ON LOOKER

วิวัฒนาการก้าวล้ำ หนูขับรถได้

29 ต.ค. 2562
ยุคสมัยเปลี่ยนผ่านไป ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การทดลองและเทคโนโลยียิ่งมีความล้ำหน้ามากขึ้น สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นล่าสุดคือเราอาจไม่เคยรู้กันมาก่อน ว่าหนูมีความฉลาดมากกว่าที่เราคิด ถึงขั้นสามารถ “ขับรถเองได้”



นักวิจัยแห่งมหาลัยริชมอนด์แห่งสหรัฐได้มีการทดลองและฝึกสอนหนูจำนวน 17 ตัว ให้เรียนรู้วิธีการขับรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กไม่ใหญ่ไปกว่าตัวหนูนัก ซึ่งวัสดุถูกผลิตมาจากขวดโหลพลาสติกใส เป็นการขับในห้องปฏิบัติการ เมื่อหนูแต่ละตัวสามารถขับได้ตามจุดหมายปลายทางที่นักทดลองได้กำหนดไว้จะได้รับรางวัลเป็นขนมผลไม้ “การวิจัยสมองเชิงพฤติกรรม” คือนิตยสารที่ถูกตีพิมพ์และบอกกล่าวเล่าเรื่องงานวิจัยสำคัญชุดนี้ไว้ ผู้นำทีมวิจัยได้ริเริ่มสร้างรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อหนูทดลองเหล่านี้ โดยพื้นรถทำจากอะลูมิเนียมยึดติดกับล้อทั้งสี่ พร้อมขดลวดทองแดงบริเวณตัวถัง ตัวถังใช้เป็นโหลพลาสติกที่นำมา DIY



การทำงานของรถคันนี้
หากจะเริ่มขับ หนูทดลองจะต้องเตรียมตัวในห้องโดยสาร หนูจะเริ่มใช้เท้าแตะขดลวดทองแดงควบคุมทิศทางที่ต้องการจะขับรถไป กระบวนการนี้เป็นการทำให้กระแสไฟฟ้าในรถจะวิ่งครบทั้งวงจรทั้งยังบังคับรถให้เคลื่อนที่ไปด้านหน้าและหรือหักเลี้ยวขวา-ซ้ายได้ แต่การฝึกหนูทั้ง 17 นี้ต้องใช้เวลานานนับหลายเดือน แต่การฝึกก็ทำให้หนูเหล่านี้สามารถขับรถได้อย่างชำนาญราวกับฝึกมาเป็นปี แต่มีข้อจำกัดอยู่ว่าหนูที่เอามาฝึก ถ้าเอาหนูที่เลี้ยงในห้องทดลองมาฝึกอาจจะยากกว่าในการฝึก แต่ถ้านำหนูที่ต้องเผชิญชีวิตอยู่กับธรรมชาติมันมีโอกาสที่จะเรียนรู้และเข้าใจได้เร็วกว่า และในตัวงานวิจัยนี้ยังบอกอีกว่าจากการตรวจผลอุจจาระที่หนูขับถ่ายออกมา ระดับฮอร์โมนของหนูทั้ง 17 ตัว มีฮอร์โมนช่วยลดความตึงเครียดในระดับที่สูงขึ้น นั่นแปลว่าหนูเหล่านี้มันได้เรียนรู้ทักษะชีวิตใหม่ๆทำให้เกิดความสุข ลดความเครียด เกิดความพอใจ

ในที่นี้จึงมีการคิดต่อว่า แล้วถ้านำทักษะเหล่านี้มาปรับใช้กับมนุษย์จะเกิดอะไรขึ้น?
ในขณะที่หนูได้ลองทักษะอะไรใหม่ๆ มันเกิดความผ่อนคลาย เช่นเดียวกันว่า ถ้าหากมนุษย์ได้มีอะไรที่ท้าทายตื่นเต้น แปลกใหม่ทำ ก็จะสามารถผ่อนคลายและลดความเครียดได้เช่นเดียวกับหนูเหล่านี้ ยืนยันตามงานวิจัยได้เลยว่าการเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางประสาทเคมีในเชิงบวก

ข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นที่มาว่า การทดลองต้นแบบของหนูพวกนี้ หากนำมาปรับใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยทางจิตเวช ไม่ว่าจะเป็นโรคพาร์กินสัน,โรคซึมเศร้าและหรือโรคทางจิตอื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.bbc.com/news/world-us-canada-50167812
คลิปวีดีโอ : https://www.youtube.com/watch?v=VYErLcG6aCQ
ขอบคุณคลิปวีดีโอจาก : DailyNation
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
แม่อุ้มท้องที่มีความเครียด จะส่งผลให้เด็กในท้องมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพ
ไม่ใช่หลอด ไม่ใช่ขวดพลาสติก แต่ขยะที่สร้างปัญหาให้กับท้องทะเลมากที่สุดคือก้นบุหรี่