Identity หรือที่แปลไทยว่าอัตลักษณ์ หมุดปักของบุคลิกภาพและความเป็นตัวตนของเราทั้งหมด โดยการดำเนินชีวิตจะถูกกำหนดโดย identity ทีเป็นศูนย์กลางของการดำเนินชีวิตนี้ นี้ ไม่ว่าจะเป็น lifestyle ต่างๆ เสื้อผ้าที่ใช้ ของใช้ที่มี ไปจนถึงการงานและเพื่อนฝูง ล้วนขึ้นอยู่กับ identity ทั้งสิ้น เรามองว่าตัวเราเป็นคนอย่างไร เราก็จะใช้ชีวิตไปตามแบบนั้น
Identity จึงเป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์ที่ขาดไม่ได้ มิเช่นนั้น คนเราจะเกิดความสับสนไม่รู้ว่าควรจะวางตัวในสังคมอย่างไร คิดอย่างไร หรือดำเนินชีวิตอย่างไร แต่ในโลกความเป็นจริง ปัญหา identity สูญหาย หรือ “ความเป็นตัวตน” สูญหาย ถือเป็นการ “เสียศูนย์” อย่างแท้จริง และเป็นปัญหาอันเจ็บปวดที่เกิดขึ้นได้เสมอ
Loss of identity ทำให้รู้สึกเคว้ง ชีวิตดูไร้ความหมาย ปราศจาก status ในสังคม ไร้ความสำคัญ เสมือนว่าเราเหลือแต่ตัวตนที่เป็นร่างกาย มีแต่ physical self แต่ไร้จิตวิญญาณที่เคยมี และตามมาด้วยคำถามว่า “Who am I?” เราเป็นใครกันแน่? “เรายังเป็นคนเดิมอยู่หรือเปล่า?” และคำตอบที่ผุดขึ้นมาในใจทันทีก็คือ “ไม่รู้เหมือนกัน” หรือที่แย่กว่านั้นคือ “I am nobody.”
ความสูญเสียความเป็นตัวตน loss of identity นั้นที่จริงแล้ว คือ “loss of reference point” หรือ “สูญเสียจุดอ้างอิงของชีวิต” เช่น คนที่เคยมีสถานภาพสังคมจากหน้าที่การงาน พอออกจากงาน ก็รู้สึกว่าตัวตนนั้นสูญหายไปพร้อมกับงานนั้นด้วย เพราะยามนี้ไม่รู้จะนิยามตนเองว่าอย่างไร ไม่รู้จะวางตัวในสังคมอย่างไร เนื่องจากเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในการแนะนำตัวหรือการเข้าสังคม ก็ใช้หน้าที่การงานเป็นจุดอ้างอิงในการประกาศสถานภาพสังคมอยู่ตลอดมา
เช่น แนะนำตนเองว่า ทำงานที่ไหน ตำแหน่งอะไร (“เป็นอะไร”) อันเป็นการอ้างอิงกับที่ทำงานเป็นหลัก
แทนที่จะบอกว่า ทำงานเรื่องเกี่ยวกับอะไร หรือมี background ด้านวิชาชีพอะไร (“ทำอะไร”) อันเป็นการอ้างอิงกับความสามารถที่ตนเองมีอยู่เป็นหลัก
หรือคนที่เคยมีแฟน พอเลิกกับแฟนหรือสูญเสียคนรัก ก็รู้สึกว่า อีกภาคหนึ่งของชีวิตที่เคยมีหายไป ตอนนี้ไปไหนต้องไปคนเดียว ขาดความเป็นตัวคนคนเดิมที่เป็นสองชีวิตในหนึ่งเดียว เกิดความเคว้ง ชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
การสูญเสีย จุด reference ที่เคยมี ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของตัวบุคคลก็ได้ reference หรือจุดอ้างอิงของชีวิตอาจเป็น สถานการณ์ชีวิต,สุขภาพ,ถิ่นที่อยู่ ได้เช่นกัน
อย่างเช่น การบาดเจ็บรุนแรงที่ทำให้คนที่เคยเป็นนักกีฬา ไม่สามารถมีสถานภาพเป็นคนแกร่งเหมือนเดิมได้อีกต่อไป หรือการรับรู้ว่าเป็นโรคร้าย เปลี่ยนสถานภาพจากคนปกติเป็นคนป่วยเรื้อรัง จนรู้สึกว่าเราไม่ใช่ตัวตนคนเดิมเสียแล้ว หรือแม้กระทั่งการย้ายถิ่นที่อยู่ไปยังถิ่นใหม่ ที่ทำให้ต้องสร้าง network สังคมใหม่จากศูนย์ ก็ทำให้เกิด loss of identity ได้เช่นกัน เพราะจากคนที่เคยกว้างขวางในสังคม กลายเป็น nobody ในสังคมใหม่ ไม่มีใครให้ความสำคัญ
อีกสาเหตุสำคัญของ loss of identity นั้น นักจิตวิทยา Dawn R. Norris แห่ง University of Wisconsin–La Crosse บอกว่ามาจากการ “mismatch” หรือความแตกต่างระหว่าง ทัศนะที่เรามองตัวเอง กับ ทัศนะคนอื่นที่มองเรา บวกกับการยึดถือคนอื่นเป็นจุดอ้างอิง
เช่น เรามองว่าตัวเราเป็นคนเก่งมีความสามารถ และมีความภูมิใจเชื่อมั่นในตนเอง แต่อยู่มาวันหนึ่ง มีคนที่เป็นจุดอ้างอิง มีบทบาทสำคัญในชีวิต หรือคนที่มีอิทธิพลต่อตัวเรา เช่น แฟน เจ้านาย พ่อแม่ คนที่เรานับถือ มาบอกว่า เราเป็นคนไม่เอาไหน เกิดการ mismatch ระหว่าง ความเห็นที่มีต่อตัวเราเองกับ feedback ที่ได้รับอย่างจัง ทำให้ความเชื่อมั่นในตนเองที่มีมานานนั้นเริ่มสั่นคลอน และอาจบานปลายเป็นด้วยความสูญเสียความเป็นตัวตนอย่างที่เคยคิดว่าเป็น เช่น เราไม่เก่งอย่างที่คิด หรือเราไม่ใช่คนดีอย่างที่คิด
ที่สำคัญคือ เมื่อเกิดความสงสัยในตัวเอง คนเรามักจะรีบถามหาความเห็นจากคนอื่นด้วยความหวังว่า จะได้คำตอบที่ลบล้างความแคลงใจได้ แต่นั่นยิ่งทำให้เราถลำลึก เอาตัวตนไปฝากไว้กับความเห็นของคนอื่นมากยิ่งขึ้นไปอีก
และโดยธรรมชาติแล้ว ด้วยความเป็นสัตว์สังคม คนเรามักจะเอนเอียงคล้อยตามทัศนะคนอื่นอยู่แล้ว ใครว่าเราเป็นคนอย่างไร ในใจเราก็มักจะว่าตามนั้น ต่อให้พยายามหาเหตุผลมาค้าน ก็ยังอดคล้อยตามไม่ได้ ยิ่งหลายคนมีความเห็นเหมือนกัน ก็ยิ่งทำให้เห็นด้วยได้ง่าย ถึงแม้เราจะบอกว่าไม่สนใจความเห็นเหล่านั้นก็ตาม

Norris อธิบายเพิ่มว่า ความสูญเสียตัวตนที่มาจากการ mismatch นี้ อาจมาจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือมาจากการเปลี่ยนแปลงในที่ทำงานก็ได้ เช่น เทคโนโลยีทำให้งานที่เรามีความชำนาญไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป หรือ การควบรวมกิจการทำให้ตำแหน่งงานที่เคยมีเกียรติกลายเป็นสิ่งไร้ค่า หรือ เจ้านายคนใหม่มองว่าเราไม่ perform ไม่ให้ความสำคัญเหมือนเจ้านายเก่า ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้ว เราก็คือคนเดิมทุกประการ เพียงแต่เจ้านายใหม่ไม่ชอบหน้าเท่านั้น
สาเหตุทั้งหมดนี้ ทำให้เกิดคำถามความสงสัยในตนเองหรือ self doubt ที่วนเวียนในหัวเป็น loop ไม่รู้จบ ยิ่งคิดวนมาก พยายามหาเหตุผลแย้ง ก็กลับยิ่งรู้สึกว่าความเห็นคนอื่นนั้นน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดคำถาม Who am I? เรายังเป็นคนเดิมอยู่หรือเปล่า?
แม้อย่างวิกฤติการณ์ชีวิต เช่น ปัญหาเรื่องหนี้สิน ก็สามารถทำให้เกิด loss of identity ได้เช่นกัน จากการศึกษาของ Norris พบว่า คนที่เผชิญปัญหาการเงินมากๆอาจตำหนิตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่ใช่คนเดิมที่เคยเป็น เริ่มไม่รู้จักว่าตัวเองปัจจุบันนี้เป็นใครกันแน่ เพราะไม่เคยคิดว่าตนเองจะพลาดได้ขนาดนี้
ในชีวิตคนเรามักเผชิญกับปัญหา loss of identity นี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ หนักหรือเบาต่างกัน แต่สำหรับบางคน อาจมีความอ่อนไหว เกิดปัญหานี้ง่ายเป็นพิเศษ นักจิตวิทยาเชื่อว่าหากใครมีแนวโน้มที่เปลี่ยนความคิดเห็นตามคนอื่นอย่างง่ายดาย เข้าสังคมหนึ่งก็ว่าตามกลุ่ม พอไปอีกสังคมหนึ่งที่คิดเห็นตรงข้าม ก็ว่าตามกลุ่มใหม่ หรือในวันหนึ่งๆ สามารถเปลี่ยนทัศนะกลับไปกลับมา แล้วแต่ว่าคุยอยู่กับใคร ก็มันจะเป็นคนที่มีปัญหา identity loss เกือบตลอดเวลา เพราะชีวิตแทบไม่มีปักหมุด identity ไว้เลย
นักจิตวิทยา Kendra Cherry เจ้าของหนังสือ Everything Psychology Book บอกว่า ในคนที่เริ่มมีปัญหา identity นั้น จะวนเวียนอยู่กับคำถามเกี่ยวกับ identity มากเกินไปจนเป็นอุปสรรคกับชีวิตประจำวัน เช่นเฝ้าย้ำถามตนเองตลอดเวลาว่า “Who am I?”, “คุณค่าชีวิตอยู่ที่ไหน?”, “จุดประสงค์ในชีวิตคืออะไร”, “อะไรคือ passion?” ซึ่งแน่นอนว่า คำถามเหล่านี้มีประโยชน์ แต่ไม่ใช่คิดวนอยู่ทุกวัน
ส่วน Norris บอกว่า อาการเริ่มของ loss of identity อาจบอกจากความรู้สึกไม่สบายใจเมื่อถูกถามเรื่องตนเอง, การเลือกคบคนเพียงระดับผิวเผิน และความรู้สึกไม่ไว้ใจตนเองจนไม่ค่อยอยากจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
นักจิตวิทยาชี้ว่า ทางแก้ของปัญหา loss of identity นั้น อยู่ที่การให้นิยามของ identity
หากเราไปเลือกจุดอ้างอิงเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัว เช่น ตำแหน่งงาน องค์กร ตัวบุคคลที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอเมื่อเวลาผ่านไป ไปจนถึง แบรนด์เนม ของรถยนต์ เสื้อผ้า กระเป๋าถือ และ lifestyle ต่างๆ ปัญหา loss of identity ก็มักจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งบ่อยและรุนแรง เพราะหลายกรณีอยู่เหนือความควบคุมของเรา
แต่ถ้าหาก นิยาม identity กับสิ่งที่ติดอยู่กับตัวเราเอง เช่น ความสามารถ ความรู้ ประสบการณ์ ต่อให้มีคนอื่น feedback แย่ๆ เราก็ไม่ถึงกับเสียศูนย์มากนัก เพราะถ้าเราเลือกที่จะไม่ฝากความเป็นตัวตนไว้กับคนอื่นแล้ว ความเห็นก็คือความเห็น ไม่ใช่กันตัดสินหรือคำพิพากษา ทำให้เรามีสมาธิพอที่จะพิจารณา feedback ได้
อีกทั้งความสามารถ ความรู้ ประสบการณ์ เป็นสิ่งติดตัว ไม่ได้หายไปไหน ต่อให้บางคนไม่เห็นค่ามันก็ตาม มันก็ยังอยู่กับเราเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
ถึงแม้กระนั้น ปัญหาการสูญเสียความเป็นตัวตน ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่อย่างน้อย การไม่เอาความเป็นตัวตนของเราไปฝากไว้กับคนอื่นเพื่อให้การรับรอง ก็เป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน loss of identity ได้ในระดับหนึ่ง