OPINION

เรื่องเล่าจากอากง ตอนที่ 5

หัสสยา อิสริยะเสรีกุล
18 พ.ย. 2560
“เงินสดสองพันสี่ร้อยบาท ทองสี่บาท (ยุคนั้นบาทละสี่ร้อย) เข็มขัดนากสิบบาทหนึ่งเส้น (เทียบเท่าทองสี่บาท นากมีทองเป็นส่วนประกอบสี่สิบเปอร์เซ็น) แล้วก็แหวนหมั้นทองอีกหนึ่งวง ก็เท่านี้แหละ สมัยก่อนคนที่ไม่ค่อยมีเงินแต่งงานกัน เค้าก็ให้กันแบบนี้ทั้งนั้น” อากงตอบอย่างอารมณ์ดีเมื่อฉันถามถึงราคาค่าสินสอดที่อากงเพื่อสู่ขออาม่า ฉันถามต่อว่า แล้วจัดงานแต่งกันที่ไหน ใช่ที่ภัตตาคารดังแถวเยาวราช ที่ที่พิพิธภัณฑ์วัดไตรมิตร ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราชบอกว่าเป็นสถานที่จัดงานแต่งยอดนิยมของคนไทยเชื้อสายจีนในยุคนั้นหรือเปล่า อากงตอบทันทีว่า ภัตตาคารนั้น มีแต่พวกคนรวยเท่านั้นจึงมีสิทธิ์ไป แต่สำหรับอากงและอาม่านั้น มีแค่ทำบุญเลี้ยงพระ แล้วกินเลี้ยงกันที่บ้าน เพียง 4 หรือ 6 โต๊ะ เท่านั้น เพื่อนฝูงก็มากันนิดหน่อย ฉันคิดตามแล้วก็อดเศร้าไม่ได้ เพราะอากงแต่งงานแบบแทบจะตัวคนเดียว ไม่มีทั้งพ่อและแม่ ญาติผู้ใหญ่ก็มีแค่ครอบครัวของอากู๋ที่อยู่ที่เมืองไทยเท่านั้น ส่วนฝั่งอาม่า ก็มีแต่เหล่าม่าหรือแม่ของอาม่า และพี่สาวของอาม่าเท่านั้น
 
ส่วนเรื่องการจดทะเบียนสมรส อากงบอกว่า แกกับอาม่าอยู่กันมาจนป่านนี้ ยังไม่เคยจดทะเบียนอะไรกันเลย และในตอนที่แต่งงานนั้น อากงยังถือว่าเป็นคนจีนที่อยู่ในระหว่างการโอนสัญชาติเป็นคนไทยอยู่ด้วย
 
หนึ่งความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างธรรมเนียมการแต่งงานของคนไทยและคนจีนในยุคนั้นคือ ฝั่งคนจีน การที่แม่ของฝ่ายหญิง จะย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านร่วมกันกับบ่าวสาวที่บ้านของฝ่ายชายนั้น ถือเป็นเรื่องน่าอับอาย เพราะว่าธรรมเนียมของคนจีน หน้าที่ในการดูแลแม่เป็นของลูกชาย ไม่ใช่ลูกสาว เรื่องนี้ตอบคำถามที่ว่า ทำไมสมัยก่อน คนจีนจะต้องมีลูกชายให้ได้ เหตุผลก็เพราะว่า ผู้เป็นแม่จะได้ไปอยู่กับลูกชายนั่นเอง ในขณะที่ธรรมเนียมของคนไทย การที่พ่อแม่เข้ามาอยู่ในบ้านเดียวกับลูกๆหลังแต่งงานนั้น ถือเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป
 
ฉันถามต่อว่า แล้วในยุคนั้น มีข้อพิพาทใดๆว่าคนจีนเข้ามาแย่งงานคนไทยหรือเปล่า อากงก็เล่าให้ฟังต่อว่า เท่าที่อากงประสบพบเจอมานั้น แทบจะไม่มีเลย หรือหากจะกล่าวให้ถูกที่สุดก็คือ ประเทศไทยเรานั้นถือเป็นอู่ข่าว อู่น้ำ ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และภูมิประเทศ ที่ถือว่าอุดมสมบูรณ์มาก ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ธรรมชาติของคนไทยจึงเป็นคนสบายๆ ต่างกับผู้คนที่เมืองจีนในยุคนั้น
 
