OPINION

ขอหลอกไปก่อนนะ : Fake it till you make it

สุรพร เกิดสว่าง
25 มี.ค. 2562
“Fake it till you make it” หรือ “แกล้งเสมือนว่าทำได้ จนกระทั่งทำได้จริงๆ” เป็นวิธีที่ใช้เมื่อเรายังไปไม่ถึงผลลัพธ์ที่ต้องการจริง จึงขอหยิบยืมผลลัพธ์ที่อยากได้ในอนาคตนั้นมา fake it ในวันนี้ไปก่อน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ หรือความสุขก็แล้วแต่
 
นักพูดและ life coach บางคนแนะว่า ให้แต่งตัวหรือใช้ life style “เหมือนอย่างที่เราต้องการเป็น” เพื่อสร้างบรรยากาศและความมั่นใจ จนคาดว่า ในที่สุด เราก็จะไปถึงจุดนั้นจริงๆ เช่น ลุกขึ้นแต่งตัวหรู ใช้ของแพง เพื่อจะสร้างแรงบันดาลใจให้ขยันทำงานจนรวย หรือ หัดพูดจาฉะฉานเหมือนคนเก่งในเรื่องนั้นๆ เพื่อนำไปสู่ความมั่นใจ จนทำให้วันหนึ่งกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาจริงๆ
 
Fake it till you make it เป็นเรื่องน่าสนุกและเย้ายวนที่จะลงมือทำ เพราะเป็นการย้ายเวลาในอนาคตมาสู่วันนี้โดยไม่ต้องรอ ทำให้ในเราสามารถลิ้มรสของสิ่งที่เราอยากได้ในทันที และยังเชื่อว่าสร้างพลังให้ไปสู่จุดหมายนั้นจริงๆอีกด้วย อีกทั้งยังสามารถทำได้ง่ายดาย เพียงเพื่อซื้อของหรูมาใช้ กับปรับเปลี่ยนการแสดงออก ก็ได้สัมผัสกับสิ่งที่เราอยากได้ อยากเป็น ในอนาคตแล้ว
 
ทัศนะ Fake it ยังนำไปใช้ในธุรกิจและการเมืองอีกด้วย จึงไม่น่าประหลาดใจว่า ในวงการที่มีการแข่งขันและพ่ายแพ้สูง อย่างที่ Silicon Valley ถึงมีการพูดว่า Fake it till you make it เป็นพลังสำคัญ ที่ทำให้ startup ทั้งหลาย รอดพ้นความล้มเหลวมาได้  startup บางแห่ง ระดมทุนจาก venture capital โดยขาย vision หรือ ความฝันบนกระดาษกับ Powerpoint ทั้งที่ยังไม่มีหลักฐาน back up แน่นๆว่า ทำได้จริง ถือว่า ไว้ค่อยไปว่ากันอีกทีหลังจากได้เงินทุนแล้ว
 
และไม่น่าประหลาดใจเช่นกันว่า นักการเมืองไม่ว่าจะประเทศไหน ยุคไหน ยึดถือ Fake it till you make it เสมอมา ด้วยการร่ายนโยบายที่ไม่จำเป็นว่าจะทำได้จริง หากเป็นที่ดูดี เป็นที่ต้องการของประชาชน ก็พอแล้ว ไว้เมื่อตอนได้รับเลือกแล้ว ค่อยว่ากันอีกที่ว่าทำได้จริงหรือไม่ และเมื่อถึงเวลานั้น ก็อาจไม่สำคัญ อีกต่อไป เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะที่ไหนในโลก ส่วนใหญ่แล้วประชาชนไม่สนใจว่า นโยบายนั้นจะ make it ได้จริงหรือไม่ ขอแค่ feel good ตอนหย่อนบัตรก็พอ 
 
แต่จริงๆแล้ว Fake it นั้นให้ผลจริงหรือไม่? หรือตัวมันเองก็เป็นแค่วิธี fake เหมือนชื่อ?
 
