TALK

เจาะใจ The Lounge : เจ้าของอาณาจักรน้ำนมออร์แกนิคแห่งเขาใหญ่ แดรี่โฮม

คุณพฤฒิ เกิดชูชื่น
12 ธ.ค. 2560


จุดเริ่มต้นของการมาเริ่มทำธุรกิจเกี่ยวกับนม เป็นมายังไงคะ
ก่อนหน้านี้ผมทำงานอยู่กับ ฟาร์มโคนม ไทย-เดนมาร์ค จากนั้นผมตัดสินใจลาออกมา ช่วงนั้นผมก็คิดว่าจะทำอย่างไรเราจึงผลิตน้ำนมโดยที่ไม่เน้นปริมาณ หากแต่คุณภาพ และยังคงต้องมีต้นทุนไม่สูง ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรทำได้จริง จากนั้นผมก็พยายามเข้าหาเกษตรกรที่สนใจและเห็นด้วยกับวิธีที่จะทำฟาร์มแบบออร์แกนิก ซึ่งพวกเขาต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงการเลี้ยงโคนมแบบเดิมมาเป็นแบบไม่ใช้สารเคมีใดๆเลย ผมพยายามเอา Regulation จากต่างประเทศมาปรับใช้ และพยายามดึงเกษตรกรให้เข้ามาร่วมมือกับเราในการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิต เพราะถ้าเราปล่อยไปแบบนี้ วงการนมบ้านเราก็จะยิ่งถดถอยลงเรื่อยๆ
 
แต่มองภาพจากคนนอกตอนนี้ วงการนมบ้านเราก็คึกคักดีไม่ใช่หรือคะ
คือถ้ามองจากภายนอก วงการนมบ้านเรามันเหมือนจะดีขึ้น แต่จริงๆแล้วภายในมันไม่ได้ดีขึ้นจริง เกษตรกรยังทำงานด้วยวิธีแบบเดิมๆ ไม่ใช่วิธีโบราณนะครับ หมายถึงวิธีที่ใช้เคมีแบบเดิมๆ วิธีที่ถูกสั่งสอนกันมาว่า วัวหนึ่งตัว ควรผลิตน้ำนมได้มากแค่ไหน รวมถึงต้องใช้เคมี และใช้อาหารเยอะๆ หากวัวป่วยก็ฉีดยาเข้าไป คือ Concept เดิมๆ เพื่อเน้นผลผลิตให้เยอะเข้าว่า สุดท้าย กลับกลายเป็นว่าเราทำลายสิ่งแวดล้อมในฟาร์มไปมาก ยกตัวอย่างว่า จริงๆแล้วขี้วัวนั้น สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยเพื่อใส่ให้หญ้าโต แล้วหญ้งก็จะมาเป็นอาหารของวัวได้อีก แต่เรากลับไปซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่หญ้า ส่งผลต่อมาอีกว่า น้ำในดิน น้ำในคลองของเรา มีสารปนเปื้อน อย่างไนเตรท ปนอยู่เยอะมาก สามารถเช็กดูได้เลย อย่างน้ำเนี่ย ถ้าเริ่มไหลมาจากบนเขาใหญ่ ก็จะไม่มีไนเตรท แต่พอไหลผ่านชุมชน ผ่านหมู่บ้าน จะเจอทันที อย่างแถบกรุงเทพฯ รับรองได้ น้ำมีเคมีทั้งนั้น
เพราะเคมีการเกษตร มันก็ไล่มาตั้งแต่เชียงใหม่ ปากช่อง มวกเหล็ก เพชรบูรณ์ แล้วน้ำที่ไหลลงลุ่มน้ำเจ้าพระยามันไปรวมกันที่คลองสามเสนหมด เพราะฉะนั้นมันก็ไปอยู่ที่น้ำประปาบ้านเราทั้งนั้น ผมพูดได้เลยว่า น้ำประปาทุกหยดในกรุงเทพฯมีสารเคมีและอันตรายทั้งนั้น มาจากไหนหรือ ก็มาจากเคมีการเกษตรที่เราใช้ทุกวันนี้นี่แหละ
 