ประเทศจีนมีจำนวนประชากรมหาศาล บวกกับสภาพภูมิประเทศที่ไม่เอื้อต่อการทำเกษตรกรรมที่ต้องใช้น้ำจำนวนมาก กว่าน้ำจะไหลผ่านแต่ละพื้นที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีระบบชลประทานที่สะดวกรวดเร็ว ต่างกับที่เมืองไทย เรามีแม่น้ำ มีคลองอยู่มากมาย ผู้คนใช้ชีวิตใกล้แม่น้ำ คนไทยถือว่ามีกิน มีใช้อย่างพอเพียง และไม่อดอยาก หากเปรียบเทียบกับที่ผู้คนที่เมืองจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับที่หมู่บ้านเล็กๆที่อากงเคยอยู่มา..
 
ฉันสงสัยว่า อากงคิดถึงบ้านที่เมืองจีนบ้างหรือเปล่า อากงบอกว่าก็คิดถึง ช่วงนั้นแกก็ส่งเงินกลับไปให้พี่สาวและน้องชายสม่ำเสมอมิได้ขาด แต่หากถามว่า คิดอยากกลับไปชีวิตที่นั่นอีกไหม อากงก็เล่าให้ฟังต่อว่า ตอนนั้น ในครอบครัวถือว่าเหลือแค่แกคนเดียว พี่สาวแต่งงานมีครอบครัวของตัวเองกันหมด ตามธรรมเนียมจีน หากสาวใดแต่งงานย้ายออกไปจากครอบครัว จะถือว่าได้กลายเป็นสมาชิกครอบครัวของอีกฝ่าย เท่ากับว่าอากงไม่เหลือใครที่โน่นแล้ว แต่ว่าที่นี่ แกมีทั้งครอบครัวและงานรออยู่พร้อม
 
คนจีนในเมืองไทยจำนวนไม่น้อยยอมเดินทางรอนแรมมาถึงเมืองไทยเพื่อหางานทำ พวกเขาทำงานอย่างหนัก ตั้งใจเก็บหอมรอมริบเพื่อให้ได้เงินมากพอที่พวกเขาจะได้กลับบ้าน กลับไปหาใครบางคนที่เฝ้ารอการกลับไปของพวกเขาอย่างมีความหวัง
 
ครั้งแรกที่อากงมีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่เมืองจีนนั้น อยู่ในราวช่วงปี พ.ศ. 2520-2525 วิธีการเดินทางของแกก็คือ ขึ้นเครื่องบินไปลงที่ฮ่องกง จากนั้น ซื้อของใช้จำเป็นต่างๆเพื่อนำไปฝากญาติๆที่โน่น ได้แก่ จักรเย็บผ้า จักรยาน โทรทัศน์ และอื่นๆ หลังจากนั้นจึงลงเรือข้ามด่านไปยังประเทศจีน โดยลงเรือที่ ชิมจุ่ง ซึ่งเป็นเมืองท่า จากนั้นต่อรถประจำทางไปให้ใกล้หมู่บ้านที่สุด แล้วปั่นจักรยานต่อ เพื่อเข้าไปให้ถึงตัวหมู่บ้านอีกที อากงเล่าละเอียดจนฉันไม่ต้องถามต่อเลยว่า หมู่บ้านของอากงนั้นอยู่ไกลสักแค่ไหน ห่างไกลความเจริญเพียงใด แต่ก็นึกสงสัยไม่ได้ว่า ช่วงปี พ.ศ. 2525 นั้น ย้อนกลับไปเพียงสามสิบกว่าปีเท่านั้น ประเทศจีนที่ดูเจริญก้าวหน้าอย่างในทุกวันนี้ สามสิบกว่าปีที่แล้วเขายังลำบากขนาดนั้น เหตุใดเขาจึงมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดเช่นนี้
 
