คำว่า cross connection บอกนัยๆว่าเป็นการเชื่อมโยงสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นการคิดอะไรใหม่แบบ 100% brand new เพราะที่จริงแล้ว การค้นพบสิ่งต่างๆในโลก ก็ล้วนเป็นการเอาความคิดเดิมหรือความรู้เดิมมาพัฒนาต่อให้กลายเป็นของใหม่ทั้งนั้น หรือที่พูดว่า ในโลกนี้ไม่มี new idea มีแต่ “corollary of old ideas” คือมาจากความคิดเดิม ความรู้เดิมที่มีอยู่
Isaac Asimov (1920-1992) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์หรือ sci-fi อันลือชื่อ Asimov เคยให้ความเห็นตอนถูกเชิญให้เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลในโครงการลับทางทหาร เพื่อหาทางให้ทีมงานสามารถคิดนอกกรอบหรือ think out of the box ได้อธิบายลักษณะของ cross connection skill ไว้ โดยยกตัวอย่างของ Charles Darwin เจ้าของทฤษฎีวิวัฒนาการว่า ในยุคนั้นมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนที่สนใจเรื่องเดียวกับ Darwin และออกสำรวจโลกเหมือนกัน แต่ไม่ได้สร้างผลงานออกมาเหมือน Darwin ทั้งนี้เพราะไม่ได้มี cross connectin skill เหมือนอย่าง Darwin ทั้งที่ความสำเร็จอยู่แค่เอื้อม
ความแตกต่างมาจากDarwin เกิดไปอ่านหนังสือ “Essay on Population” ที่เขียนโดย Thomas Multhus ขึ้นมา หนังสือนี้พูดถึงหายนะของมนุษยชาติที่อาจจะมาถึง หากประชากรเพิ่มเร็วกว่าความสามารถในการผลิตอาหาร
ดูเหมือนว่า “ปัญหาคนล้นโลก” เป็นคนละเรื่องกับ “การวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต” ที่ Darwin กำลังสนใจ และ Multhus เองก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตใดๆเลย อีกทั้งมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนในยุคนั้นสนใจเรื่องคล้ายกับที่ Darwin สนใจอยู่ และได้อ่านหนังสือของ Multhus เหมือนกัน แต่อ่านแล้วก็ไม่ได้คิดอะไรต่อ
ต่างจาก Darwin ที่สามารถมองเห็นการเชื่อมโยงระหว่างเรื่องที่ไม่น่าจะเกี่ยวกันของสองเรื่องนี้ได้ เพราะปัญหาคนล้นโลกของ Multhus ทำให้ Darwin คิดต่อไปถึงการคัดเลือกโดยธรรมชาติ หรือ Law of Natural Selection และนำมาเขียนเป็นผลงานอันโด่งดังเป็นหนังสือ “On the Origin of Species by means of natural selection” (1859) ที่บรรจุความคิดเรื่องทฤษฎีวิวัฒนาการไว้
มีงานศึกษาของ Andrew Newberg ที่ Marcus Institute of Integrative Health ของโรงพยาบาล Thomas Jefferson University โดยใช้ MRI scan สมองเปรียบเทียบ พบว่า ในคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง การทำงานระหว่างสมองฝั่งขวาและซ้ายระบบประสาทมีการเชื่อมโยงกันมากเป็นพิเศษ ทำให้สามารถมองเรื่องที่ดูไม่เกี่ยวกัน ให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ ในขณะที่คนทั่วไป การทำงานของสมองไม่ได้มีการเชื่อมโยงเข้มข้นเท่า
ถึงแม้ว่า คนที่มีความสามารถ cross connection อย่าง Darwin เป็นคนส่วนน้อย และควรจะเป็นที่ต้องการมาก ยิ่งในอนาคตอันใกล้ยิ่งเป็น premium skill แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่า หลายคนไม่ได้ “เกิด” เพราะไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เพราะ cross connection skill ไม่ใช่อยู่ดีๆจะแสดงออกมาได้ หากต้องมีเงื่อนไขบางอย่างสนับสนุน
Asimov อธิบายว่า เนื่องจาก cross connection เป็นการโยงเรื่องที่ดูไม่เกี่ยวกัน ดังนั้น เมื่อมีใครแสดงไอเดียออกมา มักจะดูแปลกๆเสมอ ดูไร้เหตุผล หรือบางทีอาจดูโง่ด้วยซ้ำ และเป็นธรรมดาอยู่เองที่ คนที่กล้าแสดงความคิดสร้างสรรค์ จะพบกับความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ หรือแม้กระทั่งอับอาย ถูกสังคมหัวเราะเยาะและไม่นับเป็นพวก
นั่นหมายถึงว่า การจะเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และกล้าแสดงออกได้ ก็คงจะต้องเป็นคนที่มีบุคลิก “ไม่แคร์” ในระดับหนึ่ง และนั่นทำให้ Asimov บอกว่า คนกลุ่มนี้ออกจะแปลกๆหน่อยในสายตาคนอื่น คือเป็นคน “แหกคอก” หรือ eccentric จึงเกิดปัญหาเสมอๆว่า แล้วคนอื่นยอมรับพวกเขาได้หรือเปล่า?