แล้วในแง่ของฟาร์มโคนม เราจะทำอะไรได้บ้างคะ 
เราก็พยายามที่จะมองว่า ทำอย่างไรที่จะให้เกษตรกรเปลี่ยนวิธีการผลิตให้เป็นออร์แกนิคให้ได้ ตอนนี้เกษตรกรโคนมเหลืออยู่ 16,000 คน แต่จากวันที่ผมลาออกจากไทยเดนมาร์กมา ตอนนั้นมีเกษตรกรอยู่ถึง 30,000 คน นี่แสดงให้เห็นว่า อาชีพโคนม ไม่ใช่อาชีพที่น่าพิศมัยนัก เพราะจำนวนลดลงมากๆ บางคนอาจบอกได้ว่า ที่ลดลงเพราะว่าฟาร์มมีขนาดใหญ่ขึ้นจากการที่หลายๆฟาร์มรวมตัวกันหรือเปล่า ขนาดมันใหญ่ขึ้นก็จริงนะครับ แต่มันไม่ได้ใหญ่ขึ้นในสัดส่วนเทียบเท่ากับที่หายไป เรียกง่ายๆคือวัวไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่ากับสัดส่วนที่ควรจะเป็น
 
แล้วปริมาณน้ำนมบ้านเราตอนนี้ ถือว่าเพียงพอไหมคะ
ถ้าวัดที่ปริมาณน้ำนมที่บริโภคกันในบ้านเราทุกวันนี้ ถือว่าไม่พอครับ เรายังต้องนำเข้านมผงคุณภาพที่เรียกว่า Commercial Grade เอามาละลายน้ำแล้ววางจำหน่ายกัน ที่เป็นนมสีต่างๆอย่างนมช็อกโกแลตหรือนมสตอเบอร์รี่ ยิ่งเด็กสมัยใหม่ เขารู้ว่านมแบบไหนคือนมสดจริงๆ นมแบบไหนคือนมผงละลายน้ำ เพราะฉะนั้นผู้ผลิตก็จะไม่เอานมละลายน้ำมาทำเป็นนมรสจืด อันนี้คือสถานการณ์บ้านเราโดยรวมนะครับ
 
แสดงว่ามีหลายเหตุผลที่ทำให้คุณพฤฒิลุกขึ้นมาทำฟาร์มออร์แกนิค
ก็ใช่ครับ คือผมต้องเล่าย้อนไปถึงเรื่องนม Commercial Grade ที่เรานำเข้าจากต่างประเทศแล้วเอามาละลายน้ำปรุงรสชาติเป็นนมสีต่างๆ ประเด็นคือ ต้นทุนมันดันต่ำกว่านมที่เกษตรกรไทยขาย ตรงนี้คือปัญหา ทั้งๆที่ผ่านมา เราก็พยายามที่จะฝืนทุกอย่าง พยายามผลักดันให้วัวได้ Production เยอะ แต่มันก็ยังไม่ได้
 
หรือเป็นเพราะบ้านเรามันมีข้อจำกัดอย่างอื่นอีกด้วยหรือเปล่าคะ
คือ Production มันเพิ่มได้ แต่ก็ไม่ได้เพิ่มมาก เพราะบ้านเรามีข้อจำกัดเรื่องภูมิอากาศอยู่ อย่างเช่นฤดูนี้จริงๆแล้วมันคือฤดูหนาว (ปลายเดือน พ.ย.) แต่เห็นไหมว่าเราไม่ได้หนาวจริงๆ คือ Condition ต่างๆของบ้านเรามันมีลิมิตอยู่ มันทำให้คนเรามีความตั้งใจที่จะเพิ่มผลผลิต แต่ถ้าวัวมันระบายความร้อนไม่ทัน มันก็ผลิตน้ำนมได้ไม่มากเท่าที่อยากได้ กลายเป็นคำพูดที่ว่า ยิ่งเลี้ยงยิ่งจน ผมก็เลยอยากจะหา Solution ตรงนี้ ผมเชื่อนะว่าการทําฟาร์มแบบออร์แกนิคมันคือ Solution อย่างหนึ่ง อันดับแรกคือให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองมากขึ้น แทนที่เขาจะไปหวังพึ่งพาอาหารจากโรงงาน เขาก็ต้องเริ่มมองว่าวัตถุดิบอะไรที่เขาจะหาได้ในฟาร์ม แล้วใช้เป็นอาหารวัว มากไปกว่านั้นคือเขาก็ไม่ต้องเสียค่าขนส่ง ลดต้นทุนค่าขนส่ง ยังมีค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าแรงงานในการปรุงแต่งอีก จริงๆแล้ววัวมันเป็นสัตว์ที่กินง่ายมากนะครับ มันกินหญ้าอย่างเดียวมันก็อยู่ได้ โดยที่ไม่ต้องไปเสริมอะไรมากมาย แต่เนื่องจากว่า เราเลี้ยงวัวโดยต้องการผลผลิตที่มากกว่าที่มันให้ลูกมันกินหน่อยนึง เพราะฉะนั้น ถ้าเราเสริมอาหารในจุดที่พอเหมาะแล้วเสริมด้วยหญ้าคุณภาพดี มันก็จะให้น้ำนมเกินกว่าปริมาณที่มันให้ลูกของมันกิน ดังนั้นส่วนที่เหลือเราก็เอามาใช้ได้ คือถ้าเราสามารถ Balance ตรงนี้ได้ ต้นทุนก็จะต่ำ
 
