หมอบรรจบ หรือ นายแพทย์บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล คุยให้เจาะใจออนไลน์ฟัง เมื่อเราไปขอความรู้เกี่ยวกับการรักษาแบบ “ธรรมชาติบำบัด” ที่คุณหมอดูแลอยู่
“ธรรมชาติบำบัด”นี้ ใช้ได้กับทุกคนจะป่วยหรือไม่ป่วยก็ได้ และถ้ายิ่งป่วยขนาดเป็นมะเร็งด้วยแล้ว ก็ยิ่งควรจะต้องใช้

โรคมะเร็ง เป็นโรคร้ายที่ทุกคนรู้จักดี และไม่มีใครอยากเป็น
ถึงแม้ไม่อยากเป็น แต่จากสถิติ โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย โดยพบว่ามีผู้เสียชีวิตวันละ 215 คน หรือ 78,540 คนต่อปี เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 ราย
และมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 336 คน
ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับมะเร็งเรารับรู้ได้ไม่ยาก ทั้งจากแหล่งข้อมูลข่าวสารที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ แต่ข้อมูลที่มีน้ำหนักส่วนมากมาจาก ผู้ป่วย หรือ ครอบครัวของผู้ป่วยเอง เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัว

เมื่อมะเร็งไม่มีใครอยากเป็น แต่หากเป็นขึ้นมาควรจะทำอย่างไร
คุณหมอบรรจบแนะนำว่า ผู้ป่วยก็ควรรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันที่ตนรักษาอยู่นั่นแหละ ส่วนวิชาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติบำบัดที่คุณหมอดูแลอยู่ เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยเพื่อให้ ป่วยเป็นมะเร็งก็อยู่อย่างมีความสุขได้
มะเร็งไม่ได้มีผลเฉพาะกับตัวผู้ป่วย แต่มีผลกับคนรอบข้างและครอบครัวด้วย สิ่งที่คุณหมอสอนจึงไม่ใช่เฉพาะกับผู้ป่วยว่าควรทานอะไร อยู่อย่างไร คิดอย่างไร บำบัดอย่างไร แต่กับครอบครัวผู้ป่วยคุณหมอก็มีคำแนะนำที่น่าสนใจไม่น้อย
“ครอบครัวมักคิดแทนผู้ป่วย เกรงผู้ป่วยจะรู้ว่าตนเป็นมะเร็ง คิดดูนะ ตอนพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ก็เห็นแล้วล่ะว่ารอบๆ ตัวน่ะคนป่วยนอนอยู่เต็ม สายอะไรต่อมิอะไรก็ระโยงระยาง เวลาจะไปคุยกับหมอ ก็ดูหลบๆ ซ่อนๆ คุยกัน คุยแล้วออกมาก็ทำหน้าตาให้ปกติ บอกว่าไม่มีอะไร”
“แล้วตอนอยู่ที่บ้าน ก็ทำเป็นพูดคุยเลียบๆ เคียงๆ มีอะไรก็ไม่พูดออกมาตรงๆ คิดเหรอว่าผู้ป่วยจะไม่สงสัย หลายบ้านเลย พอถึงจุดนึงที่ต้องบอกความจริงกับผู้ป่วย ก็พบว่าผู้ป่วยบอกรู้มาตั้งนานแล้ว”
เมื่อเป็นอย่างนี้ คุณหมอแนะนำว่าควรจะบอกความจริงกัน อย่าคิดแทนผู้ป่วย ผู้ป่วยควรมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตตนเองว่าจะทำอะไร แค่ไหน อย่างไร
คุณหมอใช้คำว่าผู้ป่วยควรมีสิทธิ์ในการ “กำหนดวิธีการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง”
“บางบ้านนะ แม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งอยากไปเที่ยวทะเล เพราะเป็นคนชอบทะเลมาก มีความสุขทุกครั้งที่ได้ไปทะเล ลูกหลานก็ไม่ยอมพาออกจากบ้านเลย กลัวไปเองสารพัด กลัวเหนื่อย กลัวจะไม่สบายมากขึ้น แม่ก็เลยจ่อมอยู่กับบ้านแบบเบื่อๆ เชื่อไหม พอมาวันหนึ่ง เอาเถอะไปก็ไป พาแม่ไปทะเล ปรากฏว่าแม่มีความสุข ยิ้ม หัวเราะ ทานได้ นอนหลับ”
ผู้ป่วยหลายคน หมอแผนปัจจุบันบอกว่าอาจจะอยู่ได้อีกเป็นเดือน ไม่น่าเกินปีหนึ่ง แต่พอได้ใช้วิธีธรรมชาติบำบัดก็ทำให้อยู่ไปได้อีก ๓-๔ ปีเลยก็มี หรือบางคนก็เป็นสิบปี
สิ่งที่คุณหมอสอนในวิธี “ธรรมชาติบำบัด” คือ การทานอาหารอย่างไร เพื่อยับยั้งเซลล์มะเร็งไม่ให้เติบโต ซึ่งมะเร็งแต่ละประเภทก็ต้องทานอาหารแตกต่างกันไป พร้อมกับเสนอเมนูอาหารและวิธีการปรุงด้วย ทำให้ผู้ป่วยทานอาหารได้อร่อยและช่วยยับยั้งมะเร็งได้ด้วย