ความแหกคอกนี้ เป็นได้ทั้งแบบเงียบนิ่มๆ หรือโฉ่งฉ่างชัดเจน แต่ที่สำคัญคือ ต้องตั้งอยู่บนความรู้และประสบการณ์ คือรู้ดีและชำนาญแล้วจึงกล้าแหกคอก เหมือนอย่างที่พูดกันว่า “Master all the rule, then brake it”- (พอเรียนรู้กฎทุกอย่างแล้ว ให้ทำลายกฎนั้นเสีย) ไม่ใช่ไปทำเป็นแหกคอกในเรื่องที่ตนเองก็ไม่รู้เรื่อง
เพื่อให้คนที่มี cross connection skill ได้เกิด Asimov บอกว่า ต้องปล่อยให้เขาสามารถแยกตัวออกทำงานเงียบๆได้ ถ้าไม่เปิดเวลาให้คนเหล่านี้ทำงานกับตัวเองหรือคิดคนเดียว ความสร้างสรรค์ก็ไม่เกิด เพราะความจริงมีอยู่ว่า cross connection skill มักจะ work ก็ตอนที่ไม่ใช่ในเวลางาน
Scott Barry Kaufman director ของ Imagination Institute ที่ Philadelphia บอกว่า ตอนรับข้อมูลมา คนเราจะรับฟังอย่าง conscious คือรู้ตัว แต่การ process ข้อมูลนั้น จะเป็นไปอย่างไม่รู้ตัวแบบ unconcious ดังนั้น ความคิดดีๆไม่ได้มาการตั้งใจคิด เช่นเค้นออกมาในห้องประชุม หรือถูกซักโดยเจ้านาย แต่มาเกิดขึ้นตอนที่เรากำลังทำเรื่องอื่นสบายๆ เช่น อาบน้ำ เดินเล่น หรือออกกำลังกาย อีกทั้งความคิดสร้างสรรค์มักเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเอง ที่ pop up ขึ้นมาระหว่างการทำงาน และมักเป็น side issue คือไม่ใช่ประเด็นหลักที่กำลังจดจ่ออยู่
และนั่นหมายถึงว่า รูปแบบการทำงานในยุคที่ cross connection skill กำลังเพิ่มความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ต้องลดบรรยากาศการทำงานที่เป็น formal หันไปเน้นบรรยากาศสบายๆแทน พร้อมกับเปิดใจกว้างกับความเห็นชวนอึ้ง และที่สำคัญ เปิดใจกับคนบุคลิกแปลกและแหกคอก
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ Asimov ชี้ว่า คนจะออกความเห็นดีๆได้นั้น มักเป็นคนที่ไม่ได้มีความเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย กับความเห็นนั้น และบางครั้ง ไม่ใช่คนที่เงินหรือผลตอบแทนขึ้นอยู่กับความเห็นด้วยซ้ำไป เช่น คนนอกองค์กร หรือ คนที่ไม่ได้ถูกจ้างมาโดยตรงให้มีหน้าที่ออกไอเดียดีๆ ดังนั้น ความคิดดีๆอาจมาจากคนที่ไม่ได้มีตำแหน่งสำคัญก็ได้ เพราะเขาไม่ต้องระวังตัว ไม่ต้องกังวลเรื่องการเมืองในที่ทำงานมาก อีกทัั้งคนระดับ junior อาจเป็นคนที่รู้ความเป็นไปของงานดีกว่าคนตำแหน่งใหญ่
ทั้งหมดนี้ เรื่องของ cross connection ดูเผินๆก็เหมือนเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่กำลังจะแตกต่างไปจากอดีตที่ผ่านมาก็คือ ดูเหมือนว่า cross conection skill กำลังทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังจะเป็น skill หลัก เพราะโลกกำลังเปลี่ยนจากการบริหารแบบตามโครงสร้าง หรือตาม hierarchy ไปเป็นการบริหารแบบ collaborative network ที่อาศัยเครือข่ายผสมผสานความรู้ต่างสาขาต่างที่เข้าด้วยกัน