อากงบอกว่า เหตุผลสำคัญ เป็นเพราะผู้นำประเทศอย่าง เติ้ง เสี่ยว ผิง เขาถือเป็นผู้ปูพื้นฐานเศรษฐกิจของจีน เริ่มตั้งแต่จุดที่ประชากรไม่มีกิน ไม่มีใช้ ตั้งแต่การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์นั้นยังเข้มงวดมากๆ ก็มาเริ่มผ่อนคลายขึ้นในยุคนั้น อากงบอกอีกว่า หากนับว่าเหมา เจ๋อ ตุง เป็นปราชญ์ด้านการรบ เติ้ง เสี่ยว ผิง ก็ถือเป็นปราชญ์ด้านเศรษฐกิจ เขาคือบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์จีน ผู้ซึ่งปูพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของประเทศจีน จนค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ

ฉันสงสัยต่อ ว่าทำไมอากงถึงมีญาติเยอะ อากงก็เล่าต่ออย่างอารมณ์ดีว่า ทุกคนในหมู่บ้าน ถือเป็นญาติกันทั้งนั้น เหตุเพราะมีนามสกุล หรือมีแซ่เดียวกัน วิธีการจำแนกแซ่ตามธรรมเนียมจีน คือจะจำแนกตามแถบที่อยู่อาศัย เช่นคนหมู่บ้านนั้นแซ่ตั้ง หมู่บ้านนี้แซ่แต้ แล้วค่อยๆเปลี่ยนแซ่กันไปหลังแต่งงานกับคนแซ่อื่น ที่เมืองจีนนั้นมีแซ่หลากหลายมาก โดย 5 อันดับแซ่ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลกคือ แซ่จาง แซ่หวัง แซ่หลี่ แซ่จ้าว และ แซ่หลิว สถิติล่าสุดของสำนักทะเบียนราษฎร์พบว่า คนไทยเชื้อสายจีนยังคงใช้สกุลแซ่กันมากถึง 4,700 แซ่ นอกจากนี้ คนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากที่เคยใช้นามสกุลที่ขึ้นต้นด้วยแซ่ ได้เปลี่ยนไปใช้นามสกุลไทย แล้วแปลงความหมายของแซ่เป็นภาษาไทย ตั้งเป็นนามสกุลใหม่ขึ้นมา


(ที่หมู่บ้านของอากง ราวปี พ.ศ. 2530)
 
ฉันสามารถเล่าเรื่องราวของอากงต่อไปได้เรื่อยๆไม่มีวันจบสิ้น และเชื่อเหลือเกินว่า การหยิบเอาเรื่องราวของอากง หรือของผู้คนในสมัยนั้นมาบอกต่อ ไม่ว่าจะในแง่ใดก็ตาม จะทำให้พวกเราคนยุคปัจจุบันตระหนักได้ว่า เราโชคดีแค่ไหน ที่ทุกวันนี้เรามีข้าวให้กิน มีบ้านเป็นแหล่งพักพิง และมีคนข้างๆให้ได้บอกรัก เรื่องราวของอากงของฉัน ไม่ได้ต่างอะไรกับเรื่องราวของคนไทยเชื้อสายจีนอีกหลายล้านคน ที่เดินทางหลีกหนีความแร้นแค้นมาเดิมพันชีวิตที่เมืองไทย ฉันยินดีเหลือเกินที่ได้บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้กับคุณผู้อ่านมาถึงห้าตอน ขอบคุณที่ติดตามกันมานะคะ
About the Author
เป็ดที่ผ่านงานในวงการบันเทิงมาแล้วทุกแบบ ทั้งนักร้อง นักแสดง พิธีกร ดีเจ นักพากย์.. แต่ตอนนี้กำลังสนุกกับบทบาทใหม่ในฐานะพิธีกร New Gen ของเจาะใจ พ่วงด้วยบทบาทเบื้องหลังใน Johjaionline.com แบบเต็มตัว
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
การ์ตูนล้อเลียน by น้าชู
ถ้าหากฟ้าฝนไม่เป็นใจในวันสอบของคุณ คุณมีวิธีการอย่างไรที่จะรักษาหนังสือเล่มนั้นไม่ให้เปียก