แต่ “ความรู้สึกผิด” หรือ “guilt” จะกลายเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อ ชีวิตอาศัย guilt เป็นแรงขับเคลื่อนเป็นหลักเหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งแสดงว่า เราไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตจริงๆเสียแล้ว แต่มีชีวิตอยู่เพื่อรอคอยการยอมรับจากคนอื่น หรือมีชีวิตเพื่อ meet expectation ของคนอื่น
พนักงานอยู่ดึก ไม่ใช่เพราะรักงาน แต่เพราะกลัวรู้สึกผิดเมื่อเห็นคนอื่นอยู่ดึก (ซึ่งต่างคนอาจต่างคิดเหมือนกัน เลยต้องนั่งอยู่ดึกๆกันทั้งหมด) ลูกตามใจพ่อแม่ หรือ พ่อแม่ตามใจลูก แฟนตามใจแฟน อาจไม่ใช่เพราะ “อยากทำให้” แต่เพราะ ถ้าไม่ทำ จะรู้สึกว่าเป็นลูกไม่ดี พ่อแม่ไม่ดี หรือแฟนไม่ดี ลูกยอมเรียนหนังสือหนัก ไม่ใช่เพราะสนใจหาวิชาความรู้ แต่กลัวรู้สึกผิดพ่อแม่ไม่พอใจ หรือต้องเอาใจแฟน ไม่ใช่เพราะคิดอยากทำ แต่เพราะกลัวรู้สึกผิดเมื่อถูกเปรียบเทียบกับคู่อื่น
และนั่นทำให้ ความรู้สึกผิด หรือ guilt กลายเป็นแรงจูงใจหลักของชีวิตประจำวัน ที่ไม่ว่าจะทำอะไรลงไปก็ตาม มาจากความรู้สึกผิดถ้าจะไม่ทำ ไม่ได้มาจากความรู้สึกอยากทำด้วยตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่า ชีวิตที่ดำเนินไป หรือชีวิตที่ run ด้วยความรู้สึกแบบนี้ ย่อมไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีนัก
Guy Winch เจ้าของหนังสือ Emotional First Aid เปรียบ guilt เหมือนกับสัญญาณเตือนนาฬิกาปลุก ที่อยู่ใน mode snooze คือ ไม่ปิด แต่ดังเตือนอยู่เรื่อยๆ สร้างความเครียดบั่นทอนจิตใจ เสียสมาธิ ต้อง “เอื้อมมือมาปิด” ด้วยการยอมทำตามเงื่อนไขของความรู้สึกผิดนั้นอยู่ตลอดเวลา จนไม่เป็นอันทำในสิ่งที่เราอยากทำจริง
นักจิตวิทยาบอกว่า แค่ความรู้สึกผิดเบาๆ หลายเรื่องมาสะสมกัน ก็เกิดปรากฏการณ์ snowball ที่สามารถทำให้คนเรารู้สึกย่ำแย่กับชีวิตได้ เพราะเท่ากับว่า วันๆที่ผ่านไป เราไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างที่อยากทำเท่าไหร่นัก และเป็นการดำเนินชีวิตแบบ reactive คือ ตอบสนอง+จำต้องทำ แทนที่จะเป็นแบบ proactive คือ คิดเอง+ อยากจะทำ
Winch เล่าว่า มีการทดลองแกล้งทำให้นักเรียนรู้สึกผิด จากนั้นมารับของฟรี โดยให้เลือกระหว่าง DVD หนังและเพลงที่ dowload กับ อุปกรณ์เครื่องเขียนที่ใช้เรียนหนังสือ ปรากฏว่า นักเรียนที่รู้สึกผิดส่วนใหญ่เลือกอุปกรณ์การศึกษา เพราะชดเชยความรู้สึกผิดได้ ส่วนนักเรียนที่ไม่ได้ผ่านการแกล้งให้รู้สึกผิด เลือกแต่ DVD หนังและเพลง ตามใจตนเอง และมีการศึกษาต่อไปพบว่า ในนักเรียนที่รู้สึกผิด จะไม่ฉลองงานวันเกิด ไม่ไปเที่ยว หรือไปเที่ยว แต่ไม่อนุญาตให้ตนเองสนุก