แล้วเรื่องสิ่งแวดล้อมล่ะคะ
กำลังจะบอกเลยครับว่านี่ไม่ใช่ประโยชน์อย่างเดียวของเกษตรกรแบบออร์แกนิค ประโยชน์อีกอย่างที่สำคัญมากๆก็คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม กฎของที่นี่คือเราจะไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงเด็ดขาด ถ้าวัวมีเห็บ หรือถ้าโดนตัวดูดเลือด เราก็ใช้สมุนไพร สมุนไพรบ้านเรามีเยอะมาก เพียงแต่ว่ามันเป็นภูมิปัญญาที่ถูกหลงลืมไป ทั้งหมดนี้อยู่ในความเชื่อที่ว่า เกษตรกรจะต้องพึ่งพาตัวเองได้และไม่มีสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบหรือผลผลิตที่ออกมา เราต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
 
ที่ผ่านๆมาที่เราใช้สารเคมีกันอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะเราไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอหรือเปล่า
ยอมรับครับว่าที่ผ่านมา ก็ต้องโทษพวกผมนักวิชาการสมัยโบราณอย่างพวกผมนี่แหละ ที่สอนพวกเขา สอนเกษตรกรมา เพราะเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เรามีความเชื่อที่เรียนจากฝรั่งกันมาว่า การเลี้ยงโคนมต้องทำแบบนั้น ทำแบบนี้ อย่างยาที่ใช้ก็เป็นยาฝรั่งทั้งหมด เขาสอนให้เราใช้ แล้วเราก็ซื้อมาใช้กันแบบเชื่องๆ จะว่าอย่างนั้นก็ได้ ทั้งๆที่สมุนไพรบ้านเรามีอยู่เต็มไปหมด จะมีบางอย่างเท่านั้นที่จำเป็นจริงๆที่เรายังผลิตไม่ได้ แต่ก็น้อยมากครับ


(แปลงสมุนไพรในฟาร์ม)
 
ฟาร์มน้ำนมแบบออร์แกนิก ถือว่าได้ Production มากน้อยแค่ไหนคะ
ในแง่ของจำนวนก็ต้องบอกว่ามันอาจลดลง แต่ว่าความเข้มข้นของน้ำนมมีมากขึ้น เราเคยส่งตัวอย่างนมไปให้ผู้เชี่ยวชาญดูก็จะพบความเข้มข้นที่สูงมาก จริงๆต้องบอกว่าใครๆก็ทำได้ครับ ทำได้ด้วยการไม่ไปเร่งผลผลิตเยอะๆ วัวมันให้ผลผลิตที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 13 ถึง 14 กิโลกรัมต่อวัน แล้วมันก็จะมีความสุข สุขภาพก็จะดี เราก็มีความสุข ไม่ต้องไปบีบให้มันได้ถึง 20 กิโลกรัมต่อตัวต่อวันหรอกครับ
 
