอะไร อย่างน้อยที่สุดเนี่ยสอดสร้อยมาลามันต้องเป็นในการรำวง ไม่ใช่ว่า รำวงยังรำไม่เป็นเลย แล้วนาฏศิลป์เนี่ย ไม่ได้สอนแค่ร้องรำอย่างเดียว เราสอนให้รู้ถึงวรรณกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบทละคร บทพระราชนิพนธ์ หรือว่าจะเป็นตำนานต่างๆ ที่เขาเขียนมาแล้วเขาเอามาทำเป็นละคร มาทำเป็นวิชานาฏศิลป์ ก็ถูกคัดกรองมาแล้วทั้งสิ้น แล้วยังจะมีประติมากรรม จะมีการเครื่องแต่งตัว วิชาเย็บปักถักร้อยอะไรต่างๆ พวกนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะต้องสุดยอดแล้วทั้งนั้น ก่อนนำมาทำเป็นองค์ประกอบในวิชานาฏศิลป์ไทย เด็กจะได้การเรียนรู้ การร้อง การใช้คีตศิลป์ไทยเขาจะรำได้อย่างไม่บ่นเลย เขาจะร้องได้ เขาจะรู้ว่า อ่อเพลงไทยเดิมเป็นยังงี้เองนะ แม่บทร้องอย่างงี้ สีนวลร้องแบบนี้นะ เขาสามารถจะร้องเพลงไทยเดิมได้โดยอัตโนมัติ เขาต้องเรียนเพลงนี้ เขาต้องร้องได้ ฉะนั้น วิชาคีตศิลป์ไทยก็ถูกใส่เข้าไปในวิชานาฏศิลป์ไทยด้วยเช่นกัน งั้นไม่ใช่ว่ามีแต่ประติมากรรม วรรณกรรม หรือว่านาฏศิลป์ไทยอย่างเดียว มันจะมีขนบทำเนียมประเพณีวัฒนธรรมไทย อยู่ในวิชานาฏศิลป์ด้วย แม่ถึงเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้”



สุดท้ายนี้อยากให้คุณแม่ฝากถึงคนที่หลงลืม รากเหง้าความเป็นไทยของเรา ฝากข้อคิดหรือคำเตือนให้เขาสักหน่อย

“ที่จริงแล้วคนที่เกิดมาเป็นคนไทย แม่เชื่อว่าเขาจะมีต่อมสำนึกอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันยังไม่ถูกกระตุ้น ลึกๆของเขามันมีความเป็นไทยอยู่แล้ว ถ้าใครมาว่าคนไทยต้องรู้สึกไม่ดี พลังความเป็นไทยมันต้องมีอยู่แล้วในตัวทุกคน เพียงแต่ว่าจะถูกกระตุ้นเตือนหรือไม่ การที่จะให้เขารักษาความเป็นไทยไม่จำเป็นต้องเป็นวิชานาฏศิลป์เสมอไป จะเป็นปฏิมากรรม  จะเป็นวรรณกรรม เป็นอะไรก็ได้ ที่แสดงถึงความเป็นไทยของเขาออกมา แต่องค์ประกอบของวิชานาฏศิลป์ไทยมันจะรวมรวมกันไงคะ ฉะนั้นความเป็นไทยที่โรงเรียนจะไม่สอนวิชานาฏศิลป์แม่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเลย ที่ว่าจะมาตัดวิชานาฏศิลป์ออก เพื่อนๆแม่ที่เขาสอนอยู่เขาเป็นเดือดเป็นร้อนมากเลยนะไม่ควรอย่างยิ่งเลยค่ะ



เพราะว่าความเป็นไทย การแสดงความเป็นไทยถ้าหากคนไทยไม่สำนึกถึงความเป็นไทย ไม่รู้จักรากเหง้าของเราแล้วเนี่ยชาติไทยจะดำรงต่อไปได้อย่างไร มันจะมีประวัติ มีราก มีฐาน สมัยนู้น สมัยนี้ได้อย่างไร ทุกอย่างจะถูกลืมหมด ฉะนั้นมันสำคัญมากที่สุดเลย ไม่อยากให้ใครลืมรากเหง้าของตนเอง อยากให้กระตุ้นต่อมสำนึกเสมอว่าความเป็นไทยของเขาอยู่ตรงไหน แล้วให้รื้อฟื้นขึ้นมา แล้วก็ให้ยึดไว้สักอย่างนึงก็ได้ บางคนชอบวิชาวาดภาพภาพไทย ลายเครือเถา ลายกนก ลายต่างๆ บางคนชอบเพลงไทยเดิม ดนตรีไทยเดิม ชอบอะไรที่เป็นไทยๆ แบบนี้ แบบนั้น ต่างกันไป อย่างนั้นก็ได้ถ้าเขาไม่ชอบรำ แต่สำหรับตัวแม่ ท่าการรำมันรวมอยู่ทั้งหมดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นไงเวลาเราสอนเด็กต้องวาดการ์ตูนเลยนะคะ  ต้องวาดว่าวงต้องเป็นแบบนี้จีบต้องเป็นแบบนี้อะไรแบบนี้ค่ะ มันก็รวมอยู่แล้วค่ะ วิชานี้มันต้องใช้วิชาวาดภาพประกอบด้วยนะ คำกลอนต่างๆมันก็มีอยู่แล้วในวิชานาฏศิลป์ไทย เพลงต่างๆในวิชานาฏศิลป์ไทยครบวงจรนะคะ ในการเรียนแต่ไม่จำเป็นต้องให้เรียนจนกระทั่งเป็นเฉพาะทางนี้เลย อะไรก็ได้ขอแค่ให้มีความเป็นไทยคงอยู่ในตัวเขา ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม”



หลังจากที่ได้เข้ามาที่ “มูลนิธิไทยลัดดาวัลย์” ได้เห็นเด็กๆ เกือบ 100 คน กำลังเรียนรู้วัฒนธรรมไทยอย่างตั้งใจ พูดคุยกับแม่ครู และน้องแป้งหมี่ ก็ทำให้ฉันหมดข้อสงสัยในตอนต้นที่ว่า ยังมีเด็กไทยอีกสักกี่คนที่อยากเรียนรู้รากเหง้าศิลปวัฒนธรรมไทย? ยังมีครูอีกสักกี่คนที่ยังสอนศิลปวัฒนธรรมไทย?  หรือว่าสิ่งเหล่านี้มันตายไปพร้อมกับผู้รู้เสียหมดแล้ว ในตอนนี้ฉันมีแต่ความปลื้มปิติที่ได้เห็นทุกชีวิตในสถานที่แห่งนี้กำลังพยายามขับเคลื่อนให้วัฒนธรรมไทยยังคงอยู่ และตอนนี้คงถึงเวลาที่ฉันจะต้องหันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองบ้างว่าฉันทำอะไรเพื่อรักษาวัฒนธรรมไทยบ้างแล้วหรือยัง
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สร้างกลไกฟื้นฟูจากการ ‘รักตัวเอง’ วิเคราะห์จิตวิทยามนุษย์กับพญ.วินิทรา แก้วพิลา (หมอโบว์) จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
ร้านกาแฟและเบเกอรี่เพื่อการฟื้นฟูและฝึกทักษะทางสังคม ให้แก่ผู้ป่วยจิตเวช โดยโรงพยาบาลศรีธัญญา