และนั่นหมายถึง guilt ได้ก้าวเข้าสู่ action ที่เป็นการทำโทษตัวเอง อย่างที่เรียกว่า “Dobby Effect” ตามชื่อตัวละคร ตัว elf ใน Harry Potter ตอน Harry Potter and the Chamber of Secrets ที่มีนิสัยชอบทำร้ายตัวเองเมื่อรู้สึกผิด เพราะไม่สามารถทำอย่างที่เจ้านายต้องการได้
Dobby Effect อาจดูเหมือนเป็นสิ่งที่ดี เพราะคนที่ทำผิด ก็ควรจะสำนึกผิด แต่ความจริงมีอยู่ว่า ความดีของ Dobyy Effect อาจหยุดอยู่ตรงนั้นเท่านั้น
เพราะหลังจากที่ได้ทำโทษตนเองแล้ว ความตั้งใจที่จะแก้ตัวหรือแก้ปัญหาที่ค้างคา ก็อาจจะเหือดหายไปในทันใด เนื่องจากการทำโทษตัวเอง ก็เท่ากับเป็นการ “ไถ่โทษ” ถือเป็นการเสร็จสิ้น ปิดเคสแล้ว ไม่ต้องทำอะไรต่ออีก และให้ปัญหาก็ยังคงอยู่ต่อไป คนที่เสียหายก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือปลอบใจใดๆ
เรียกว่าเป็นพฤติกรรมที่ lose-lose ทั้งคนที่รู้สึกผิด คนที่ได้รับผลกระทบ ไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรเลย และไม่ช่วยให้เกิดเรียนรู้ในข้อผิดพลาดด้วย
Rob Nelissen แห่ง Tilburg University ผู้บัญญัติศัพท์ Dobby Effect นี้ บอกว่า Dobby Effect มีสาเหตมาจาก การยอมแพ้ ไม่อยากแก้ปัญหา หรือ แก้ปัญหาไม่สำเร็จ เลยหันมาทำโทษตัวเองเป็นทางออกหรือเป็น exit strategy แทน โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่มีโอกาสขอโทษ หรือ มีโอกาสขอโทษแต่ไม่กล้าเผชิญหน้า ดังนั้น ทางออกที่เหลือจึงมีอยู่ทางเดียวคือ ทำโทษตัวเอง เพื่อหวังจะขจัด guilt นี้ออกไปจากใจ
มีการทดลองโดย Bastian แห่ง University of Queensland ที่ Bisbane โดยแบ่งคน 62 คนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้เขียนเล่าเหตุการณ์ตอนที่ตนถูกสังคมปฏิเสธไม่ให้เข้าพวก เช่น ไปงานปาร์ตี้แล้วต้องยืนหลบมุมอยู่คนเดียว หรือ ไม่ได้รับการไว้ใจให้ทำงานกลุ่ม ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ทำให้เจ้าตัวรู้สึกผิด เพราะคิดว่าตัวเองไม่เอาไหน กับ อีกกลุ่มหนึ่ง ให้เขียนเรื่องทั่วๆไป
จากนั้น ให้คนเหล่านี้ทำแบบสอบถามเพื่อวัดความรู้สึกผิด แล้วเอามือจุ่มลงไปในถังน้ำแข็งนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เสร็จแล้วให้รายงานว่า ใครรู้สึกเจ็บปวดทรมานอย่างไรบ้าง ปรากฏว่า คนที่รู้สึก guilty ว่าเป็นคนไม่เอาไหนจะจุ่มมือในน้ำแข็งนานกว่า และยังรายงานว่ารู้สึกเจ็บปวดกับน้ำแข็งมากกว่าคนทั่วไป