สัตว์ที่ได้มาจากการที่เราเลี้ยงแบบธรรมชาติ อย่างถ้าเป็นวัวที่ได้วิ่งเล่น ได้เดินเล่นในทุ่งหญ้า เนื้อของมันก็จะมีโอเมก้า 3 อยู่มาก หรือเนื้อหมู ถ้าเป็นหมูที่เลี้ยงแบบธรรมชาติ แบบที่มันได้เดินกินหญ้า ได้ขุดรากไม้กินบ้าง เนื้อหมูเหล่านี้ก็จะมีโอเมก้า 3 เช่นกัน หรืออย่างไก่ไข่ ถ้าไก่ได้เดินจิกโน่นจิกนี่ เดินเล่นตามธรรมชาติ มันก็จะออกไข่ที่มีโอเมก้า 3 ด้วย สิ่งนี้มันเป็นตัวบอกอย่างหนึ่งครับ ว่าไม่ใช่ว่าอาหารชนิดไหนมันจะดีหรือมันจะไม่ดี มันขึ้นอยู่กับว่า วิธีการที่เราได้มันมาต่างหาก เพราะถ้าวิธีที่เราได้มามันถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือพืชชนิดไหนที่จะกลายมาเป็นเป็นอาหารของพวกเรา มันก็ดีหมดแหละครับ ถ้าวิธีการมันถูกต้องนะ แล้วผมก็ยังยืนยันว่าวิธีการที่ดีก็คือวิธีการธรรมชาติครับ
 

(ฟาร์มของสมาชิกเกษตรกรแบบออร์แกนิคที่เลี้ยงวัวแบบปล่อย)


(ฟาร์มที่เลี้ยงโคแบบทั่วไปและให้อาหารเป็นฟาง)
 
นอกจากนี้แล้ว ประโยชน์ของ Organic มีอะไรอีกบ้างคะ
อีกเรื่องหนึ่งที่คนเข้าใจกันผิดที่ผมอยากจะนำเสนอคือเรื่องของปุ๋ยเคมี เรารู้กันอยู่แล้วว่ายาฆ่าแมลงไม่ดี กินแล้วตายเลย แต่สำหรับปุ๋ยเคมี มันไม่ได้ตายทันทีไง มันสะสม ลองคิดดูว่าถ้าคุณเอาปุ๋ยเคมีมาละลายน้ำแล้วลองดื่มเข้าไป คุณไม่ตายหรอกครับ แค่มันสะสมอยู่ในร่างกาย นี่คือเหตุผลว่าคนสมัยนี้ทำไมถึงป่วยบ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็ง โดยที่คนๆนั้นไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ได้สูบบุหรี่ แถมครอบครัวก็แข็งแรงด้วย คนพวกนี้อาจจะเป็นคนที่กินผักเยอะ แต่ผมก็อยากจะย้ำนะครับ ว่าเราต้องเลือกที่มาของผักด้วย และแน่นอนคำว่า ออร์แกนิคตอบโจทย์ที่สุดครับ
 
ดังนั้นสิ่งที่แดรี่โฮมพยายามทำอยู่ตอนนี้คืออะไรคะ
แน่นอนว่าเราพยายามทำฟาร์มโคนมแบบออร์แกนิคเป็นความตั้งใจแรก แต่สิ่งที่พยายามทำเป็นคู่ขนานกันไปด้วย ก็คือร้านค้าและร้านอาหารของเรา ตอนแรกๆที่ผลิตน้ำนมออกมาก็ไม่ได้คิดว่าจะไปขายในห้าง เพราะอยากจำหน่ายในร้านของเราเอง ร้านกับฟาร์มโคนมมันก็เลยเติบโตมาด้วยกัน แม้กระทั่งข้าวที่เสิร์ฟในร้านก็ใช้ข้าวออร์แกนิค พนักงานในร้านผมก็มีข้าวออร์แกนิคให้กินทุกวัน รวมถึงข้าวออร์แกนิคถุงๆที่จำหน่ายให้ลูกค้าด้วย ผมทำแบบนี้มา 10 กว่าปีแล้ว ผมเชื่อว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่จำเป็นมากๆ ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนประเทศ เราต้องเปลี่ยนเรื่องข้าวก่อนเลยครับ
 