ในทางจิตวิทยาพูดถึง “placebo effect” หรือ การให้ยาหลอกๆ ก็สามารถทำให้อาการของคนไข้ดีขึ้นได้ เพียงเพราะคนไข้มีความเชื่อเช่นนั้น โดยมีเงื่อนไขว่าสภาพการป่วยต้องไม่ได้แย่จนเกินไป หรือ  “act as if” ที่ถ้าหากเราคิดว่าเราทำได้แน่ โอกาสที่จะทำได้จริงๆ ก็จะเพิ่มขึ้นมาทันที หรือ อยากมีความสุข ก็ทำเหมือนมีความสุข ยิ้มแย้มร่าเริง แล้วความสุขจะมาเอง โดยทั้งนี้เช่นเดียวกับ placebo effect คือมีเงื่อนไขว่า ที่สิ่งที่เราต้องการทำให้สำเร็จนั้น ไม่ได้ยากเกินความสามารถและสภาพแวดล้อมที่มีอยู่ในขณะนั้น
 
นักจิตวิทยาอธิบายว่า การที่เราคิดว่าทำได้ จนทำได้จริงๆนั้น มาจาก “Hebbian Principle”
 
สมัยเรียนหนังสือ เราคุ้นเคยกับ Hebbian Principle ในนามของ Palov Effect หรือ conditional learning ที่ นักวิทยาศาสตร์ Ivan Palov สั่นกระดิ่งเรียกหมามากินอาหาร ต่อมาเมื่อเขาสั่นกระดิ่งเฉยๆ หมาก็น้ำลายไหลแล้ว เพราะคิดว่ากำลังจะได้กินอาหาร  
 
Hebbian Principle เป็นกลไกของการจับคู่ระหว่าง การทำงานของระบบประสาทในสมองของเรื่องสองเรื่อง เช่น ถ้าเราเกลียดการพูดต่อหน้าคนมากๆ แล้วเรา act as if บ่อยๆครั้งเข้า ว่า เราชอบและมีความสุขบนเวที ระบบประสาทในสมองส่วนที่บอกว่าเรามีความสุข กับ ระบบประสาทในสมองส่วนที่รับรู้ว่าเรากำลังอยู่บนเวที จะจับคู่ หรือ pairing กัน โดยหากระบบหนึ่งเริ่มทำงาน (ก้าวขึ้นบนเวที)  อีกระบบก็จะทำงาน (มีความสุข) หรือ fire up ขึ้นมาพร้อมกัน ทำให้ เกิดอาการว่า เมื่อใดที่เราอยู่บนเวที ความสุขก็จะบังเกิดขึ้นในทันที ไม่ต่างจากเรื่องของ หมาของ Palov
 
ในเรื่องของ Fake it till you make it นั้น Hebbian Principle บอกว่า เรากำลังพยายามผูกเรื่องที่เราต้องการในอนาคต หรือ fake it กับ การกระทำในปัจจุบัน อยู่ โดยหวังว่า เมื่อ pairing เรื่องที่ fake it กับการกระทำ ไปเรื่อยๆ จะทำให้ การกระทำนั้นส่งผลให้ make it จริงๆในที่สุด
 
แต่นักจิตวิทยาบอกว่า Fake it till you make it บน Hebbian Principle นั้น จะได้ผล ก็ต่อเมื่อเป็นเรื่อง “ภายใน” ตัวเรา หรือเป็นเรื่องที่เราบอกตัวเราเอง หรือ fake กับตัวเราเอง ไม่เกี่ยวกับการ fake ให้คนอื่นดู
 
เรา fake ว่าเราเป็นคนขยันเพื่อที่จะได้ทำงานเสร็จ หรือ fake ว่าเป็นคนอัธยาศัยดี เพื่อที่จะได้มีเพื่อนเยอะๆ  ล้วนเป็นการพูดกับตัวเราเอง หรือ act as if กับตัวเราเอง
 
ส่วน การทำตัวหรูเหมือนคนประสบความสำเร็จนั้น เป็นการ fake ให้คนอื่นดูเสียมากกว่า รวมถึงการ fake หลอกคนว่า เราเก่งในเรื่องนั้นเรื่องนี้  เป็นเรื่องของการพยายามเปลี่ยนทัศนะคนอื่นที่มีกับตัวเรา
 
นักจิตวิทยาบอกว่า ถ้าหาก target audience หรือกลุ่มเป้าหมายของการ fake เป็นตัวเราเอง ไม่ใช่ใครที่ไหน  เราจะได้ประโยชน์มากมาย เพราะ ปัญหาที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเริ่มต้นทำได้ก็คือ คิดว่าตนยังไม่พร้อมบ้าง, ไม่กล้าพอ, ไม่อยู่ใน mood พอ, ไม่แข็งแรงพอ แล้วก็ผลัดไปเรื่อยๆ
 