สรุปได้ว่า เมื่อใดที่คนเรารู้สึกว่าผิด จะทำโทษตนเองโดยไม่รู้ตัว
กลไก Dobby Effect ยังมีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เพราะบางคนเลือกที่จะทำโทษตัวเองแต่แรก แทนที่จะทำในสิ่งนั้น เช่น ค่ำวันนี้ไม่อยากไปยิม ก็เลยเกลียดตัวเองตั้งแต่กลางวัน ไม่ให้อภัยตัวเองในเรื่องต่างๆที่ไม่เกี่ยวกับการไปยิม มีอารมณ์ฉุนเฉียวตลอดวัน ซึ่งทั้งหมดนี้ อาจเป็นไปโดยไม่รู้ตัว
หรือถ้าในเรื่องซีเรียสกว่านั้น เช่น ไม่สามารถทำให้คนที่หลงรักอยู่รักตอบได้ ก็อาจทำร้ายตนเอง ซึ่งสังคมมัมองว่าเป็นการประชดแฟนและเรียกร้องความสนใจ แต่ที่จริงแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกผิด และต้องการปลดปล่อยความรู้สึกนี้ด้วยการทำโทษตนเอง โดยไม่รู้ตัวอีกเหมือนกัน
ที่ประหลาดหนักขึ้นไปอีกก็คือ ถึงแม้ Dobby Effect คือการทำโทษตัวเองเมื่อรู้สึกผิด แต่ทำแล้วเกิดความสุขในระดับหนึ่ง จึงทำให้คนอยากทำโทษตนเอง!

ในเรื่องนี้ Kelly Goldsmith จาก Northwestern University ที่ Evanston, Illinois ได้ทำศึกษาอย่างละเอียด ทำการทดลองหลายครั้ง พบว่า เมื่อใดที่ทำให้คนรู้สึกผิด เช่น เอาเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพมาให้คนที่กำลังคิดถึงแท่งช็อกโกแลตอ่าน คนจะรู้สึกผิด แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าช็อกโกแลตนั้นอร่อยเป็นพิเศษขึ้นมาทันที
หรือแม้กระทั่งเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันเลยอย่างเช่น ทำให้คนรู้สึกผิดโดยอ่านบทความที่เต็มไปด้วยคำความหมายลบ (ที่ไม่เกี่ยวกับสุขภาพแต่อย่างใด) เสร็จแล้วให้กินช็อกโกแลตแท่ง จากนั้นอีกสามวัน ค่อยถามถึงระดับความอร่อยของช็อกโกแลตแท่งในวันนั้น ปรากฏว่า คนที่รู้สึกผิดบอกว่าช็อกโกแลตนั้นอร่อยมากกว่าคนอื่นๆ และคิดว่าราคาช็อกโกแลตนั้นแพงกว่าที่เป็นจริง เมื่อทดลองเปลี่ยนช็อกโกแลตเป็นของหวานอย่างอื่น ก็ยังให้ผลเหมือนเดิม
Goldsmith จึงสรุปว่า “ความรู้สึกผิดกับความรู้สึกดี นั้นเชื่อมโยงกัน เมื่อเรารู้สึกผิด เราจะรู้สึกดีไปด้วย”
ซึ่งเป็นที่มาว่า ทำไมกินชาไข่มุกระหว่าง diet ถึงรู้สึกว่าชาไข่มุกแก้วนั้นถูกใจเป็นพิเศษ หรือ ทำไมซื้อแพงทั้งที่ไม่มีเงิน ถึงรู้สึกดีขึ้นมาฉับพลัน โดยความรู้สึกดีเป็นพิเศษแบบ “ถึงผิดก็จะทำ” นี้ เกิดขึ้นในระยะสั้นๆ จากนั้นค่อยตามมาด้วยความรู้สึกแย่ๆกับตนเอง อันเป็นการลงโทษตนเองในที่สุด