นอกจากทานแล้ว คิดอย่างไรไม่ให้ป่วย ถ้าเรายิ่งเครียดก็จะยิ่งมีผลต่อสุขภาพ ก็จะสอนวิธีการทำใจ ปล่อยวาง การวางจิตวางใจเพื่อให้พักผ่อนนอนหลับได้ โดยใช้หลักพุทธศาสนามาช่วยนั้นเป็นอย่างไร แม้กระทั่งการสวดมนต์ก็ช่วยบำบัดได้ นอกจากทาน คิด แล้ว “ทำ” ก็ด้วย ทำตัวอย่างไรไม่ให้ป่วย
“คนธรรมดาๆ เนี่ย ไม่ทำอะไร เอาแต่นั่งกระดิกเท้า ไม่ออกกำลัง มันก็ป่วย” คุณหมอบอก
และยิ่งถ้าป่วยเป็นโรคมะเร็งแล้ว ก็ควรรู้ว่าควรทำอะไรอย่างไรเพื่อให้ชีวิตมีความสุขที่สุด
ความรู้ที่ว่านี้อยู่ภายใต้การเรียนการสอนของวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งคุณหมอเป็นคณบดีอยู่ วิทยาลัยนี้เรียนเกี่ยวกับการนำวิทยาการทางการแพทย์ของทั้งโลกตะวันออกและตะวันตก ทั้งกายและใจ มาเลือกสรรเพื่อการรักษาผู้ป่วยอย่างถูกวิธี
และทราบไหมว่าการเรียนการสอนของวิทยาลัยเข้ากับความเป็นไปของโลกในยามนี้อย่างมาก หลายคนคงได้ยินคำว่า “wellness” ซึ่งประเทศไทยมีภูมิปัญญาของตนเองที่เป็น “Thai Wellness” สอดรับกับกระแสการดูแลตัวเองไม่ให้เจ็บป่วยด้วยวิธีธรรมชาติ
ทั้งด้วยภูมิปัญญาของไทยด้านอาหาร สมุนไพร และการนวด ทั้งด้วยบุคลิกลักษณะของคนไทย ที่อ่อนโยน มีน้ำใจ มีมิตรไมตรี ทำให้ “Thai Wellness” สามารถเป็นทางเลือกในการรักษาและดูแลสุขภาพที่เป็นเทรนด์ของโลกตอนนี้ได้
จนพูดได้ว่าประเทศไทย เป็นเมืองหลวงของ “wellness” ของโลก
หากใครที่ป่วยเป็นมะเร็ง หรือมีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้ อยากทราบรายละเอียดมากขึ้น และไม่สามารถไปเรียนเป็นจริงเป็นจังกับวิธี “ธรรมชาติบำบัด” นี้ได้ ตอนนี้มีวิธีที่ง่ายๆ ในการเข้าถึงที่เข้ากับโลกดิจิตัลสมัยนี้
“วิทยาลัยได้ทำศาสตร์วิชานี้ร่วมกับทาง เจ เอส แอล ในแพลตฟอร์มของ MyOneClass คอร์สออนไลน์ที่ เจ เอส แอล เป็นเจ้าของ” คุณหมอเล่า “ก็สมัครเข้าไปเรียนรู้ได้ เหมาะทั้งกับตัวผู้ป่วยเอง หรือ ครอบครัวของผู้ป่วยก็ควรจะต้องรู้”
เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่เราต้องยอมรับความจริงในเรื่องการเจ็บป่วย
การทำใจให้ยอมรับ และปรับตัวเรียนรู้ให้อยู่แบบคนป่วยอย่างไรให้มีความสุขที่สุด ก็ดูจะเป็นทางเลือกของชีวิตที่น่าสนใจไม่น้อยเลย.