เพราะข้าวเป็นอาหารหลักใช่ไหมคะ
ใช่ครับ คือน้ำนมเนี่ย สำหรับผม ผมยังมองว่าเป็น Second Choice เพราะคนเราอาจจะดื่มหรือไม่ดื่มนมก็ได้ แต่เราต้องกินข้าว แล้วข้าวที่ผลิตได้ในประเทศถือว่าเราเก็บไว้กินเอง 60 เปอร์เซ็นต์ อีก 40 เปอร์เซ็นต์ คือส่งออก เพราะฉะนั้นหมายความว่า ถ้าทุกคนหันมาบริโภคข้าวออร์แกนิค พื้นที่ที่ปลูกข้าวประมาณ 60 ล้านไร่ของประเทศเราจะกลายเป็นพื้นที่ออร์แกนิค ประเทศไทยจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ สิ่งแวดล้อมเราจะดีขึ้น สุขภาพพวกเราจะดีขึ้น นี่คือแค่เปลี่ยนข้าวนะครับ
 
แล้ววิธีเปลี่ยนที่ง่ายที่สุดสำหรับคุณพฤฒิ คืออะไรคะ
อันดับแรกคือเปลี่ยนข้าวที่บ้านของเรานี่แหละครับ เชื่อเถอะว่าต้นทุนชีวิตของคุณไม่เพิ่มขึ้นมากหรอก จะเพิ่มขึ้นก็ไม่มาก แต่สุขภาพคุณดีขึ้นแน่นอน เหมือนภารกิจของโรงงานแดรี่โฮม ณ ตอนนี้เลยครับที่เรามี คือหนึ่งเลย เรื่องของออร์แกนิคนี่แหละครับ เราจะพัฒนานมออร์แกนิคให้ได้มากที่สุดและในขณะเดียวกัน เราก็จะพยายามทำให้สินค้ารอบๆเราเนี่ยเป็นออร์แกนิคไปด้วย  เรื่องที่สองก็คือเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะว่าออร์แกนิกกับสิ่งแวดล้อมมันไปด้วยกันเราตั้งใจจะพัฒนาเรื่องสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด
 
ย้อนกลับไปตอนแรกที่เริ่มชวนเกษตรกรให้เขาปรับเปลี่ยนมาทำฟาร์มแบบออร์แกนิค เรามีแรงจูงใจให้พวกเขายังไงบ้างคะ มีการรับประกันชีวิตของพวกเขาอย่างไร
ถ้าพูดกันตามตรงตอนแรกผมก็พยายามจะบอกให้เกษตรกรนึกถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ไม่ต้องคิดถึงเรื่องเงิน แต่พูดแบบนี้มันก็คงไม่ได้นะครับ คนเรามันต้องกิน ต้องใช้ ชีวิตของเกษตรกรเขาก็ลำบาก เพราะฉะนั้น ในช่วงแรกๆ สิ่งที่เราพยายามบอกเขาคือ เชื่อเถอะ ทำแล้วมันจะดีขึ้น ซึ่งตอนแรกแรกก็เป็นธรรมดาที่เขาไม่เชื่อหรอกครับ อย่างเช่นฟาร์มแรกเมื่อสิปกว่าปีที่แล้ว เขาไม่เชื่อหรอกเพราะมันยังไม่มีตัวอย่างด้วย แต่เราก็ต้องทำการรับประกันให้เขาเลยว่าถ้าคุณทำแล้ว แล้วได้กำไรน้อยกว่าเดิม ผมจะชดเชยส่วนที่ขาดให้
 
แสดงว่าเรามั่นใจความเป็นออร์แกนิคมากๆ
ไม่เชิงครับ เพราะในวันนั้น ถามว่าเรามีความเชื่อมั่นในทฤษฎีมากแค่ไหน ตอบเลยว่าเราเชื่อมั่นในทฤษฎีมาก แต่ในภาคปฏิบัติก็ยอมรับว่าเรายังไม่แน่ใจ เพราะเราไม่เคยทำแบบจริงจังกับเกษตรกร ของแบบนี้มันอาจจะพลาดได้ แต่ผมก็ยอมสู้นะเพื่อให้เขาเปลี่ยน ต้องบอกว่า 3 เดือนแรกเค้าก็ Suffer พอสมควร เพราะว่าปริมาณนมมันลดลงครึ่งนึงเลย ในขณะที่หนี้สินเก่าๆเขายังอยู่ แต่ว่าพอผ่านเดือนแรกได้ เข้าเดือนที่ 2 ที่หนี้ก้อนแรกอย่างพวกค่าอาหารสัตว์ก็จ่ายหมดแล้ว แม้ว่าปริมาณนมจะน้อยแต่สถานการณ์ก็เริ่มดูดีขึ้น พอเข้าเดือนที่ 3 วัวมันปรับตัวได้ สุขภาพมันดีขึ้น ปรับตัวเข้ากับอาหารแบบใหม่หรืออาหารที่เป็นธรรมชาติได้มากขึ้น Production มันก็เพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดขึ้นมาประมาณนึง
สมมุติว่าวันหนึ่งเคยได้ 20 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน ตอนแรกลดลงมาเหลือ 10 กิโลกรัม แล้วพอปรับตัวได้ก็ขยับขึ้นมาอยู่ในระดับประมาณ 13 กิโลกรัมต่อวัน คนที่ทำได้ดีๆก็อยู่ที่ประมาณ 14 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน ถึงแม้นมจะหายไป 6 กิโลกรัม แต่ว่าต้นทุนหายไปเกินครึ่ง เพราะฉะนั้นพอเดือนที่ 3  เกษตรกรปรับตัวได้แล้วเขาไม่มีหนี้เก่า แล้วน้ำนมได้ประมาณนี้ กลายเป็นว่ากำไรเหลือเยอะขึ้น
 
พอจะประมาณตัวเลขรายรับ รายจ่ายของฟาร์มโคนมได้ไหมคะ
เอาตัวเลขคร่าวๆนะ อย่างสมมุติว่าเดือนนึงเคยได้อยู่ 2 แสนบาท พอเปลี่ยนเป็นออร์แกนิคเดือนแรก รายได้เขาหายไปแสนนึง เหลือแค่แสนเดียว แต่ต้องบอกก่อนว่า สมัยก่อนได้มา 2 แสนก็จริง แต่กำไรแค่ 20,000 นี่คือฟาร์มใหญ่ ลูกน้องมากมายนะครับ ฟาร์มเล็กๆน้อยกว่านี้ พอเปลี่ยนระบบใหม่เหลือแสนนึงก็จริง แต่ต้นทุนเหลือ 40,000 นั่นแปลว่าเขาได้กำไรเต็มๆที่ 60,000 เพราะว่ามันไม่ต้องซื้ออะไรเลยไงครับ ลดตั้งแต่ค่าอาหาร ค่ายา ค่าสัตวแพทย์ พอวัวมันสุขภาพดี ค่ายา ค่าอะไรไม่ต้องใช้เลย ค่าอาหารมันลดอยู่แล้ว เพราะกินหญ้าเป็นหลักถึง 80 เปอร์เซ็น อีก 20 เปอร์เซ็นต์ ก็คือวัสดุในท้องถิ่นที่พอจะหาได้เช่น ใบกระถิน มันสําปะหลัง แค่นี้เลยคือสิ่งที่วัวต้องการ แล้วจะบอกว่ามันดีสำหรับวัวและดีสำหรับเราด้วย อย่างที่บอกไปว่าผลผลิตที่ออกมาจากวัวที่เลี้ยงแบบนี้ คุณภาพดีมาก เนื้อนมแน่นมาก
 

(ส่วนหนึ่งของฟาร์มอินทรีย์)
 