ความรู้สึกดีชั่ววูบนี่เอง ที่เป็นแรงจูงใจให้คนกล้าฝ่าด่านความรู้สึกผิดในตอนแรก และค่อยมาทำโทษตนเองชดเชยในตอนหลัง ซึ่งหมายความว่า อาการ “ผิดก็จะทำ” นั้น ห้ามยาก เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์
จากการศึกษานี้ Goldsmith สรุปว่า การที่จะจูงใจใคร ไม่ควรสื่อออกมาในแง่ลบว่า “ถ้าทำแล้วจะผิด” เช่น ถ้าจะรณรงค์ห้ามสูบบุหรี่ หรือลดความอ้วน ก็อย่าไปเน้นว่าสูบบุหรี่แล้วจะตายเร็ว หรือ อ้วนแล้วจะน่าเกลียด เพราะอาจจะยิ่งทำให้เกิดไปกระตุ้นพฤติกรรม “ผิดก็จะทำ” มากขึ้นไปอีก
ทางที่ถูกควรพูดในแง่บวกถึงผลดีจากการไม่สูบบุหรี่ เช่น ไม่สูบแล้วอายุยืนกว่า หรือ ลดความอ้วนแล้วจะได้สวย จะได้ผลกว่า Goldsmith ยกตัวอย่างว่า นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมสังคมอเมริกันที่มองคนอ้วนในด้านลบมากกว่าฝรั่งเศส กลับมีสัดส่วนคนอ้วนมากกว่า
มีข้อโต้แย้งว่า Dobby Effect ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป เพราะถ้าไม่ทำโทษตัวเองเลย คนเราก็จะไม่มีวินัยและไม่มีทางทำอะไรได้สำเร็จ อย่างเช่น ถ้ารู้ว่าจะรู้สึกผิดเมื่อไม่ไปยิม เราก็ต้องพยายามไปให้ได้ และถ้าเกิดไม่ไปจริงๆแล้วยังรู้สึกเฉยๆ ไม่รู้สึกผิด ก็จะตามใจตนเอง เลิกไปยิมในที่สุด
ดังนั้น จุดสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ถ้าความรู้สึกผิดนั้น ไม่ได้รุนแรงมาก Dobby Effect ก็คงไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายมากนัก มีทั้งด้านดีและด้านเสีย
แต่ถ้าความรู้สึกผิดรุนแรงมากๆ Dobby Effect จะกลายเป็นเรื่องน่ากลัวไม่มีอะไรดีทันที เช่น ลงโทษตัวเองแรงๆด้วยการทำร้ายตนเองบาดเจ็บ ทำลายข้าวของ
นอกจากนั้น ถ้าเรากลัวความรู้สึกผิดอย่างรุนแรง ผลอีกแบบก็คือ ไม่เกิด Dobby Effect แต่เราจะไม่กล้าแตะเรื่องนั้น หลีกเลี่ยงให้ห่าง และเลิกทำไปเลย เช่น ถ้าหากคิดว่าจะรู้สึกผิดอย่างมากมายถ้าไม่ไปออกกำลัง อารมณ์เสียทั้งวัน ก็อาจจะทำให้หลีกเลี่ยงความคิดจะไปออกกำลังอย่างถาวร โดยหาเหตุผลมาเป็น excuse เพื่อปลดปล่อยตนเองจากความรู้สึกผิดแทน ว่า ไม่มีเวลา มีภาระยุ่ง ทำให้การออกกำลังเป็นไปไม่ได้ (แต่มีเวลานั่งดูซีรีส์ได้)
และทั้งหมดนี้ อาจหมายความว่า หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้น สิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญในทันที ก็คือ ความรู้สึกผิด ไม่ใช่การกระทำผิด
จัดการความรู้สึกผิดให้เหมาะสมก่อน แล้วการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดถึงจะตามมาได้