“ผมดู Coco เล่น ถ้าเธอไม่ได้เป็นอันดับหนึ่งของโลกในภายในปี 2020 ผมจะช้อคมาก” - John McEnroe, แชมป์ US Open และ Wimbledon
ทั้งสองพูดถึง Coco Guaff นักเทนนิสดาวรุ่งวัย 15 ปี ไม่ต้องสงสัยว่า Venus Williams นักเทนนิสอันดับ 1 ของโลกก็คงเฝ้ามอง Coco อยู่เหมือนกัน จนกระทั่งใน Wimbledon 2019 Venus Williams พ่ายแพ้ Coco ไปอย่างไม่น่าเชื่อ อะไรทำให้นักเทนนิสที่เก่งที่สุดในโลกแพ้เด็กอายุสิบห้า?
ธรรมชาติดิบของมนุษย์ถูกสร้างมาให้มองการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นสิ่งต่อเนื่อง หรือมองแบบ “dynamic momentum” มาตั้งแต่ยุคถ้ำ เช่น ถ้าหินกลิ้งลงภูเขามา หรือ เหตุุร้ายใดๆเกิดขึ้น มนุษย์จะคาดล่วงหน้าในทันทีว่า ถ้าอยู่เฉยๆต้องแย่แน่ และต้องหาทางแก้ไขในทันที ไม่ว่าจะวิ่งหนี หรือหาทางออกอื่นๆ และสัญชาติญาณนี้ทำให้มนุษย์อยู่รอดมาได้
ไม่ใช่แค่เรื่องอันตรายเฉพาะหน้าเท่านั้น สัญชาติญาณดิบนี้ฝังติดในมนุษย์ในเกือบทุกเรื่องในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องของการแข่งขันในกีฬาหรืออาชีพการงาน และทำให้เกิดผลบางอย่างน่าประหลาดใจ
เพราะเมื่อปีนี้เองที่มีการพบว่า ถึงแม้ในเรื่องของอุบัติเหตุ หรือภัยธรรมชาติคุกคาม dynamic momentum ทำให้คนรู้จักระวังตัวและเอาตัวรอดทัน แต่ในเรื่องชีวิตปกติประจำวัน ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน dynamic momentum กลับทำให้คนเรามีประสิทธิภาพแย่ลง และอาจเป็นสาเหตุของความรู้สึกแย่ๆโดยไม่รู้ตัว ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
จากการศึกษาของ Hermant Kakkar แห่ง Duke University และทีมงาน พบว่า ในโลกของการแข่งขันนั้น หากเรามองเห็นว่า คนที่ฝีมือเป็นรองกำลังเก่งขึ้นเรื่อยๆ เราจะรู้สึกว่าสถานภาพเรากำลังถูกคุกคาม ผลคือ perform ออกมาได้แย่ลง Kakkar เรียกสภาพนี้ว่า “status momentum”
ส่วนคู่แข่งที่ฝีมือระดับเดียวกันกลับไม่มีผลอะไร ทั้งที่น่าจะทำให้เรากังวลมากกว่า แต่เรากลับไปกังวลและให้ความสนใจคนที่ไม่เก่งเท่าเราแต่ดูเหมือนเก่งขึ้นเรื่อย ซึ่งดูไม่ค่อยเป็นตรรกะ แต่นั่นคือธรรมชาติปกติของมนุษย์
นั่นคือ มนุษย์ระวัง และระแวงอยู่ตลอดเวลา ถึง status ของตนเองเปรียบเทียบกับคนอื่น โดยเฉพาะ status ที่มีการเคลื่อนไหว
Kakkar อธิบายว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะนั่นคือ คนที่ฝีมือเท่ากันแต่อยู่เฉยๆ ย่อมไม่เกิด momentum เพราะ “ไม่เคลื่อนที่” เลยไม่รู้สึกว่ามีภัย แต่คนที่ด้อยกว่า กำลัง “เคลื่อนที่เข้าหา” เกิด momentum ทำให้เรารู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม และไม่สบายใจขึ้นมา
ที่แปลกอีกคือว่า เมื่อไม่สบายใจ แทนที่คนเราจะปรับตัว พัฒนาฝีมือให้เก่งขึ้นอีกระดับเพื่อถอยห่าง และรักษา gap ฝีมือให้คงเดิมไว้ หรือทำให้ gap มากขึ้น เรากลับทำงานนั้นได้แย่ลง จนทำให้ status ลดลงต่ำกว่าเดิม พร้อมกับ gap ที่กลัวว่าจะน้อยลงนั้น ก็น้อยลงขึ้นมาจริงๆ เหมือนอย่างที่กลัว