หลังจากฟาร์มแรกผ่านพ้นไปแล้วฟาร์มอื่นตามมาง่ายๆเลยไหมคะ
ใช้คำว่าง่ายขึ้นดีกว่า เพราะสำเร็จฟาร์มแรกมา ฟาร์มที่ 2 มันก็ง่ายขึ้น ที่ 3 ก็ง่ายขึ้น ตอนนี้เรามีฟาร์มในเครือข่ายอยู่ 20 กว่าฟาร์ม ก็โตขึ้นเรื่อยเรื่อยๆครับ แต่ว่าสิ่งที่น่าดีใจคือตลาดมันโตกว่า ตลาดของนมออร์แกนิคตอนนี้มันเหมือนกับคนเริ่มสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสุขภาพมากขึ้น กลายเป็นว่าตอนแรกๆนมของเราออกมา มันไม่มีที่ไป ตอนนี้ตลาดดีขึ้นมาก มีห้างที่เอานมของเราไปขายเยอะขึ้น ล่าสุด มีซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีเครือข่ายอยู่ที่จังหวัดกระบี่เขาก็สั่งนมของเราไป เอาไปขายฝรั่งเป็นส่วนใหญ่ จะบอกว่าในมุมมองของฝรั่ง พอเขาเห็นคำว่า Organic อย่างนม Organic เนี่ย เค้าซื้อเลยครับ ก็จะชัดเจนมากว่าเวลาฤดูท่องเที่ยวมาถึง ยอดขายผมก็จะขึ้นเลยนะ
 
ก่อนหน้านี้อาหารหลักของวัวในฟาร์มมีอะไรบ้างคะ
อาหารเม็ดจากโรงงานล้วนครับ คืออาหารเม็ดมันง่าย แต่ปลูกหญ้ามันใช้เวลา มันต้องดูแล แต่อาหารเม็ดเทได้เลย แถมได้นมเยอะแน่นอน คือเมื่อไหร่ก็ตามที่ให้อาหารหยาบอย่างหญ้า นมมันลดแน่นอนครับ แต่โดยมาก เกษตรกรจะลืมในมุมนี้ไป ว่าไม่ใช่แค่นมลดอย่างเดียว ต้นทุนอย่างอื่นมันลดลงด้วย อย่างค่ายา ค่าหมอ เคยจ่ายอยู่เดือนละ 20,000  แต่พอเปลี่ยนเป็นออร์แกนิคปุ๊บ ตรงนี้หายไปเลยนะ หมอตกงานได้เลย (หัวเราะ) แต่เอาจริงๆหมอเขาก็ดีใจนะ หมอบอกว่าดีสำหรับวัว ดีสำหรับฟาร์มอยู่แล้ว เขาไม่ได้อยากได้ค่ารักษาตรงนี้หรอก


(สมุนไพรที่ใช้ในฟาร์ม)
  
แต่ก็มีผู้ผลิตที่ยืนยันว่าของพวกนี้มันสลายได้
ทางผู้ผลิตยาฆ่าหญ้าต่างๆเขาก็อาจจะพูดได้ครับว่า ยาพวกนี้ ฉีดไปเถอะ มันสลายได้ แล้วพวกเราก็จะประหยัด คือแทนที่จะค่อยๆเอาคนมาถางหญ้า แต่นี่เอายาเติมลงไปในรถแทรกเตอร์แล้วต่อสายยาวๆ แล้วสเปรย์ได้เลย ประหยัดค่าแรงกว่ามาก ต้นทุนก็จะต่ำลง มันไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายพวกเรา แต่เชื่อไหมว่า แถบยุโรป เขาห้ามใช้พวกยาฆ่าหญ้านี้กันแล้วนะครับ
 
พูดถึงยาที่ใช้ๆกัน ส่วนมากผลิตจากที่ไหนคะ
ร้อยทั้งร้อยมาจากต่างประเทศครับ เอเย่นต์ยามีความสุข ไปเที่ยวเมืองนอกทุกปี ก็เพราะว่า Margin มันสูงครับ บริษัทยาได้คนขายยาได้ แต่เกษตรกรไม่ได้อะไรเลย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงครับ
 
