OPINION

ถ้าเล่นแล้วไม่ชนะ.. : สถานการณ์ Kobayashi Maru

สุรพร เกิดสว่าง
24 ก.ค. 2560
ใน Mission Impossible 5 - Rouge Nation : ในโรงละครโอเปร่าเวียนนา  Ethan Hunt (Tom Cruise) ต้องตัดสินใจว่า จะยิงใครดี ระหว่างผู้กำลังจะลอบสังหารนายกรัฐมนตรีออสเตรีย ซึ่งมีถึงสองคน และอยู่ในจุดที่ต่างกัน  ถ้ายิงคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็สามารถปฏิบัติการต่อได้ทันที  ดูเหมือนว่า เขาไม่มีทางยุติการลอบสังหารนี้ได้เลย
 
ยกเว้นว่า เขาเป็นคนยิงนายกรัฐมนตรีเสียเอง
 
Ethan Hunt เผชิญกับ “สถานการณ์ Kobayashi Maru” หรือ no-win scenario ใน Game Theory แต่เขาหาทางออกจนได้ พลิกเกม โดยยิงนายกรัฐมนตรีเสียเอง แต่เพียงให้บาดเจ็บเล็กน้อยเท่านั้น เกิดความวุ่นวายพอหลุดจากการเป็นเป้านิ่ง
 
Kobayshi Maru มาจากชื่อยานอวกาศในภาพยนตร์ Star Trek ที่อยู่ในข้อสอบ simulation game ตามหลักสูตรการเรียนของ Starfleet Academy ว่าด้วยยานขนส่งเอกชน Kobayashi Maru ถูกยึดไว้โดยมนุษย์ต่างดาว Klingon เนื่องจากรุกล้ำเขตหวงห้าม หากจะเข้าไปช่วย ก็หมายถึงการรุกล้ำเขตแดน และจะเกิดสงครามใหญ่ อีกทั้งผู้ที่ช่วยก็อาจถูกทำลาย แต่ถ้าไม่ช่วย ก็แน่นอนว่ายาน Kobayshi Maru พร้อมกับลูกเรือก็ย่อมถูกทำลายเช่นกัน
 
นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะเลือกทางไหน ผลคือ มีแต่ความพ่ายแพ้ ไม่มีทางชนะ
 
แต่ว่า นักเรียนชื่อ James T Kirk สามารถเอาชนะได้ เขาเลือกที่จะรุกล้ำเข้าไปช่วยยาน Kobaysahi Maru ออกมา โดย Klingon เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในที่สุด 
 
ทว่า เบื้องหลังของชัยชนะในเกม นี้มาจากที่ Kirk แอบไปปรับเปลี่ยนโปรแกรมเกม ซึ่งก็คือการโกงข้อสอบนั่นเอง เมื่อถูกสอบสวนว่า ทำไมถึงโกง Kirk ไม่คิดว่าเขาโกง เขาตอบว่า “I do not believe in no-win scenario” - ผมไม่เชื่อในสถานการณ์ที่ไม่มีทางชนะ  และประโยคนี้ในภาพยนตร์ กลายเป็นประโยคคลาสสิกในเวลาต่อมา
 
ใน Game Theory มีหลายสถานการณ์ที่ไม่มีทางชนะได้จริง  วิธีแก้มีอยู่ทางเดียวคือ “เปลี่ยนเกม” ทำนองเดียวกับที่่ game theorist เรียกว่า “Mechanism Design” คือ ดัดแปลงกลไกของเกมใหม่ให้เราเป็นฝ่ายได้เปรียบ ซึ่งไม่ต่างจากที่ James T Kirk หรือ Ethan Hunt ได้ทำไป 
 
ร้านค้าสองร้านแข่งขันกัน ต่างคนต่างอยากจะปิดร้านหนึ่งวันเพื่อพักผ่อน แต่ถ้าหากคนหนึ่งปิดร้าน แล้วอีกคนหนึ่งยังเปิดร้านอยู่ ก็จะทำให้ร้านที่ปิดเสียเปรียบ และเสียชื่อความเป็นร้านสะดวกซื้อ ผลคือ ไม่มีใครกล้าปิดร้าน ซึ่งหมายถึง แพ้ทั้งคู่   วิธีแก้คือ เปลี่ยนเกม และที่สำคัญ บางครั้งคนที่เปลี่ยนเกม ไม่ใช่ผู้เล่นเอง (เพราะต่างไม่ไว้ใจกัน) หากเป็นกฎจากทางการหรือองค์กรอย่างสมาคม ที่แทรกตัวเข้ามาบังคับว่า ร้านสามารถหยุดได้หนึ่งวัน โดยจัดให้ไม่ตรงกัน
 
