แน่นอน ร้อยทั้งร้อยคงตอบว่าเป็นการเขียนจหมายสมัครงาน เพื่อให้เขารับเราเข้าทำงาน
ตอบเลยว่า....ผิด
และหากจะบอกว่าที่ที่นั้นคือ “ร้านอาหาร” คุณก็คงจะเลิกคิ้วด้วยความประหลาดใจ มีที่ไหน จะไปกินอาหาร ยังต้องเขียนจดหมายแนะนำตัวอีก บ้าหรือเปล่า?
แต่คุณอาจต้องเลิกคิ้วค้างไว้นานๆ หน่อย ด้วยความฉงนเพิ่มขึ้นไปอีกว่า ร้านอาหารที่ว่านี้ มีคนจองคิวเพื่อให้ได้มีโอกาสเข้าไปมีประสบการณ์พิเศษนี้ถึงข้ามปี โดยวันที่เปิดให้จอง คิวหมดลงภายในเวลา 8 วินาที
ถ้าเป็นรายการขายของ จอร์จคงพูดดังๆ ว่า.... พระเจ้า มันเป็นไปได้ยังไง
แต่มันเป็นไปแล้ว เรากำลังพูดถึง “เรือนจรุง” ผ่านการพูดคุยกับเจ้าของที่ลูกค้าพากันเรียกว่า
“ลุงเหมียว” เขามีชื่อจริงว่า “จรัส ภาคอัด”

“..เหี้ย..อะไรของมึงวะ เรือนจรุง..” จรัสเล่าให้เราฟังด้วยเสียงอันดัง บวกกับภาษาตรงๆ หน้าตาขึงขัง “แต่ก็โอเค และบนความที่เราอะไรวะเรือนจรุง ซึ่งมันคงไม่มีคนคิดแบบนี้แน่ๆ และเราก็ตั้งใจว่าจะไม่เรียกว่า “ร้าน” ให้เรียก “เรือนจรุง” เฉยๆ ก็พอ ไม่ต้องมา “ร้านเรือนจรุง” ไม่ต้องกูไม่ใช่ร้าน”
จรัส ภาคอัด ผู้ชายวัย 47 ปี ท่าทางบ้านๆ พูดจาห้วนๆ ตรงๆ ติดจะนักเลงหน่อยๆ ซึ่งก็ตรงกับคาแร็คเตอร์ “เรือนจรุง” ที่เขาทำอยู่ โดยเขาเอาบ้านที่พักอาศัยจริงๆ ที่จว.อยุธยามาทำ เขาขยายความต่อถึงที่มาของชื่อ “เรือนจรุง”ว่า

“เราอยากได้ชื่อสักชื่อหนึ่ง เราก็บอกเพื่อนว่าช่วยตั้งให้หน่อย กูไม่อยากเป็นบ้าน กูไม่อยากเป็นร้าน ไม่อยากให้ใครมาเรียกกูแบบนั้น เพื่อนมันก็ไปคิดมา และเขาก็เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน มันมาจากพี่ชื่อจรัส พ่อชื่อจรัญ คุณพ่อชวนให้เอาบ้านหลังนี้มาปลูกบนพื้นที่ตรงนี้ จรัญชวนจรัสให้มาปลูกบ้านหลังนี้ เพราะเมื่อก่อนบ้านมันอยู่ในคลองก็รื้อย้ายมันมาอยู่ในที่ปัจจุบัน การสร้างเรือนไทย เขามีศัพท์การสร้างว่า “ปรุงเรือน” จรุง แปลว่า หอม ตอนเวลาฝนตก ข้าวออกรวง มันจะมีกลิ่นหอมจากชายทุ่งเข้ามา มันก็เลยเป็น ...จรัญชวนจรัส มาปรุง เรือนจรุง ทุ่งข้าวหอม เจริญรุ่งเรือง....”
แค่ที่มาของชื่อก็ว่าแปลกแล้ว แต่เมื่อได้ฟังเรื่องราวของเรือนจรุงจะยิ่งแปลกไปใหญ่ สาเหตเริ่มต้นทำเรือนจรุงมาจากเหตุผลง่ายๆว่า เงินจะหมดแล้ว จากที่จรัสมีเก็บอยู่ 2 ล้าน เอามาทำบ้านหลังนี้เพื่ออยู่ ก็ร่อยหรอลงเรื่อยๆ ระหว่างนั้นก็คิดอยู่ว่าเดี๋ยวก็มีงานเข้ามา

งานที่เขาคิดว่าเดี๋ยวก็มา คือ งานฟรีแลนซ์ประเภทโปรดั๊กชั่น เฮ้าส์ รับจ้างถ่ายโน่นนี่ หรือรับทำงานอีเวนต์ เพราะเขาเติบโตมากับงานด้านนี้มาตลอด ผ่านชีวิตการทำงานมากับบริษัทชื่อดังของวงการก็หลายแห่ง จึงจัดว่าเขาเป็นคนโปรดั๊กชั่นโดยสมบูรณ์แบบก็ว่าได้


เมื่องานไม่มา คนที่บ้านซึ่งก็คือแม่และญาติๆ ก็เริ่มถามว่า “จะ 2 ปีแล้วเมื่อไหร่จะทำงาน” เขาจึงคิดว่า เขามีอะไรอยู่บ้าง ทำอะไรเป็นบ้าง พบว่าเรามีบ้านสวย บรรยากาศก็ดี ก็คิดเอาบ้านหลังนี้มาทำเป็นโฮมสเตย์ให้คนมาพัก

“มันก็ไม่มีอะไรยากนี่ เพราะเรามีครัวอยู่แล้ว แค่ไปซื้อเครื่องนอนหมอนมุ้งมาเพิ่ม ถ้วยชามเรามีอยู่แล้ว ห้องน้ำก็มีอยู่แล้ว เก็บหัวละ 600 บาท ทำกับข้าวดีๆให้เขาสัก 4-5 อย่าง เราก็ดูต้นทุนแล้วว่า เออ..มันก็คงพออยู่ได้ เพราะการไปอยู่บ้านนอก มันก็ไม่ได้ใช้เงินมาก”
จรัสเริ่มด้วยการเปิดเป็นโฮมสเตย์อย่างที่ว่า โดยจะรับใครเข้าพัก เขาต้องรู้จักตัวจนจริงๆ ผ่านทางเฟซบุ๊กเสียก่อน ต่อมาก็เลยรับบริการให้คนมาทานอาหารด้วยโดยเอาโต๊ะเดียวที่มีอยู่นั่นแหล่ะ รับเพิ่มอีก 2 รอบเพราะไหนๆ ก็ต้องทำอาหารอยู่แล้ว ทำเพิ่มอีกหน่อยก็ได้ ตอนหลังก็เลยเลิกให้คนมาพักเพราะมันเปลืองเวลามากกว่าจะรับแขกสักคน

หากใครคิดถึง “เรือนจรุง” แบบร้านอาหารพื้นบ้านไทยทั่วไปล่ะก็ผิดถนัด เพราะที่นี่รับลูกค้าได้เพียงชุดเดียว จำนวน 10-20 คน และเปิดแค่เสาร์และอาทิตย์เท่านั้น โดยรับเป็น 3 รอบคือ 11 โมง,บ่าย 2 โมง และ 5 โมงเย็น รอบหนึ่งใช้เวลาทาน 2-2 ชั่วโมงครึ่ง


เมื่อถามว่าทำไมไม่เปิดทุกวัน จรัสบอกว่าไม่อยากเหนื่อย แค่เสาร์-อาทิตย์ก็พอแล้ว วันจันทร์ถึงศุกร์แม่กับคนช่วยงานจะได้พักบ้าง ทำเพราะมีความสุข แค่นี้สุขพอแล้ว ทำมากกว่านี้จะกลายเป็นภาระ
เขาเองก็จะใช้เวลาวันจันทร์เพื่อพักผ่อน วันอื่นก็โต้ตอบกับลูกค้า โพสต์เรื่องราวของร้านทางโซเชี่ยล ไปซื้อต้นไม้ ซื้อพวกอาหารสดมาเก็บไว้

จรัสมีวิธีคิดต่างจากคนทำการค้าอื่นตรงที่ เขาเอาใจตัวเองเป็นที่ตั้ง ถ้าตัวเขาชอบอะไรก็จะทำอย่างนั้น ถ้าใครรับได้ก็ค่อยมากิน ไม่ว่าจะเป็นให้สั่งเมนูเองล่วงหน้า 1 อาทิตย์ เขาจะได้ซื้อของได้ถูก ทำในปริมาณที่พอดี ถ้ามาทานแล้วเมนูไหนไม่ชอบก็เพราะเป็นเมนูที่คุณเลือกเอง เขาไม่เกี่ยว

รสชาติของอาหารก็เป็นแบบบ้านๆ ธรรมดาอย่างที่ตัวเองชอบ ถ้าใครจะทานก็ต้องชอบอย่างนี้ จะใส่ของเท่าที่กินได้จริง พวกของประดับสวยหรูแต่ต้องเขี่ยทิ้งเช่นผักรองอย่างนี้ไม่เอาเลย


