OPINION

สุขไม่อยู่ที่ใจ แต่อยู่ที่ “ทำไม?” เรื่องของ curiosity

สุรพร เกิดสว่าง
9 มี.ค. 2563
“อย่าหยุดตั้งคำถาม” อัลเบิร์ท ไอสไตน์
 
“ความอยากรู้อยากเห็น” หรือ “curiosity” ถือเป็นที่มาของความสุข คนที่อยากรู้และกำลังค้นหาคำตอบนั้น จะอยู่ในภาวะที่ทางจิตวิทยาเรียกว่า “flow” หรือในภาษาทั่วไปคงตรงกับคำว่า “อิน” จนลืมความทุกข์อย่างน้อยก็ชั่วคราว และเมื่อได้คำตอบแล้ว ก็อยู่ในภาวะที่มีความสุขต่อกับความสำเร็จเล็กๆ และหากคำตอบที่ได้มานั้น นำไปใช้ต่อให้เกิดประโยชน์ได้ ยิ่งจะทำให้ชีวิตดีขึ้น
 
ความอยากรู้อยากเห็น นั้นแตกต่างจาก “ความสอดรู้สอดเห็น” (ถึงแม้หลายคนจะพยายามคิดว่ามันคือเรื่องเดียวกัน) เพราะอย่างหลังนี้ คือการอยากรู้ในเรื่องที่ไม่ค่อยมีสาระ เช่นอยากรู้เรื่องส่วนตัวของคนอื่น โดยที่รู้แล้วก็ไม่เกิดประโยชน์อันใดนอกจากความบันเทิง ในขณะที่ ความอยากรู้อยากเห็น หมายถึงอยากรู้ในเรื่องที่มีสาระ ซึ่งอาจจะเป็นได้ตั้งแต่เรื่องสาระน้อยไปจนถึงเรื่องสาระมาก  
 
มีการศึกษาของ University of Zagreb บอกว่า ความอยากรู้อยากเห็นทำให้เกิดความพอใจในชีวิต ส่งผลให้คุณภาพชีวิตโดยทั่วไปดีขึ้น  Todd Kashdan แห่ง George Mason University เจ้าของหนังสือ What exactly does it mean to be curious? บอกว่า ความอยากรู้อยากเห็น มีความสัมพันธ์อย่างมากกับความสามารถในการเข้าสังคม ความสุข และความสำเร็จ และยังทำให้เรื่องยากๆและซับซ้อนกลายเป็นความสุขได้
 
แต่น่าเสียดายว่า ความอยากรู้อยากเห็นนั้นลดลงเรื่อยๆตามอายุ และนั่นเป็นที่มาว่า ทำไมคนอายุมากถึงมีความเป็นอนุรักษ์นิยมหรือ conservative ชอบแต่เรื่องเดิมๆ ไม่ค่อยเปิดใจรับของใหม่มากเท่ากับคนอายุน้อย เด็กทารกจะอยากรู้โน่นนีมากที่สุด ว่ากันว่า จำนวนคำถาม “ทำไม?” ของเด็กน้อยในหนึ่งวัน มีจำนวนเท่ากับจำนวนคำถาม “ทำไม?”ของผู้ใหญในหลายสัปดาห์หรือแม้กระทั่งหนึ่งเดือน
 
รายงานจาก Neuroscience & Biobehavioral Reviews ชี้ว่า หากคนอายุมากยังรักษาความอยากรู้อยากเห็นไว้ได้ สมองก็จะเสื่อมช้าลง ทำให้จำอะไรได้ดีกว่า อีกทั้งสามารถเรียนรู้ได้ดีกว่าคนสูงอายุทั่วไป หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ความอยากรู้อยากเห็น คือยาอายุวัฒนะอย่างหนึ่งที่ทำให้แก่ช้า
 


ความอยากรู้อยากเห็นนั้น ที่จริงเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะยังจำแนกออกมาได้หลายแบบ อย่างเช่น นักจิตวิทยา Jordan Litman อธิบายว่า curiosity นั้นมีอยู่สองอย่างใหญ่ๆ
 
อย่างแรกคือ “i curiosity” หรือ interest-curiosity ที่เป็นความกระหายอยากรู้ เป็นความอยากรู้ที่เกิดขึ้นเองแบบ proactive เช่น อยากรู้ประวัติศาสตร์ของสถานที่ไปเที่ยว, สงสัยว่าทำไมกีฬานี้ผู้หญิงเล่นมากกว่าผู้ชาย? ,ทำไมสี่แยกนี้ถึงเกิดอุบัติเหตุบ่อย?
 
อีกอย่างคือ “d-curiosity” หรือ “deprivation-curiosity” อันเป็นความอยากรู้แบบ reactive คือ “มีอาการคัน” (ictching)  หรือถูกกระตุ้นด้วยคำถาม ความกระวนกระวายใจ ความอึดอัด จนต้องหาคำตอบมาดับอาการคันนั้น  เช่น สงสัยว่า เกิดรถชนกันอยู่ตรงหน้า ใครคือคนผิด? ทำไมถึงชนกันได้? บาดเจ็บแค่ไหน? หรือ ลืมว่าดาราคนนี้เคยแสดงเรื่องอะไรมาก่อน นึกไม่ออก ใครช่วยบอกที หรือ ไปกินอะไรมาถึงท้องเสีย? รวมไปถึง โทรศัพท์ในกระเป๋าสั่น ใครแชทมา?
 
