แต่ลึกๆแล้ว ความขี้เกียจเป็นลึกซึ้งกว่าที่คิด โดยเฉพาะสาเหตุที่ทำให้ขี้เกียจ เมื่อสืบสาวไปถึงสาเหตุแล้ว บางทีอาจพบว่า ความขี้เกียจที่ว่านั้น อาจเป็นสิ่งจำเป็นและสมเหตุผลแล้วก็ได้ อีกทั้งความขี้เกียจเป็นเรื่องของความรู้สึกเปรียบเทียบ หรือ relative term แปรเปลี่ยนตามมาตราฐานความ active ที่แต่ละคนไม่เหมือนกัน สำหรับบางคนการเดินห้างคือความขี้เกียจ แต่บางคนต้องนอนทั้งวันถึงจะถือว่าขี้เกียจ จนบางคนเชื่อว่า ที่จริงแล้ว ความขี้เกียจเป็นเพียงแค่คำต่อว่าด่ากันเท่านั้น ในโลกนี้ไม่มีใครขี้เกียจจริง เถียงกันไม่จบ
ในด้านการวิวัฒนาการ มีความเห็นว่า ความขี้เกียจบางครั้งเป็นความจำเป็นพอๆกับความขยันที่ทำให้เผ่าพันธ์ุมนุษย์รอดมาได้ เพราะในยามที่ทุกอย่างไม่มีความแน่นอน วางแผนล่วงหน้าไม่ได้ ไม่มีเทคโนโลยีช่วย ความขี้เกียจเป็นการ save energy ประหยัดพลังงาน ไม่ให้สูญเปล่าโดยไม่จำเป็น และยังเป็นกลยุทธ์หรือ strategy ที่ถูกต้องแล้ว เพราะเป็นการตั้งรับสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ในยุคนั้น ดีกว่าให้ร่างกายเปลืองพลังงานอันมีค่า (เพราะอาหารหายาก) และยังเสี่ยงไม่คุ้มอีก
ส่วนในทางเศรษฐศาสตร์ มีความเห็นว่า ความขี้เกียจเป็นเรื่องมีเหตุผล อย่างเช่น ที่คนจนถูกกล่าวหาว่าขี้เกียจนั้น อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่มีความสามารถในเวลานั้นที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น คือไม่มีความรู้หรือทรัพยากรพอที่จะใช้สร้างโอกาสได้ ไม่มีเงินทุนพอที่จะเสี่ยงอะไรได้ มองไม่เห็นโอกาส ดังนั้นวิธีดีที่สุดที่เป็นตรรกะคือ อยู่เฉยๆ เพื่อรอโอกาสที่จะผ่านมา และกอดเงินก้อนที่ยังมีอยู่ไว้ให้นานที่สุด
หรือในกรณีที่คนจนใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ไม่เก็บเงิน ในทางจิตวิทยาอธิบายว่า มาจากความหมดหวังว่าในอนาคต เชื่อว่าตนไม่มีความสามารถทำให้อนาคตดีกว่านี้ได้ จึงใช้ชีวิตในวันนี้ให้มากที่สุดไปเสียเลย เพราะอีกหน่อยอาจจะไม่มีโอกาสอีก ซึ่งก็ถือเป็นตรรกะเช่นกัน
มีการศึกษาโดย Mittal และทีมงาน รายงานใน Journal of Personality and Psychology พบว่า คนที่เติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน มักจะเลิกล้มความตั้งใจอย่างง่ายดาย ยอมแพ้กลางคัน มากกว่าคนที่เติบโตมาในครอบครัวฐานะดีถึง 25% ทั้งนี้เพราะพวกเขาถูกหล่อหลอมด้วยสภาพแวดล้อมมาตลอดว่า ตนเองไม่มีความสามารถควบคุมหรือจัดการชีวิตอะไรได้ จึงมองว่า การพยายามเป็นเรื่องเสียเวลา อย่างไรก็ไม่มีทางสำเร็จ สู้อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรดีกว่า
เป็นไปได้เหมือนกันว่า ที่จริงนั้น มีโอกาสซ่อนอยู่ แต่พวกเขามองไม่เห็นก็เลยเกิดความสิ้นหวัง ทำให้ต้องอยู่เฉยๆ หรือ “ขี้เกียจ” ซึ่งถ้าทำให้พวกเขามีความสามารถมองเห็นโอกาสได้ ก็เป็นไปได้ว่า ความขี้เกียจอาจจะหายไปในทันที กลายเป็นการลงมือทำ