ทำแบบนี้คนขายยาเขาไม่เกลียดเราหรอคะ
ผมต้องบอกว่า จริงๆแล้วเขาก็ต่อสู้เต็มที่นะ เขามีกำลังมากกว่าเรา เขามีเงินโฆษณาทีวี คนขายยา ขายปุ๋ยเคมีในประเทศไทยรายใหญ่ๆทั้งนั้น เกษตรกรไทยก็อาจจะมอง Solution ที่ง่าย การใช้ยาใช้เคมีพวกเนี้ยเป็นทางออกที่ตอบโจทย์มนุษย์มากๆเพราะสะดวก เช้ามาจะให้ไปนั่งเก็บหนอนทุกตัว มันไม่ไหวจริงๆ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีแรงงานต่างชาติมารับฉีดยาให้ หรือกระทั่งมีเทคโนโลยีบินโดรนฉีดยาให้ ยิ่งสะดวกเข้าไปใหญ่ เพราะฉะนั้นถามว่าเราจะสู้กับเรื่องพรุ่งนี้ไหวไหม ถ้าคำตอบในแง่ของผู้ผลิตด้วยกัน ตอบได้เลยว่าไม่มีทางครับ ดังนั้นที่ถามว่า แล้วคนขายยาจะเกลียดเราไหม ตอบเลยว่าไม่หรอกครับ เพราะเราไม่ได้มีกำลังจะไปสู้อะไรเขามาก แต่เขาคงหมั่นไส้เรามากกว่า (หัวเราะ) แต่สิ่งที่ผมกำลังพยายามทำคืออยากให้ผู้บริโภคเกิดความตระหนักในเรื่องนี้ ผมอยากจะบอกว่า เราทำไม่ได้นะ ถ้าเอายาฆ่าแมลงมาใส่โลกทั้งใบ แล้วจะให้แมลงหมดไปจากโลกนี้ คือถ้าสมมุติ วันนึงเราฉีดยาทั้งโลกจนแมลงหายไปหมด คือถ้าทำสำเร็จขึ้นมา แน่นอกว่า เราจะไม่มีแมลงตอมข้าว ไม่มียุงกัด แต่ว่าภายใน 1 ปีเราจะไม่มีอาหารกินเลย เพราะไม่มีตัวผสมเกสร พืชพันธุ์ธัญญาหารในโลกนี้จะออกดอกอย่างเดียว แต่ไม่ออกผล เพราะไม่มีใครผสมเกสรให้ คิดดูว่าลำไยทั้งต้นเราต้องเอาบันไดปีนขึ้นไปแล้วเอาดอกตัวผู้ ตัวเมียมาเขย่าใส่กันเอง เราทำไม่ได้นะ แล้วพออาหารไม่พอ สิ่งที่ตามมาแน่นอนคือสงครามครับ
 


ทราบมาว่าคุณพฤฒิเองก็เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษามรดกโลกดงพญาเย็น เขาใหญ่ด้วย ถือว่าเป็นภารกิจสิ่งแวดล้อมแบบควบคู่เลยใช่ไหมคะ
หน้าที่ของผมตอนนี้ก็คือ  พยายามทุ่มเทเวลาให้กับทั้งที่ฟาร์ม และงานเรื่องสิ่งแวดล้อมในส่วนนั้นด้วย ผมมองว่าธุรกิจมันอยู่ได้ในระดับหนึ่งแล้ว คือไม่ใช่ว่าโรงงานเราใหญ่โตอะไรนะครับ แต่ผมเชื่อว่าในขณะที่เรากำลังเจริญเติบโต เราน่าจะทำประโยชน์ให้กับสังคมควบคู่กันไปได้ ไม่ต้องรอรวย แล้วค่อยช่วยเหลือสังคม ผมคิดว่าเราทำไปพร้อมๆกันได้ครับ
 
สัมภาษณ์ / เรียบเรียง
หัสสยา อิสริยะเสรีกุล
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ผู้หันหลังให้กับชีวิตมนุษย์เงินเดือนในเมืองหลวง มาเป็น ครูสอนดำน้ำ(diving instructor) ให้กับโรงเรียนสอนดำน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียที่เกาะเต่า อันเป็นแหล่งผลิตนักดำน้ำชั้นดีอันดับต้นๆของโลก
เจาะใจ The Lounge เจาะลึกเบื้องหลังภาพยนตร์ Animation ทุนสร้างกว่า 230ล้าน  ‘๙ ศาสตรา’ เมื่อ Passion  พลิกโฉมวงการ Animation ไทย ไปพูดคุยกับคุณอภิเษก วงศ์วสุ Executive Producer แบบหมดเปลือก ที่นี่ที่เดียว!