แต่พอ fake กับตนเองว่า มีความกล้า, มี mood, มีความแข็งแรง, เราก็จะเริ่มลงมือทำสิ่งต่างๆได้โดยไม่ยาก ไม่ฝืนใจ สนุก และยังมีรู้สึกดีกับตนเองด้วย
 
วิธี act as if นี้ ทางจิตวิทยาถือเป็นวิธีปกติแพร่หลาย เป็น common presceiption ในการบำบัดทางจิตที่มักได้ผลยั่งยืน เพราะในสมองมีการสร้างเชื่อมโยงการทำงานระบบประสาทหรือ paring ระหว่างเรื่องสองเรื่องอย่างแน่นปึ้กไปแล้ว 
 
แต่ถ้าเป็นเรื่อง fake it กับคนอื่นนั้น กลับจะให้ผลตรงข้าม
 


ผลการศึกษาใน Journal of Consumer Research โดย Erasmus University, New York University, Cornell University และ Northwestern University บอกว่า คนทีพยายามจะกลบเกลื่อนหรือ fake ข้อเสียของตนเองกับผู้อื่น มักจะยิ่งหมกมุ่นอยู่กับข้อเสียเหล่านั้น จนเสียความสามารถใน self control หรือ สูญเสียการรักษาวินัยของตนเองในที่สุด
 
ทั้งนี้เพราะ ความต้องการแสดงให้คนอื่นเห็นว่าเรามีดีทั้งที่ยังไม่มีนั้น ยิ่งทำให้เกิดความเครียด เกิดความล้าทางจิตใจ ทำให้เสียสมาธิที่จะลงมือทำงานจริงๆเพื่อไปสู่จุดหมายที่ตั้งใจไว้ อย่างการใช้ของแพงเหมือนคนประสบความสำเร็จ ทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจที่จะเริ่มทำจริง  เพราะ fake ไปเรื่อยๆ คนก็คิดว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว ดังนั้นจะทำจริงไปทำไมให้เหนื่อย
 
และที่สำคัญ ยิ่ง fake มาก จะยิ่งหลุดไม่ได้ และบางทีกลายเป็น fake กับตัวเองจนแยกไม่ออกว่าอะไรจริงไม่จริง
 
ตัวอย่าง fake it ระดับโลกสุดดราม่า คือ เคสของ Elizabeth Holmes สาวชาว Silicon Valley ผู้ที่ครั้งหนึ่งได้ชื่อว่าเป็น “Steve Jobs 2” กับบริษัท Theranos ของเธอ ที่กลายเป็น documentary ทาง HBO, ABC รวมถึงภาพยนตร์ใหญ่ที่กำลังสร้าง แสดงโดย Jennifer Lawrence กำกับโดยผู้กำกับระดับรางวัล Oscar  
 
Holms ลาออกจากมหาวิทยาลัย Stanford ปีสองเมื่ออายุเพียง 19 เพื่อมาสร้างบริษัท Theranos ที่เธออ้างว่าสามารถตรวจเลือดได้อย่างครบถ้วนแม่นยำและราคาถูก ไม่ว่าจะเป็นผลตรวจเลือดมาตราฐานไปจนถึงตรวจผลมะเร็ง โดยอาศัยเลือดเพียงหนึ่งหยดจากปลายนิ้วเท่านั้น 
 
นั่นหมายความว่า ต่อไปนี้ การเจาะเลือดไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้ว และใครๆก็สามารถตรวจเลือดตัวเองได้โดยไปตามร้านสะดวกซื้อ ที่รับส่งเลือดไปให้ Theranos ตรวจ
 
เรื่องของเธอได้ขึ้นหน้าปกนิตยสารดังๆมากมาย ได้ออกรายการกับคนดังทั้ง Bill Clinton และ Jack Ma เธอกลายเป็นยิ่งกว่า super star เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่แห่ง Silicon Valley  ทำให้บริษัทสามารถระดมทุนได้มหาศาล คนดังอย่าง Henry Kissinger ก็ยอมมานั่งบอร์ด ในตอนนั้น Theranos มีมูลค่าถึง 9 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ Holmes ร่ำรวยถึง 5 พันล้านดอลลาร์ภายในเวลาเพียงสิบปี
 