นักจิตวิทยาจึงเชื่อว่า น่าจะเป็นประโยชน์กว่า ถ้าหากเรามองความขี้เกียจตามความเป็นจริง นั่นคือ ความขี้เกียจเป็นเพียง “อาการ” หรือ symptom ไม่ใช่เป็นตัวปัญหา เสมือนว่า คนป่วยอาจมีอาการตัวร้อน แต่ตัวร้อนย่อมไม่ใช่โรค หากเป็นเพียงอาการที่แสดงออกมาเพราะโรค ซึ่งต้องมีการวินิจฉัยต่อถึงจะรู้ว่าเป็นโรคอะไร และถึงทำการรักษาได้ การโจมตีความขี้เกียจ ด้วยการประนามด่าว่าต่างๆ จึงไม่น่าจะได้ผล เพราะไม่ได้แตะที่สาเหตุหรือตัวโรคของปัญหาเลย

ทางจิตวิทยาสรุปสาเหตุหรือ “ตัวโรค” ที่เป็นไปได้ของอาการขี้เกียจ คือ
กลัวจะพลาด : เป็นความขี้เกียจที่เกิดจากไม่อยากเสี่ยง เลยเฉยๆไปก่อนซึ่งเป็นความคิดที่อาจจะเหมาะสมหรือไม่ก็ได้ เพราะขึ้นอยู่กับผลตอบแทนที่คาดว่าคุ้มหรือไม่
กลัวจะทำสำเร็จ : บางคนกลัวความสำเร็จ เพราะหมายถึงปัญหาหลายอย่างจะตามมา เช่น หากขยันทำงานแล้วถูกโปรโมทมีความรับผิดชอบมากขึ้น ก็เกรงว่าชีวิตส่วนตัวจะแย่ลง จึงเลือกที่จะทำงานไม่เต็มที่ เป็นการขี้เกียจเชิง strategic อันมาจาก agenda ส่วนตัว ไม่มีผิดหรือถูก
ต้องการความสนใจ: บางคนตั้งใจขี้เกียจ เพราะรู้ว่ามีคนอื่นทำให้ ซึ่งถือเป็นการขี้เกียจเฉพาะกิจ เพราะถ้าไม่มีใครช่วย ก็ลุกขึ้นทำเองได้
กลัวที่จะคาดหวัง : หลายคนไม่อยากผิดหวังเสียใจ เลยเลือกที่จะอยู่เฉยๆ ไม่อยากเสี่ยง จะด้วยเคยเจ็บมาแล้ว หรือไม่คุ้มก็แล้วแต่
Passive-agressive: เป็นวิธีการขี้เกียจเพื่อต้องการสื่อว่าไม่เห็นด้วย หรือเพื่อประท้วง ก็เลยเลือกที่จะอยู่เฉยๆไม่ทำอะไร ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่พฤติกรรมขี้เกียจจริงโดยนิสัย หากเป็นการแกล้งขี้เกียจเฉพาะกรณี case-by-case
ต้องการพัก : ถือเป็นการขี้เกียจที่เข้าใจได้ หากเหน็ดเหนื่อยจากการงานมา และเป็นปกติธรรมดาที่มนุษย์ต้องการช่วงพัก
ง่ายไปหรือยากไป: งานที่ง่ายไปทำให้น่าเบื่อ และรู้สึกไม่มีความหมาย ส่วนงานที่ยากเกินความสามารถ ก็น่าเบื่อเช่นกัน เพราะทำเท่าไหร่ก็ไม่ได้ มีแต่สูญเสียความมั่นใจในตนเอง ดังนั้น ทางออกที่ดีมีตรรกะคือ ไม่ทำเสียเลย ซึ่งก็เป็นการขี้เกียจพอจะมีเหตุผล
ซึมเศร้า : เคยมีการ์ตูนล้อเลียนวาดเป็นภาพจิตแพทย๋พูดกับคนไข้ว่า “จากการวินิจฉัย พบว่า คุณไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า คุณเพียงขี้เกียจ” ความขี้เกียจที่มาจากความซึมเศร้าเป็นเรื่องซับซ้อน คนเรามักสับสนระหว่าง ความขี้เกียจแบบธรรมดา กับ ความขี้เกียจจากโรคซึมเศร้า เพราะ คนที่เป็นโรคซึมเศร้าบางคน อาจนอนทั้งวัน โดยไม่ทำอะไรเลย หรือ บางคนมอบงานไป ก็ไม่ทำเสียที หรือ บางคนว่างทั้งวัน แต่บอกว่าไม่สามารถเริ่มต้นทำงานได้ คนทั่วไปจึงมองว่าพวกเขาเป็นแค่คนขี้เกียจ ซึ่งที่จริงไม่ใช่
