Victoria & Ubdul สร้างมาจากเรื่องจริง โดยดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเดียวกันนี้ เขียนโดย “ชาร์บานี บาซู” นักเขียนชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดีย โดยนำเรื่องราวที่ปิดซ่อนเป็นความลับของพระควีนวิคตอเรีย ผู้ปกครองประเทศอังกฤษและครองดินแดนอาณานิคมทั่วโลกรวมทั้งอินเดียด้วย ที่มีความ “พึงใจ” ในหนุ่มชาวอินเดียที่มีนามว่า “อับดุล คาริม”
อับดุล คาริม เดินทางมาอังกฤษในฐานะตัวแทนประเทศอินเดียที่นำ เหรียญบรรณาการ ที่แสดงถึงการคารวะต่อพระราชินีแห่งราชอาณาจักรอังกฤษในวาระครองราชสมบัติครบ 50 ปี
เขาเริ่มต้นด้วยการเป็น “คนรับใช้” ก่อนจะค่อยๆ เขยิบฐานะมาเป็นผู้ถวายงานใกล้ชิด จนเป็นครู และจนเป็น “คนใกล้ชิดที่รู้ใจ” ซึ่งแน่นอนว่าคนที่แวดล้อมพระนางย่อมไม่พึงใจอย่างมาก ซ้ำในตอนท้ายเรื่องเขายังได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงจากพระนางอีกด้วย
ในประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงความโดดเดี่ยวของพระนาง จากการสิ้นพระชนม์ของพระสวามีตั้งแต่พระนางมีพระชนมายุได้ 42 พรรษา ในหนังยังได้บอกถึงความไม่ลงรอยกันของลูกๆ ของพระนางที่ต่างคนต่างชิงดีชิงเด่น และแน่นอนที่คงจะไม่สามารถให้ความรักความอบอุ่นใจแก่พระมารดาได้
และในประวัติลับๆ ได้ระบุด้วยว่าพระนางเคยมีความสัมพันธ์พิเศษกับ “จอห์น บราวด์” มหาดเล็กคู่ใจชาวสก๊อต ที่ก็มาด่วนจบชีวิตจากพระนางไปเสียก่อน ดังนั้นเมื่อชายหนุ่มชาวอังกฤษวัย 24 ปีที่หน้าตาดีและฉลาดในการพูดคุย ในแบบที่คนใกล้ชิดไม่มีใครทำเสมอเหมือนได้ มาเติมเต็มความรู้สึกที่โดดเดี่ยวแห้งแล้งของพระองค์ได้ ไฉนเลยจะไม่ได้รับการอุ้มชูจากพระนางผู้ปกครองจักรวรรดิ์อังกฤษอันยิ่งใหญ่
ที่บอกว่าหนังเรื่องนี้เล่นกับความขัดแย้ง เพราะนั่นเป็นแก่นของเรื่องที่ทำให้เกิดเรื่องราวที่ชวนติดตามยิ่ง ความขัดแย้งนั้นมีตั้งแต่ ความสัมพันธ์ของหญิงและชายที่ต่างสถานะกันอย่างสุดขั้ว “ราชินีกับคนรับใช้” ขัดแย้งกันในวัยวุฒิ คือ “60 กับ 24 ปี” ขัดแย้งกันในเชื้อชาติและศาสนา “อังกฤษ ที่เป็นแคธอลิค และอินเดียที่เป็นมุสลิม” ขัดแย้งในทางการเมือง “ผู้นำของประเทศที่ล่าอาณานิคม กับ คนชั้นล่างของประเทศที่ตกเป็นเมืองขึ้น”
หนังนั้นเหน็บความถือดีของสหราชอาณาจักร และความเป็นผู้ดีอังกฤษได้อย่างเจ็บจี๊ดและชวนขัน นับแต่ฉากแรกที่อับดุลเหยียบย่างบนแผ่นดินอังกฤษ ชาวอังกฤษที่นำเขามาก็ประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า “ขอต้อนรับสู่ประเทศศิวิไลซ์” แต่ข้างล่างที่พื้นกลับมีชายนั่งขอเศษเงินอยู่ไม่ผิดกับที่อินเดียเลย
หรือเมื่อคนใกล้ชิดได้เตือนพระนางว่า ชายอินเดียผู้นี้กำลังใช้ตำแหน่งของเขาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ พระนางก็ตอกกลับว่า “ก็เหมือนกับพวกท่านทั้งหลายนั่นแหล่ะ” เงิบไปสิรออะไร
พูดถึงการแสดง นี่น่าจะเป็นบทการแสดงที่โดดเด่นเรื่องหนึ่งของ “จูดี้ เดนช์” เธอเคยรับบทพระราชินีเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษมาแล้ว ในเรื่อง “เชคสเปียร์ อิน เลิฟ”โดยออกมาในหนังแค่ 6 นาที และก็คว้าออสการ์ไปนอนกอด เรื่องนี้เธอถ่ายทอดความเป็นปุถุชนธรรมดาบนหัวโขนของสมเด็จพระราชินีได้อย่างน่าเห็นใจ และชวนเข้าใจยิ่ง ต้องดูการแสดงสีหน้าและอารมณ์ของเธอในฉากที่พระโอรสและคนใกล้ชิด มายื่นคำขาดว่าให้เธอปลดคาริมเสีย ไม่อย่างนั้นจะประกาศกับสาธารณชนว่าพระนางทรงเสียสติ ถ้าจะได้ออสการ์อีกตัวก็คงจากฉากนี้แหละ
ส่วน “อับดุล คาริม” รับบทโดย “อาลี ฟาซัล” นักแสดงชาวอินเดียที่มีผลงานในบ้านเกิดหลายเรื่อง และเคยแสดงในมินิซีรี่ย์ของอเมริกาในเรื่อง “Bollywood Hero” และหนังอเมริกันเรื่อง “Furious 7” อีกด้วย เสน่ห์ของเขาอยู่ที่ดวงตาและรอยยิ้ม ที่โปรยเสน่ห์ให้ ควีนวิคตอเรียหลงใหลได้
ในความยิ่งใหญ่ที่พระนางแสดงบทบาทมาตลอดทั้งเรื่องนั้น ก็มาถึงแก่อนิจจังเมื่อ
วันที่พระนางสวรรคตลงจากอาการประชวร ก็กลายเป็นเพียงหญิงชราธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้น
นี่ก็เป็นหนึ่งของความขัดแย้งที่ว่าโดยแท้