แต่แล้วปรากฏว่า เรื่องเทคโนโลยีของ Theranos เป็นเรื่องหลอกลวงทั้งหมด
 
Theranos ไม่มีเทคโนโลยีอย่างที่คุย ผลตรวจทำจากเครื่องตรวจธรรมดาที่ใครๆก็ใช้ โดยเติมของเหลวเข้าไปให้ได้ปริมาณเลือดที่ตรวจมากพอ แต่ความเจือจางของเลือดทำให้ผลตรวจเชื่อถือไม่ได้เลย ทำให้อันตรายมากหากนำไปไช้ ส่วน lab ที่เปิดให้นักลงทุนรวมถึงสื่อมวลชนดู เป็นการจัดฉาก แม้กระทั่งเสียงห้าวของเธอก็เป็นเสียงดัดที่ให้ดูน่าเกรงขาม ไม่ใช่เสียงจริง ส่วน COO ที่เธอจ้างมาอย่างแพงและไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ ก็เป็นแฟนลับๆของเธอเอง  
 
คำถามคือ Elizabeth Holmes ก็น่าจะรู้ว่า ถ้าทำแบบนี้ สักวันหนึ่งเธอก็ไม่น่ารอด คนก็ต้องจับได้ ทำไมเธอยังทำไปได้ ?
 
John Carreyrou ผู้ขุดคุยเรื่องนี้และนำมาเปิดเผยบน Wall Street Journal และเจ้าของหนังสือดัง “Bad Blood” ที่เปิดเผยเรื่องนี้อย่างละเอียด บอกว่า Holmes เชื่อใน Fake it till you make it อย่างหนัก และเธอก็ fake กับโลกรวมทั้งตัวเธอเองด้วย เขาคิดว่า Holmes เชื่อจริงๆว่า สักวันหนึ่งในไม่ช้า Theranos ก็จะหาวิธีที่จะทำตามอย่างที่พูดได้จริง และโลกก็จะได้ประโยชน์จากเธอ แต่ตอนนี้ขอ fake ไปก่อน และมีความชอบธรรมที่จะทำเช่นนั้นด้วย ไม่ได้ผิดอะไร
 
แต่ดูเหมือนว่า สิ่งที่เธอทำอยู่ ไม่มีเค้าเลยว่าเรื่องเทคโนโลยีที่ fake อยู่นั้น จะกลายเป็นจริงขึ้นมาได้ Holmes ถูกตัวเองหลอกจนสนิท และเธอก็อยู่กับโลกปลอมๆที่เธอสร้างขึ้นมา แม้ในขณะนี้เธอถูกดำเนินคดีที่อาจต้องติดคุก 20 ปี เธอก็กำลังคิดตั้งบริษัทใหม่อยู่
 
Theranos เป็น extreme case ของ Fake it till you make it ที่บอกว่า หาก fake ให้คนอื่นดูแล้วละก็ ในที่สุดตัวเองก็อาจถูกหลอกไปด้วย และเมื่อนั้น ก็อาจจะต้องอยู่กับของปลอมตลอดไป ไม่มีทางไปถึงของจริงที่ฝันไว้ได้เลย เพราะตัวเองก็ลืมเสียด้วยว่า นี่คือของปลอมที่สร้างขึ้นมาเองกับมือ
 
Fake it till you make it จึงเหมือน “the force” ที่มีสองด้าน ใช้ให้ถูกก็เป็นทางลัดไปสู่จุดหมาย ใช้ผิดด้าน dark side ก็ทำลายตัวเอง
About the Author
background จากการศึกษาและทำงานด้าน การเงินการธนาคาร เศรษฐศาสตร์ และ IT เชื่อว่าคนเราสามารถหาความสุขได้ง่ายๆจากความอยากรู้อยากเห็นและความสงสัย นอกจากการอ่านและเขียนแล้ว เขาใช้ชีวิตกับกิจกรรม outdoor หลากหลายชนิด
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ถึงท่าเรือที่หั่วเตี่ยน ข้างๆโรงหนังเก่า หรือโรงหนังศรีสาธร แถวบางรัก ที่คนสมัยนั้นคุ้นเคยดี ค่าโดยสารอยู่ที่สองแสนสองหมื่นหยวน อากงไม่แน่ใจว่าเทียบเป็นเงินไทยได้เท่าไร แต่ที่รู้คือ เงินเก็บทั้งหมดของอากงมีไม่พอค่าเรือ
Transformative tourism จึงเป็นคำตอบของคนที่มองหาความเข้าใจชีวิต และ challenge ตัวเองเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น