เมื่อเกิดปัญหาค่อนข้างซีเรียสไปจนถึงระดับวิกฤติการณ์ หลายครั้งที่คนเราเลือกที่จะตอบโต้สถานการณ์ไม่พึงประสงค์นั้นด้วยการ “ทำอะไรบางอย่างก็แล้วกัน” หรือ “ just doing something” ซึ่งหมายถึง “อะไรก็ได้” ดูเหมือนทำไปแล้วช่วยแก้ปัญหาหรือทำให้ปัญหาหมดไป
แต่ประเด็นคือ just doing something อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องเลยก็ได้ เพราะการที่คนเราอยู่ใน mode ของ doing something นั้น มาจากความกดดันหรือความเครียดเป็นหลัก ไม่ใช่ความต้องการอยากจะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว just doing something มาจากเพียงความต้องการผ่อนคลายกับต้องการความรู้สึกดีในนาทีนี้ ต้องการพลิกอารมณ์จากความกังวลมาเป็นความสบายใจให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ไม่อยากทนทุกข์กับสภาพอึดอัดเหมือนช่วยตัวเองไม่ได้อีกต่อไป
ต่างจาก mode ของการแก้ปัญหาที่แท้จริง ที่อาจต้องใช้เวลาหาข้อมูลและไตร่ตรอง ระดมความรู้มาใช้ มีการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย และต้นทุนในรูปแบบต่างๆทั้งทางด้านการเงินและด้านที่ไม่เป็นตัวเงิน ก่อนลงตัดสินใจ take action ซึ่งแม้กระนั้น ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ อาจไม่สำเร็จก็ได้
ในยามวิกฤติ การแก้ปัญหาที่แท้จริงอาจไม่ทันใจ หลายคนไม่ต้องการทนรอ เพราะในการแก้ปัญหาจริงนั้น หลายกรณีที่ไม่สามารถทำได้ทันที หากต้องมีกระบวนการที่ใช้ต้องเวลา ถ้าหากเป็นผู้รอ ซึ่งไม่ใช่ผู้ที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบโดยตรง หรือผู้ที่รู้เรื่องนั้นๆเป็นอย่างดี ก็มักจะมองจากมุมมองของคนนอกว่า ตอนนี้ไม่มี action แก้ปัญหาเกิดขึ้นเลย มีแต่ความเงียบ ความอืด จนเกิดคำถามวกวนซ้ำซากว่า เมื่อไหร่ปัญหาที่รุมเร้าอยู่นี้จะถูกแก้ไขเสียที? คนรับผิดชอบทำอะไรกันอยู่?
และนั่นทำให้ just doing someting กลายเป็นวิธี “แก้ปัญหา” หลัก ที่แพร่หลายไปโดยปริยาย เพราะถ้าหากรอวิธีแก้ปัญหาจริงแล้ว ผู้รอก็ไม่อยากทน คนทำงานก็ไม่อยากถูกรุมตำหนิ อีกทั้งเป็นการง่ายที่จะลงมือทำในทันที ถือเป็น การ win-win และ happy ทั้งสองฝ่าย ตามความต้องการของสังคม
ทั้งที่โดยแท้ๆแล้ว อาจเป็นการ lose-lose ทั้งสองฝ่ายก็ได้
ในชีวิตประจำวัน ในห้องประชุมที่ทำงาน ไปจนถึงวิกฤติการณ์ระดับชาติหรือปัญหาระดับโลก เราจึงพบการจัดการกับปัญหาด้วยวิธี just do something นั่นคือ “ทำอะไรก็ได้ให้เหมือนกับการแก้ปัญหา” ซึ่งบางครั้งแสดงออกมาในเชิงสัญลักษณ์ หรือทำพอเป็นพิธี เช่น การตั้ง gate detector หรือประตูตรวจโลหะที่ไม่เคยใช้งานจริง นัยว่าเพื่อความปลอดภัย, ความนิยมการตั้ง “คณะกรรมการ” ขึ้นมาเมื่อเกิดปัญหา แต่แล้วคณะกรรมการนั้นก็ไม่ค่อยจะได้ประชุม และถูกลืมๆไปในที่สุด,