สาเหตุที่เลือกรับลูกค้าทีละโต๊ะ เพราะเขาจะได้ดูแลลูกค้าได้จริงๆ จากการที่ลูกค้าต้องแสดงตนผ่านจดหมาย และจากการที่เขาเข้าไปส่องทางเฟซบุ๊คมาก่อน ทำให้เขารู้จักตัวตนของลูกค้า ก็สามารถพูดคุยแบบคนรู้จักได้จริงๆ ให้ความรู้สึกว่าเรามาทานอาหารที่บ้านญาติที่รู้จักกันมานาน ซึ่งแตกต่างจากร้านทั่วไป
เมื่อถามเรื่องราคาอาหารล่ะ เขาบอกว่าเขาไม่มีราคาตั้ง เขาจะให้ลูกค้าเป็นผู้คำนวณเอง


“เราก็มีกลยุทธ์เล็กๆ คือ จังหวะที่ให้เขาคิดเงินเราก็จะบอกเขาไปว่าอันนี้แม่ทำ มันเป็นแบบนี้ ผักได้มาจากตรงนี้ เมื่อก่อนเราใช้ 5 อย่าง แต่ตอนนี้เราใช้ 10 อย่าง ทุกคนจะได้กินอิ่มหมด และมันมีวิธีการทำทำแบบนี้ พี่ก็เล่าไปเรื่อย ในขณะที่เขากำลังคิดว่าจะตีราคาให้เรากี่บาทดี เหมือนเขาก็เริ่มรู้ที่มาของมันเขาก็คงรู้สึกว่า เออ..มันมีมูลค่านะ มันไม่ได้ง่าย”


สุดท้ายลูกค้าก็จะจ่ายมากกว่าที่เราคิดตั้งไว้ในใจเสมอ เพราะมันมีเรื่องราวในสิ่งที่เขากิน ซึ่งจรัสบอกว่ามันก็เป็นการใช้ story telling นั่นเอง
และร้านของเขาก็มี story telling มากมายให้คนไปพูดต่อ ไม่ว่าจะเป็นทั้งร้านมีโต๊ะๆ เดียว ต้องเขียนจดหมายจองซึ่งไม่รู้ว่าจะได้กินรึเปล่า มีเงินก็ใช่ว่าจะได้กิน ตอนนี้โต๊ะเต็มข้ามปีไปแล้ว ป้ายทางบอกร้านก็ไม่มี ไปก็หลงแต่ก็อยากไป ใครได้ไปกินมาก็อยากจะพูดอวดให้คนอื่นรู้ ก็บอกต่อๆ กันไป อยากไปบ้าง ยิ่งยากยิ่งแสวงหา

“พี่ว่ามนุษย์มันชอบความท้าทาย และคนไทยกับเรื่องพวกนี้ มันต้องอยากเอาชนะ”
เมื่อถามว่าเคล็ดลับของความสำเร็จคืออะไร จรัสบอกด้วยน้ำเสียงจริงจังแต่ฟังจริงใจมากว่า

“ลงมือทำ และทำซ้ำ ถ้ามันไม่สำเร็จก็ทำซ้ำ ต้องไม่เลิก ถ้านั่นคือความสุขคุณ และคุณตอบตัวเองได้แล้วว่าสิ่งนั้นคือคุณ ถ้าใช่คุณทำไปเถอะเดี๋ยวมันก็ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยไม่สำเร็จวันนี้ คุณก็ยังได้ทำในสิ่งที่คุณชอบอยู่ อย่างน้อยคุณก็ยังมีความสุข แต่ถ้าคุณคิดเรื่องเงินมาก่อน เอาเงินเป็นตัวตั้ง ฉิบหาย มันจะจำกัดการไปต่อของคุณ”

และเราทิ้งท้ายว่า หากให้คะแนนเต็ม 10 เขาจะให้ตัวเองเท่าไร จรัสนิ่งนิดหนึ่งก่อนจะตอบด้วยความเชื่อมั่นว่า
“ผมให้ตัวเองเต็ม 10 เพราะผมทำเต็มที่แล้ว คนอื่นอาจจะให้ 2 ก็ไม่เป็นไร แต่ผมให้ตัวเอง 10 ผมไม่ได้วัดกับคนอื่น”

นี่คือเขา จรัส ภาคอัด หรือ “ลุงเหมียว แห่งเรือนจรุง” ที่ไม่ได้เชิญชวนให้คุณไปลิ้มลอง แต่ถ้าอยากไปไม่ยาก หยิบจดหมายและลงมือเขียนจดหมายถึงเขาเลย
บางทีคุณอาจจะได้ไปนั่งที่นั่นสักวันในปี 2564 ก็เป็นได้
สามารถติดตามชมรายการเจาะใจ ตอนนี้ได้ที่ คลิก https://www.youtube.com/watch?v=uSb02-s9f5w