ความแตกต่างระหว่างทั้งสองอย่างนี้คือ คนที่เป็นโรคซึมเศร้า ไม่อยากทำอะไร อยู่เฉยๆเพราะ มองไม่เห็นความหมายในชีวิต ไม่เห็นอนาคต ชีวิตเต็มไปด้วยความว่างเปล่า มองไม่เห็นว่ามีอะไรที่ต้องทำ ตั้งแต่เรื่องส่วนตัว ส่วนรวม ไปจนถึงการงาน อีกทั้งคนที่ซึมเศร้าอาจจะไม่ค่อยรับรู้เรื่องเวลา ไม่รับรู้เรื่องความรับผิดชอบ
ซึ่งต่างจากคนขี้เกียจทั่วไปที่รู้ดีว่ามีเรื่องต้องทำรออยู่ แต่ยังเลือกที่จะไม่ทำในตอนนี้ หรือ ยังไม่มีเรื่องที่จะสามารถลงมือทำได้ในตอนนี้ (อย่างเช่นกรณีคนจน) แต่ถ้าเห็นว่ามีโอกาส ก็อาจจะลงมือทำ นั่นคือ เป็นการขี้เกียจตามแต่สถานการณ์
คนซึมเศร้า มองไม่เห็นว่าห้องรกสกปรก งานรอกองโต แต่คนขี้เกียจมองเห็นอยู่แล้วว่า ห้องรกโสโครก งานสุม แต่เลือกจะไม่ทำ
สาเหตุทั้งหมดนี้ชี้ว่า “ความขี้เกียจ” ที่เรียกกันนั้น จริงๆแล้วไม่ใช่เป็นความผิด ไม่ใช่เรื่องของ “นิสัย” หากมีที่มาที่ไปลึกกว่านั้น ดังนั้นการมองว่า ”เขาเป็นคนขี้เกียจ” จึงอาจจะง่ายหรือ simplify เกินไป ผลคือ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ซึ่งถ้าหากจะคิดแก้ไขใครให้หายขี้เกียจ ก็ต้องย้อนไปดูที่สาเหตุ
และนี่อาจจะเป็นที่มาว่า ทำไมนักจิตวิทยาบางคนถึงมองว่า ความขี้เกียจพันธ์ุแท้ ไม่มีในโลก
แต่ในอีกมุม ก็มีการมองเหมือนกันว่า ความขี้เกียจอย่างแท้นั้นมีอยู่จริงในโลก โดยเป็นความขี้เกียจที่ไม่ได้มาจากสาเหตุทั้ง 7 ข้างต้น หากมาจาก contagion effect หรือการแพร่กระจายของพฤติกรรมการเลียนแบบ
นั่นคือ คนที่อยู่ใกล้ “คนขี้เกียจ” ก็จะขี้เกียจตาม ทั้งที่ตนเองไม่ได้เจอปัญหาเดียวกันเลย เป็นเพียงการ benchmark ตนเองกับคนขี้เกียจ และรับเอามาเป็น norm ทำนองว่า “คนอื่นยังขี้เกียจได้ ก็เลยขอขี้เกียจบ้าง” ซึ่งการทำตามๆกันนี้เป็นพฤติกรรมธรรมชาติของมนุษย์ในฐานะเป็นสัตว์สังคม ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ (ถึงแม้อาจไม่ใช่เรื่องที่ดี) ยิ่งคนขี้เกียจผู้เป็นแม่แบบ เป็นคนที่มีสถานภาพทางสังคมสูง เช่น เคยเป็นคนประสบความสำเร็จ หรือ เป็นเจ้านายไปจนหัวหน้าแก็งค์ หัวหน้าชุมชน ก็ยิ่งจูงใจให้คนทำตาม และไม่รู้สึกผิดอะไรที่จะขี้เกียจบ้าง
ผลก็คือ เกิดสภาพที่ในขณะที่คนหนึ่งขี้เกียจอย่างมีเหตุผล คนที่อยู่รอบข้างขี้เกียจตามอย่างไม่มีเหตุผล นับเป็นการขี้เกียจแบบสูญเปล่า จนอาจถือว่า นี่คือความขี้เกียจของแท้ก็ได้
แต่ Jon Jachimowicz แห่ง Harvard Business School บอกว่า ยังมีความขี้เกียจอีกแบบหนึ่งที่พบเห็นได้ง่ายสุดๆเหมือนกัน นั่นคือ ความขี้เกียจที่จะพยายามเข้าใจว่าคนอื่นนั้น ”ขี้เกียจ” เพราะอะไร
และนั่น อาจจะเป็นความขี้เกียจที่แย่กว่า ความขี้เกียจในคนที่ถูกกล่าวหาว่าขี้เกียจ ด้วยซ้ำ