Litman บอกว่า ระหว่างที่ยังไม่ได้คำตอบนั้น d-curiosity ก็คือความเครียดเล็กๆ จนกระทั่งเมื่อได้คำตอบแล้ว d-curiosity ถึงจะเปลี่ยนเป็นความพอใจและความสุข ดังนั้น คนเราจึงไม่ค่อยชอบ d-curiosity เท่าไหร่นัก จากการศึกษาพบว่า ระหว่าง 1. รู้แต่แรกว่าต้องรอรถไฟนาน 15 นาที กับ  2. รอรถไฟโดยไม่รู้ว่าจะนานแค่ไหน แต่แล้วรถไฟก็มาถึงภายในแค่ 2 นาที ปรากฏว่า ประสบการณ์แรกทำให้คนพอใจมากกว่า เพราะไม่เกิดคำถาม
 
D-curiosity จึงเปรียบเสมือนแก้วน้ำที่พร่องและอยากเติมให้เต็มจะได้จบๆไป Litman เรียกว่าเป็น curiosity แบบมี gap ที่ต้องปิด ไม่อย่างนั้นจะหงุดหงิดรำคาญใจ แต่พอปิดได้ก็มีความสุขเล็กๆในทันใด
 
ซึ่งต่างจาก i-curiosity ที่ระหว่างรอคำตอบนั้นเป็นเวลาที่มีกำลังมีความสุข มีความสนุกตื่นเต้นตั้งแต่แรกเจอปัญหาแล้ว  เป็นอาการอยากรู้เอง อยากค้นหาเอง ไม่ได้ถูกแรงกดดันใดๆ ไม่มี gap อะไรจะให้ปิด และเมื่อได้คำตอบมา ก็ยิ่งเกิดความสุขมากขึ้นไปอีก i-curiosity จึงเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ เป็นเรื่องนิสัยกับบุคลิกภาพ ในขณะที่ d-curiosity เป็นเรื่องของเหตุการณ์หรือ situational มากกว่า
 
นอกจากการจำแนกชนิดของ ความอยากรู้อยากเห็น ของ Litman แล้ว Todd Kashdan และทีมงานได้แยกแยะ ความอยากรู้อยากเห็น ออกไปเป็น 5 แบบ อย่างน่าสนใจ
 
สามแบบแรกคล้ายๆกับ i-curiosity และ d-curiosity ของ Litman ที่ต่างกันคือแบบที่สี่ “Social Curiosity” คือความอยากรู้ว่าคนโน้นคนนี้คิดอะไร มีความเห็นอย่างไร โดยการสังเกตุ การพูดคุยหรือการฟัง (ต่างจากการสอดรู้สอดเห็นที่สนใจเฉพาะเรื่องส่วนตัวคนอื่น)  กับแบบที่ห้า “Thrill Seeking” คือ ความอยากรู้อยากเห็นแบบในเชิงตื่นเต้นเร้าใจ เช่น ในกีฬา extreme sports เช่น ปีนหน้าผา หรือ กิจกรรมที่ท้าทายความสามารถตนเองเป็นประจำ 
 
ทั้งหมดนี้คือประเภทของ “ความ” อยากรู้อยากเห็น
 
แต่ Kashdan ยังจำแนกประเภทของ “คน” ที่อยากรู้อยากเห็นออกเป็น 4 ประเภทด้วย คือ
 
1. Problem Solvers คนแบบนี้จะมีอาการคันอยากจะแก้ปัญหาให้ได้อยู่เรื่อย เห็นประเด็นอะไรก็เกิดความสงสัยว่าจะทำให้ดีกว่าได้ไหม
2. Empathizers สนใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน พยายามเข้าใจพฤติกรรมของคนที่พบเห็น รวมถึงผู้คนต่างๆในสังคมที่ได้ยินมา 
3. Avoiders คือ คนที่ไม่อยากรู้อยากเห็นอะไรเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะรู้สึกเครียด มีภาระอยู่แล้ว หรือชีวิตก็เครียดอยู่แล้ว ก็เลยเลือกที่จะไม่สนใจอะไร
4. The Fascinated คือคนที่อยากรู้ไปหมด มีความสุขกับการอยากรู้ คนแบบนี้คือคนที่รับเอาความ curiosity ทั้งทุกรูปแบบ รวมทั้งเป็นทั้ง Problem Sovers และ Empathizer ในคนคนเดียวกัน ทำให้น่าจะเป็นคนที่มีความสุขที่สุด และมีชีวิตน่าสนใจที่สุดด้วย
 
แล้วจะทำอย่างไร ให้ตัวเราเองหรือคนในองค์กร หรือใครก็ได้ มีความอยากรู้อยากเห็นแบบ The Fascinated อันเป็นกลุ่มที่มีความสุขมากที่สุด? มีนิสัยอยากรู้อยากเห็นติดตัวแบบยั่งยืน
 