เรื่องนี้อาจอธิบายว่า ไม่ใช่เป็นเพราะเราถอดใจไม่สู้แล้วถึงทำได้แย่ลง แต่เป็นเพราะ เราสู้ด้วยความกังวล ท่ามกลางสมาธิไม่ดี และมั่นใจในตัวเองน้อยลงต่างหาก จึงทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปหมด
Kakkar และทีมงานทำการศึกษากับคนจำนวนมาก โดยดู data ย้อนหลังของการแข่งเทนนิส 60,000 match และการแข่งขันหมากรุกสมัครเล่น 5 ล้าน match พบว่า เมื่อจับคู่แข่งกันระหว่าง คนที่ถือว่าฝีมือด้อยกว่า แต่กำลังไต่อันดับขึ้นมาเรื่อยๆ คนที่เก่งกว่ามักจะ perform แย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเทนนิส โอกาสที่คนเก่งกว่าชนะ จะลดลงจาก 52% เหลือแค่ 38% ถ้าคนเก่งไปเจอดาวรุ่งดวงใหม่
แต่พอแข่งกับคนฝีมือเทียบเท่ากัน กลับทำได้ตามปกติ
และหนึ่งในตัวอย่างที่ดรามาที่สุดของ status momentum อาจจะเป็นการแข่งเทนนิส Wimbledon เมื่อเดือนกรกฎาคม 2019 ที่ Venus Williams นักเทสนิสระดับพระกาฬ แพ้ Coco Gauff ดาวรุ่งพุ่งแรงวัย 15
ทีมงานวิจัยขยายการศึกษาไปยังการแข่งขันที่ไม่ใช่กีฬา ครอบคลุม 1,800 คนใน 4 เคส ผลที่ได้ออกมาเช่นเดียวกับเคสของการแข่งขันในกีฬา นั่นคือ เมื่อใดก็ตามที่มีการแข่งขันเกิดขึ้น เช่นในเรื่องงาน หรือการประชันฝีมือในเรื่องใดๆก็แล้วแต่ คนเรามักจะ perform แย่ลงกว่าปกติถ้าหากเจอคู่แข่งมีฝีมือด้อยกว่าแต่กำลังพัฒนา
คนทำงานอาจอึดอัดหากคิดว่า ถูกเปรียบเทียบจากสังคมรอบข้างกับผู้ร่วมงานที่อาวุโสน้อยกว่าแต่มาแรง ผลคือ ความระแวงทำให้การทำงานออกมาไม่ราบรื่น เสียความเป็น leadership และสังคมมองไม่ดี หรือ คนที่กำลังจีบใครอยู่ อาจระแวงและออกอาการหึงโดยไม่จำเป็น ถ้าคิดว่ามีคู่แข่งที่มาทีหลัง กำลังทำคะแนนตีตื้นขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับคนที่ฝีมือน้อยกว่าแต่ก้าวหน้า เรื่องนี้ดูจะไปได้กับเรื่อง “hot hand” หรือ “มือขึ้น” ที่เชื่อกันในวงการกีฬา เช่น ถ้าผู้เล่นเริ่มชนะบ่อยขึ้น จะทำให้การชนะครั้งต่อไปง่ายขึ้น และชัยชนะอาจตามมาเป็นชุด คนที่กำลังเป็น rising star ไปแข่งกับคนที่เก่งกว่า ก็อาจพบว่า คนนั้นไม่ได้เก่งอย่างที่คิด และคิดไปว่าตนฝีมือขึ้น เก่งกว่าเดิม โดยไม่รู้ว่านั่นเป็นเพียงเพราะปรากฏการณ์ status momentum ต่างหาก
Status momentum ชี้ว่า เมื่อใดที่เราให้ความสนใจกับการเปรียบเทียบ status เรากับคนอื่น เมื่อนั้นอาจจะเกิดผลเสียตามมา สู้เทใจไปให้ในสิ่งที่กำลังทำสุดๆ ดีกว่าหันไปดูว่าคนอื่นไปถึงไหนแล้ว
เพราะในที่สุด เราก็มักจะเจอคนที่ “ด้อยกว่าแต่มาแรง” อยู่ดี หรือต่อให้ไม่เจอคู่แข่งโดยตรง ก็เจอใครก็ได้ที่เอามาเปรียบเทียบจนได้ หรือ ต่อให้ไม่ได้ประชันหน้าสู้กันเหมือนในการแข่งกีฬา แต่ในใจของเราคือการจับคู่แข่งขันกับคนนัั้นตลอดเวลา และอาการ status momentum ก็จะตามมาในที่สุด
เรื่องนี้ดูเหมือนจะสอดคล้องกับการศึกษาอีกชิ้นที่ชี้ว่า การให้ความสนใจกับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า จะทำให้ คนเรา perform ได้ดีกว่าไปพะวงว่าคนอื่นจะว่าอย่างไร หรือใครกำลังมาแรง ใครคือคู่แข่ง หรือคนนั้นจะมาเทียบรัศมีเราหรือเปล่า

ใน Journal of Applied Psyhology รายงานถึงการศึกษาที่ให้นักศึกษา 261 คนเล่นเกมตลาดหุ้น โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มมีเป้าหมายต่างกันคือ 1.เน้นประสิทธิภาพหรือผลกำไร หรือ 2.เน้นการเรียนรู้ หรือ 3. แค่ “ทำให้ดีที่สุด” โดยในนักศึกษาทั้ง 261 คนนี้มีทั้ง นักศึกษาที่มีสติปัญญาและความสามารถสูงเป็นพิเศษ หรือ “high general mental ability” GMA และ นักศึกษาที่มีความสามารถระดับเฉลี่ยธรรมดา
ผลปรากฏว่า ในกลุ่ม 1 ที่ถูกวัดประสิทธิภาพด้วยผลกำไรนั้น นักเรียน GMA ที่ว่าเก่ง ทำได้ไม่ต่างจากนักเรียนธรรมดา แต่ในกลุ่มที่ 2 ที่เน้นการเรียนรู้ ไม่มีการวัดผล กับ กลุ่มที่ 3 ที่ “ทำให้ดีที่สุดก็แล้วกัน” ปรากฏว่า นักเรียน GMA ทำได้ดีกว่านักเรียนธรรมดา สมกับความเป็นนักเรียนที่มีความสามารถสูงพิเศษ
งานศึกษานี้อธิบายว่า การถูกวัดผลเปรียบเทียบ ทำให้นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเกิดความอึดอัด จนมีผลเสียต่องาน เพราะโดยปกติแล้ว คนที่เก่งๆมักไม่ชอบให้ใครมาคอยจ้องมอง เนื่องจากมีความอ่อนไหวหรือ sensitive สูง อันจะทำให้เสียสมาธิได้ง่าย แต่เมื่อปล่อยให้ทำงานโดยไม่มีการวัดผลเปรียบเทียบ พวกเขาสามารถทำงานได้อย่างมีสมาธิ ไม่ต้องกังวลคะแนน จึงปลดปล่อยความสามารถที่มีอยู่ออกมาได้เต็มที่
ทำนองเดียวกับกรณี status momentum ซึ่งเกิดขึ้นเพราะคนเราหันไปใส่ใจการวัดผลเปรียบเทียบ มากกว่าจะทุ่มความสนใจไปกับงานที่อยู่ตรงหน้า นักเรียน GMA ที่ถูกจ้องวัดผล ก็อยู่ในสภาพคล้ายคนที่เก่งกังวล กลัวคนที่เป็นดาวรุ่งจะมาเทียบรัศมี
ปัญหาคือ status momentum เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่ฝืนยาก แล้วจะแก้ไขได้อย่างไร?
หากอดไม่ได้ที่จะหันไปมองว่าใครกำลังจะมาเทียบรัศมี Kakkar แนะว่า ให้มองหาจุดอ่อนหรือข้อเสียของคนที่เรากลัว เพราะต่อให้ใครก็ตามที่กำลังพัฒนาฝีมือมาแรง ก็ต้องมีจุดอ่อนจนได้ อีกทั้งแค่มองเห็นจุดอ่อนในบางอย่าง ก็สามารถทำให้เรามองคู่แข่งว่าเป็นคนธรรมดาที่น่ากลัวน้อยลงได้แล้ว
หรืออีกวิธีหนึ่งคือ คิดถึงความสามารถของตนเองในเชิงบวกเข้าไว้ นักจิตวิยาพบว่า หากให้คนลองเขียนถึงความสามารถของตนเองเป็นข้อๆ จะทำให้ status momentum มีผลน้อยลง เพราะเกิดความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น และเปลี่ยนความสนใจมายังฝีมือตนเองมากขึ้น
เมื่อนั้นชีวิตเราอาจมีความสุขมากขึ้น เพราะไม่ว่าทำอะไร ชีวิตก็ต้องอยู่กับการแข่งขันอยู่ดี