หรืออย่างเรื่องปัญหาเชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะ รายงานใน JAMA Internal Medicine บอกว่า ในทัศนะคนไข้นั้น ถ้าไปหาหมอแล้วไม่ได้ยา ถือว่าไม่ได้รักษา หรือ ถ้าคนไข้ขอยาตัวนั้นตัวนี้ แล้วหมอไม่เห็นด้วยเพราะไม่มีความจำเป็น ก็จะประเมินหมอว่ารักษาไม่ดี เพราะคนไข้มักคาดว่า หมอจะต้อง do something ไม่ใช่แค่ให้คำแนะนำ ผลคือ หมอต้อง do something ตามความต้องการของคนไข้ โดยการจ่ายยาเกินความจำเป็น และเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยา อันเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน
ความต้องการ do something อาจมาจากความหวังดี (แต่ไม่ได้ให้ผลดี) เช่น ในยามภัยพิบัติ ทำให้หลายคนร้อนใจคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง โดยพร้อมใจกันเดินทางไปช่วยผู้ประสบภัย ทั้งที่ตนไม่มี skill ผลคือกลายเป็นอุปสรรคแทน เพราะคนจำนวนมากที่มาเพิ่ม ทำให้สับสนวุ่นวาย เพิ่มความหนาแน่นในพื้นที่ แย่งใช้ทรัพยากรจำกัด หรือ ความต้องการช่วยโดยบริจาคเสื้อผ้า แต่แล้วหลายชิ้นใส่ไม่ได้ ต้องทิ้ง กลายเป็นภาระขยะกองโตเสมอมาตั้งแต่ภัยสึนามีปี 2004 มาจนถึงภัยภูเขาไฟ Taal ระเบิดที่ฟิลิปปินส์ปี 2020
Doing something เป็นวิธีที่นักการเมืองชอบใช้ เพราะรวดเร็วทันใจ เสมือนว่าได้ take action แล้ว และประชาชนก็ต้องการเช่นนั้น อย่างเช่น นักการเมืองชอบที่จะแก้ปัญหาของแพง โดยการห้ามขายของแพง ซึ่งดูเด็ดขาด ตรงประเด็น ทั้งๆที่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริงนั้น ต้องไปแก้ที่กลไกตลาด ซึ่งยากกว่า ผลก็คือ ในที่สุดผู้ซื้อต้องย้ายไปซื้อของเดิมในตลาดมืดที่แพงยิ่งขึ้นไปอีก
แต่ในบางกรณี doing something เป็นเรื่องที่พอยอมรับได้ เพราะธรรมชาติดิบของมนุษย์เองนั้น จะให้นั่งรอเฉยๆ ไม่ทำอะไรสักอย่างเลย ก็ย่อมจะเป็นไปยาก เพราะในระหว่างการรอนั้น หมายถึง ความไม่แน่นอน ความไม่ชัดเจน ของการแก้ปัญหา และมนุษย์ก็เกลียดชังความไม่แน่นอนอยู่แล้วโดยสัญชาติญาณ
อย่างเช่น ในวิกฤติการณ์ Coronavirus ตัวใหม่ มีแพทย์และหน่วยงานด้านโรคระบาดชั้นนำของหลายแห่งทั่วโลก ตั้งแต่ Center for Disease Control and Prevention หรือ CDC ของสหรัฐ ไปจนถึงหน่วยงานในเรื่องเดียวกันนี้ของยุโรป และรวมถึงแพทย์ในประเทศไทย ต่างเห็นพ้องเหมือนกันหมดว่า การใช้หน้ากากหรือ mask ในการป้องกันการติดเชื้อของ Coronavirus ตัวใหม่นั้น ไม่ค่อยได้ผล เพราะใส่แนบสนิทจริงไม่ได้ หรือถ้าใส่หน้ากากอย่าง N 95 ให้แนบสนิทแบบหมอใส่ในห้องผ่าตัด ก็คงใส่ไม่ได้กี่นาทีอยู่ดี เพราะอึดอัด อีกทั้งยังไม่มีการศึกษาใดๆในโลกที่บอกว่า การสวมใส่ mask สามารถป้องการโรคระบาดได้จริง เพราะหากเกิดมีผู้ป่วยไอใส่หน้า ต่อให้หน้ากากกันน้ำลายได้ระดับหนึ่ง แต่ลูกตายังมีโอกาสโดนละอองน้ำลายอยู่ดี หน้ากากจะได้ผลดีเมื่อคนป่วยเองเป็นคนสวม เพื่อป้องกันตัวเองไอจามเอาน้ำลายไปติดคนอื่นมากกว่า (เหตุผลที่จีนบังคับให้คนในเมืองใหญ่ใส่หน้ากาก) ดังนั้น วิธีป้องกัน Coronavirus ดีที่สุดคือล้างมือบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
แต่หน้ากาก ก็ยังเป็น อุปกรณ์ที่ใช้ป้องกัน Coronavirus ตัวใหม่อย่างแพร่หลาย เพราะโดยจิตวิทยาแล้ว หน้ากากเป็นสัญลักษณ์การป้องกันที่เห็นได้ ให้ความรู้สึกปลอดภัยติดตัวตลอดเวลา ไม่มีข้อเสีย ถึงแม้บางคนรู้ว่าหน้ากากป้องกันได้นิดเดียว ก็คิดว่ายังรู้สึกดีกว่าไม่ได้ใส่เลย อีกทั้งเป็นการ empower ให้กับผู้ใส่ คือทำให้รู้สึกว่าเรายังมีหนทางที่จะป้องกันตนเองอยู่ ทำให้เครียดน้อยลง
ปัญหาคือ ถึงแม้ใส่หน้ากากไม่มีข้อเสีย และเป็น doing something ที่เข้าใจได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญโรคระบาดหลายประเทศมีความกังวลว่า อาจเกิดข้อเสียทางอ้อม นั่นคือเกิด “false sense of security” ซึ่งคือ คนใส่คิดว่าปลอดภัยแล้ว จนทำให้ไม่ได้สนใจป้องกันวิธีอื่น โดยเฉพาะการล้างมือ อันเป็นวิธีป้องกัน Coronavirus ตัวใหม่ ที่ควรทำมากที่สุด ไม่ใช่ใส่การหน้ากาก
นั่นคือ คิดไปว่า การทำอะไรสักอย่างลงไป คือการแก้ปัญหาที่แท้จริง - ซึ่งไม่ใช่
นักจิตวิทยา Teri Woods ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้ำคิด ให้ข้อคิดว่า ปัญหา just doing something มาจาก ความต้องการแก้ไขวิกฤติการณ์ ซึ่งที่จริงแล้ว เป้าหมายที่สำคัญที่สุดเวลาเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ควรจะเป็น “ผ่านมันไปให้ได้ โดยไม่ได้ทำให้สถานการณ์แย่ลง” มากกว่า ไม่ใช่การไปแก้ไขหรือขจัดวิกฤติการณ์นั้น เพราะบางครั้งก็ไม่มีทางหยุดวิกฤติการณ์นั้นได้จริงๆ
การพยายามระงับปัญหาให้ได้ จะทำให้เกิดอารมณ์เครียด ผลคือ เราจะพยายามหนีออกจากอารมณ์นั้นโดยทำอะไรก็ได้ที่ทำให้รู้สึกว่าได้แก้ปัญหานั้นแล้ว โดยไม่สนใจความเป็นจริง
Woods จึงแนะนำว่า ให้หันมาลองถามตนเองแทนว่า “ทำอย่างไรถึงจะผ่านวิกฤติการณ์นี้ไปได้ โดยเจ็บตัวให้น้อยที่สุด?” ก่อนที่จะไปหาทางระงับวิกฤติการณ์นั้น
และเมื่อนั้น เราจะไม่ตื่นตระหนก กระวนกระวาย และหมดเวลาไปกับการขอให้ได้ทำอะไรบางอย่าง ที่อาจไม่ได้ช่วยแก้ไขอะไรเลย