คำตอบจริงๆอยู่ที่ กลุ่มที่ 3 Avoiders
 
Kashdan บอกว่า Avoider ไม่อยากรู้อะไร เพราะชีวิตของเขาเต็มไปด้วยปัญหาเฉพาะหน้าให้คิด ปัญหาชีวิตเอาเวลาไปหมดแล้ว แทบไม่เหลือเวลาว่างพอให้กับการค้นหาความรู้ ความเครียดของปัญหาที่รุมเร้าทำให้หมดอารมณ์อยากรู้อยากเห็นแบบมีสาระ ในทางตรงข้าม คนที่มีความเป็นอยู่ในชีวิตค่อนข้างมั่นคง ไม่ต้องกังวลอะไรมาก ถึงจะมีอิสระที่จะใช้ชีวิตค้นหาเรื่องที่ตนสนใจ
 
ความมั่นคง จึงเป็นปัจจัยที่มาก่อนหรือเป็น prerequisite ถึงจะเกิดความอยากรู้อยากเห็นตามมาได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นหากองค์กรต้องการโปรโมท curiosity ก็ต้องทำให้บรรยากาศการทำงานมีความมั่นใจเสียก่อน ไม่ต้องพะวงว่าองค์กรจะอยู่หรือไป จนถึงเรื่องการเมืองใน office โดยไม่ต้องพะวงว่า ใครจะแอบแทงข้างหลังอยู่ตลอดเวลา หรือใครจะมาแย่งตำแหน่ง เพราะถ้าหากบรรยากาศทำงานมีแต่ความไม่แน่นอน พนักงานย่อมเอาเวลาไปรักษาเก้าอี้ตนเองและเล่นการเมืองเพื่อความอยู่รอดเป็นหลัก แทนที่จะเอาเวลาไปสนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
 
ส่วนใน Journal of Personality รายงานโดย Staley แห่ง University of Pennsylvania และทีมงานว่า วันไหนที่คนมีความสุข วันนั้นก็จะเกิดความอยากรู้อยากเห็นมากเป็นพิเศษ ซึ่งสนับสนุนที่ว่า หากจะทำให้เกิด curiosity แล้ว ต้องทำให้คนรู้สึกมั่นคง กังวลน้อยที่สุด   นอกจากนั้น ยังมีงานศึกษาของ Lydon และ Staley เพิ่มเติมอีกว่า สุขภาพที่ดีเพิ่มความอยากรู้อยากเห็น ดังนั้น การออกกำลังกายจึงเป็นอีกปัจจัยในการสนับสนุน curiosity
 
อย่างไรก็ตาม เป็นที่เห็นพ้องกันว่า ที่สำคัญที่สุดสำหรับความอยากรู้อยากเห็น คือ “ต้องยอมรับว่าไม่รู้เสียก่อน ถึงจะเกิดความอยากรู้ได้” รวมถึงการยอมหน้าแตก โดยไม่รู้สึกอับอายหรือเดือดร้อน ถ้าปลดความกลัวนี้ไปได้ ความอยากรู้อยากเห็นจะไหลพรั่งพรูมาเอง
 
แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ง่าย หากเราไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คอยจ้องเล่นงานคนที่ยอมรับว่าไม่รู้อยู่ตลอดเวลา เช่น ในที่ทำงานที่คาดว่าทุกคนต้อง”รู้งาน” ถ้าหากยอมรับว่าไม่รู้ จะถูกด่า หรือ ในสังคมที่มองว่า คนไม่รู้คือคนโง่
 
เมื่อนั้น ก็คงต้องพยายามอย่างที่ Kashdan แนะนำต่อว่า วิธีหนึ่งที่ได้ผลมากในการสร้าง curiosity คือ “เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่” ซึ่งอาจเป็น รู้จักคนใหม่ๆ ทีใหม่ ความเห็นใหม่ โดยทำได้ตั้งแต่ ไปเที่ยวในที่ที่เราไม่รู้จัก เป็นการให้โอกาสชาร์จตัวเองชั่วคราวในความอยากรู้อยากเห็น รวมถึง เปิดสังคมใหม่ไปเลย  
About the Author
background จากการศึกษาและทำงานด้าน การเงินการธนาคาร เศรษฐศาสตร์ และ IT เชื่อว่าคนเราสามารถหาความสุขได้ง่ายๆจากความอยากรู้อยากเห็นและความสงสัย นอกจากการอ่านและเขียนแล้ว เขาใช้ชีวิตกับกิจกรรม outdoor หลากหลายชนิด
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
Critical mass เกิดขึ้นได้ในแทบทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ การเข้าเรียน/การโดดเรียน ร้านอาหารดัง/ไม่ดัง การเห่อซื้อของตามกัน ความนิยมแฟชั่น การสร้างกระแสในโลกโซเชียล ไปจนถึง สถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง การอพยพ จลาจล สงคราม
"คนที่คุณอาจจะรู้สึก” ในโลกของความเป็นจริง อาจมีอยู่แค่ไม่กี่คน หรืออาจจะมีแค่คนเดียวก็ได้