เช่นเดียวกับ นโยบายให้พนักงานพักร้อนกี่วันก็ได้ ที่ดูเหมือนนายจ้างใจดี แต่ที่จริงผลคือ ด้วยการแข่งขันอย่างโหดภายในองค์กร ทำให้ต่างคนต่างไม่กล้าหยุดมากกว่าคนอื่น เมื่อทุกคนคิดเช่นนี้ ผลสุดท้ายคือ วันพักร้อนแบบสมัครใจเหลือศูนย์ - ไม่มีใครกล้าพักร้อน ไม่มีใครชนะ ถือเป็น Kobayashi Maru แบบหนึ่ง  วิธีแก้โดยเปลี่ยนเกม คือ นายจ้างเปลี่ยนเงื่อนไขใหม่ เป็นบังคับให้พักร้อนเท่านี้วัน ใครไม่ทำไม่ได้ เมื่อนั้น ทุกคนก็จะหลุดจาก Kobayshi Maru
 
ทั้งสองตัวอย่างง่ายๆนี้ชี้ว่า บางครั้งการปล่อยให้กลไกลของเกมเดินไปด้วยตัวเอง อาจนำไปสู่กับดักของ Kobayashi Maru ได้ จำเป็นต้องมี “มือที่สาม” เข้ามาแทรก ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์มักหมายถึง การแทรกแซงจากรัฐ อันหมายถึงว่า เศรษฐกิจแบบกลไกตลาด 100% นั้น ไม่ได้ให้ผลที่ดีเสมอไป
 


บางครั้ง ด้วยธรรมชาติของเกม หากไม่มีมือที่สามมาเปลี่ยนเกม เกมก็จะ run ด้วยตัวของมันเองไปสู่การเปลี่ยนแปลงในที่สุด ซึ่งอาจเป็นความหายนะชั่วคราว เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า และภาวะที่สมดุล
 
ในป่าที่ california ต้น redwood แต่ละต้นพยายามแข่งกันสูงเพื่อรับแสง และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้น redwood มีความสูงใหญ่มาก แต่แล้ว ความสูงกลับกลายเป็นความเปราะบางไม่แข็งแรง นั่นหมายถึง ไม่มีใครชนะ และในที่สุดต้น redwood ก็อ่อนแอ และล้มโค่นง่าย อันเป็นการเปลี่ยนเกม หรือ “ล้างบาง”- reset โดยธรรมชาติ เพื่อลดความสูงของ redwood ให้ลงมาอยู่ในระดับที่แข็งแรง แต่นั่นหมายความว่า ต้องเกิดความหายนะกับป่า redwood เสียก่อน นั่นคือการล้มตาย ถึงจะ reset game ใหม่ได้ 
 
ใน no-win situtation หรือ Kobayashi Maru นั้น หากยังทนเล่นเกมต่อไป ก็ถือว่าไร้ประโยชน์ เพราะหนทางเดียวที่จะเกิดคือแพ้เท่านั้น และบางครั้ง อาจนำไปสู่การจบเกมอย่างเจ็บปวด ดังเช่น ต้น redwood
 
แน่นอนว่า ต้น redwood ไม่มีทางเลือกที่จะเลิกเล่นเกมได้  แต่คนเราสามารถตัดสินใจ หลีกเลี่ยงความเสียหายนี้ได้ โดย 1. เลิกเล่น และ เปลี่ยนเกมใหม่ หรือ 2. ดัดแปลงเกม
 
อย่างเช่น ถ้างานที่เราทำอยู่มาถึงทางตัน ไร้ความก้าวหน้า ไม่ตรงกับ passion ไร้ความสุข หากทำต่อไป ก็ทำได้ แต่จะไม่ได้อะไร นอกจากทำเพื่อเงินสิ้นเดือนอย่างเดียว ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ต้องเปลี่ยนเกม คือ เริ่มมองหางานใหม่
 
ในชีวิตจริง มีคนอยู่มากมายที่เลือกจะอยู่ใน no-win situation เช่นนี้ต่อไป เช่น บางคนยอมมีชีวิตคู่ด้วยกันทั้งที่ดูแล้วว่า ไม่มีทางเข้าใจกันได้ หมดหนทางออก แต่ก็ยังทนกันต่อไป ด้วยความหวังว่า สักวันหนึ่งจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง และก็ทนเช่นนั้นไปเรื่อยๆ ซึ่งอาการนี้เป็นเรื่องของ sunk cost หรือ อาการเสียดายความพยายามในอดีตที่ลงทุนไป
 
การเปลี่ยนเกม ไม่ได้หมายความเพียงไปเปิดเกมใหม่เท่านั้น แต่หมายถึง การดัดแปลงเงื่อนไขของเกม ให้หลุดจาก Kobayashi Maru ด้วย 
 
ใน process ของที่ทำงาน เมื่อเกิดความขัดแย้งแบบ no-win situation บางครั้งเราไปเพ่งเล็งที่ตัวบุคคล เพื่อจะ “ปรับความเข้าใจ” หรือพยายามเปลี่ยน การเล่นเกมของบุคคลที่อยู่ในความขัดแย้ง ทั้งๆ ที่คำตอบที่แท้จริง อยู่ที่การเปลี่ยนเกม หรือการดัดแปลงเกม ซึ่งก็คือ การเปลี่ยน process ในงาน, การเปลี่ยนงานที่มอบหมาย, การนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วย, การเปลี่ยนการจูงใจผลประโยชน์, ฯลฯ  อันล้วนเป็นประเด็นพื้นฐานหรือ foundation ของความขัดแย้งนั้น 
 
หากเราไม่คิดเปลี่ยนเกม โดยมุ่งไปที่เปลี่ยนแปลงแค่ตัวคนเล่น ก็ย่อมจะพบกับความผิดหวัง เช่น “พูดเท่าไหร่ ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น” เพราะ นอกจากจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนเล่นยากแล้ว ไม่แน่ว่า เขาอาจจะเล่นเกมนี้อย่างมีเหตุผลก็ได้ นั่นคือ ปกป้องผลประโยชน์ตน ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าจะ “ปรับทัศนคติ” อย่างไร ผลสุดท้ายคือ พฤติกรรมของผู้เล่นเกมกลับสู่จุดเดิม เพราะนั่นคือ ภาวะสมดุล หรือ equilibrium โดยธรรมชาติของเกมนั้น  - ทั้งนี้ตราบใดที่เงื่อนไขของเกมยังคงเดิม
 
ที่สำคัญ ดีไม่ดี คนเล่นเองอาจจะชิงพูดว่า I don’t belive in no-win scenario แล้วลงมือเปลี่ยนเกมเองแทนก็ได้...
 
 
About the Author
background จากการศึกษาและทำงานด้าน การเงินการธนาคาร เศรษฐศาสตร์ และ IT เชื่อว่าคนเราสามารถหาความสุขได้ง่ายๆจากความอยากรู้อยากเห็นและความสงสัย นอกจากการอ่านและเขียนแล้ว เขาใช้ชีวิตกับกิจกรรม outdoor หลากหลายชนิด
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
หลายครั้งเราอาจสะดุดใจกับปรากฏการณ์ไม่ธรรมดาที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ ทั้งๆมันเป็นความบังเอิญที่ต้องมีเกิดขึ้นบ้าง ท่ามกลางเหตุการณ์จำนวนมากมายในแต่ละวัน และเราไปถือเอาความบังเอิญนั้น เป็นตัวแทนของเหตุการณ์แบบนั้นทั้งหมด
 
ความสุขเป็นค่าสัมพัทธ์ หรือค่า relative ไม่ได้เป็นค่าสมบรูณ์หรือค่า absolute เพราะมัันเกิดขึ้นด้วยตัวของมันเองไม่ได้ มันเป็นผลลัพธ์จากการเปรียบเทียบ