Harvard Business Review พูดถึงโลกปัจจุบันและอนาคตที่เป็น “ยุคแห่งความไม่รู้” ด้วยเหตุว่า การพัฒนาเทคโนโลยีในยุคหลังดำเนินไปบนความรู้ที่ไม่ชัดเจน เสมือนการคลำทางไปเรื่อยๆ
ผิดแผกจากแต่ก่อน ที่เป็นการใช้ความรู้ที่มีอยู่แล้วเอามาต่อเติมเพิ่มขึ้นที่ละขั้นหรือ incremental และธุรกิจที่เกิดขึ้นบนเทคโนโลยีใหม่ๆเกิด มาจากจากการแตกสายธุรกิจใหม่ หรือ differentiate จากธุรกิจเดิม
แต่ปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในยุคของการพัฒนา artificial intelligence AI ที่กลไกการทำงานของ AI เองยัง blackbox หรือเป็นความคลุมเครือที่มองไม่เห็นชัด แม้คนที่สร้างขึ้นมาเองก็ไม่รู้ หรืออย่าง quantum computing และ nuromorphic computing หรือ วิศวกรรมพันธุกรรม การ edit ยีน หรือ genomics ที่เต็มไปด้วยความไม่รู้ ต้องลองผิดลองถูก
ด้วยความไม่รู้นี่เอง ทำให้ mindset ในการทำธุรกิจกำลังเปลี่ยนจาก “การปรับเปลี่ยน” หรือ iteration ไปเป็น “การค้นหา” หรือ exploration
และการค้นหา หมายถึงเวลาในการคลำทางจากเทคโนโลยีมาสู่การใช้จริงในเชิงธุรกิจยากขึ้น นานขึ้น และต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการร่วมมือกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำแล้วเก็บเป็นความลับเหมือนแต่ก่อน ความสามารถใน cross connection skill จึงเพิ่มความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ
อย่างเช่น แต่เดิมในยุค 1980 IBM จะพัฒนา PC ก็ต้องเก็บเป็นความลับ แยกไปทำในสถานที่เฉพาะ แต่พอถึงยุคนี้ที่ IBM กำลังพัฒนา quantum computing IBM ต้องสร้างองค์กรหลวมๆที่ชื่อว่า Q Network อันรวมเอา lab ต่างๆ สถาบันการศึกษา ลูกค้า supply chain รวมไปถึง startup เพื่อทำงานร่วมกัน ต่างคนรู้ว่าเทคโนโลยียุคใหม่นั้นซับซ้อนสุดๆ และเต็มไปด้วยความไม่รู้ เกินกว่าที่องค์กรเดียวจะรับมือได้
และนี่คือรูปแบบการทำงานที่คาดว่ากำลังกลายเป็นมาตรฐาน ต่อให้ไม่ใช่ในธุรกิจด้านเทคโนโลยีโดยตรงก็น่าจะถูกดูดเข้าไปอยู่ใน collaborative network อยู่ดี ไม่วงการใดก็วงการหนึ่ง อย่างเช่น ทุกวันนี้ก็เริ่มแยกไม่ออกระหว่าง ธุรกิจธนาคาร-retail-IT-telecom แล้ว หรือ การแพทย์-คณิตศาสตร์-IT หรือสารพัดธุรกิจและสาขาวิชาการ
Cross connection จึงเป็น skill อันสำคัญ เพราะไม่เพียงแต่ใช้ “คลำทาง” ได้ดีเท่านั้น ยังสามารถทำงานกับคนต่างความรู้ ต่างองค์กร ต่าง background ได้ดีด้วย
ทำให้จากนี้ต่อไป คือยุคทองของคนที่ “แปลกและแหกคอก”